อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (24) หนังสือสัญจรของพี่หลวง (1)

ขอบคุณภาพจาก ทวิตเตอร์ MTmovie

 

In Books We Trust (24)

หนังสือสัญจรของพี่หลวง (1)

 

เขาอยู่ตรงนั้น ร้านหนังสือของเขาอยู่ตรงนั้น ผู้ชายคนหนึ่ง วัยกลางคน กับกองหนังสือจำนวนมหาศาลที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบแม้ว่ามันจะเป็นเพียงร้านหนังสือริมทาง

ผมจะพบเขาทุกเย็น แม้ว่าใครจะบอกว่าร้านหนังสือของเขาเปิดตั้งแต่ยามบ่ายก็ตามที แม้ว่าแขนข้างหนึ่งของเขาจะเสียไป แต่นั่นหาได้กระทบกระเทือนถึงรอยยิ้มบนใบหน้าและมิตรภาพของเขาที่มีต่อทุกคนที่หยุดยืน หยุดชม ไปจนถึงเลือกซื้อหาหนังสือจากร้านของเขา

ชายผู้เรียกตนเองว่าพี่หลวง

หลวง ในภาษาใต้ที่หมายถึงชายผู้ผ่านการบวชเรียนมา

ยามเย็นบริเวณท่าช้างนั้นถือได้ว่าเป็นพื้นที่อันพลุกพล่าน นั่นข้าราชการกรมศิลปากรที่เกษียณแล้วแวะมาลงชื่อในเอกสารรับบำนาญและยืนคุยกับเพื่อนเก่าพลางพลิกหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ของโขนละครในเขมรไปมาระหว่างบทสนทนา

นั่นข้าราชการทหารชั้นเรือโทจากกองทัพเรือเพิ่งเลิกงาน เขาฆ่าเวลาก่อนกลับบ้านด้วยรถสวัสดิการโดยการมองหาหนังสือว่าด้วยพระเครื่อง

ช่วงนี้เขากำลังหมกมุ่นกับการเก็บพระเนื้อชินเข้าคลังพระส่วนตัวและคิดว่าควรหาความรู้เพิ่มก่อนที่จะตกไปเป็นเหยื่อในสนามพระ

นั่นนักศึกษาด้านนิติศาสตร์สองคน ขจัดความน่าเบื่อหน่ายจากชั้นเรียนกฎหมายด้วยการมองหาหนังสืออื่นที่จะทำให้เขาเพลิดเพลิน

เขาเก็บประมวลคำพิพากษาใส่ลงกระเป๋าก่อนจะนั่งยองๆ ลงกับพื้นเพื่อค้นหาหนังสือการ์ตูนเล่มเล็กที่คาดว่าน่าจะทำให้เขาหัวเราะหัวใคร่ได้บ้าง

นั่นพนักงานออฟฟิศที่กำลังจะต่อเรือเข้าคลองบางกอกน้อย เธอพลิกนิตยสารผู้หญิงในกองดูอย่างสนใจ นิตยสารเหล่านั้นอาจเก่าเกินเวลาไปปีสองปี แต่ภาพแฟชั่นในนั้นยังไม่ล้าสมัย ซื้อสักสามสี่เล่มยังไม่ถึงใบแดงหนึ่งใบ

ร้านหนังสือริมทางแห่งนี้นอกจากรอยยิ้มอันเปี่ยมมิตรภาพของผู้เป็นเจ้าของแล้ว ราคายังถือว่าเป็นมิตรภาพอย่างยิ่ง

 

ผมเป็นลูกค้าประจำของร้านหนังสือริมทางแห่งนี้ ภายหลังจากการซื้อหนังสืองานศพของนักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังท่านหนึ่ง การทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเก่าแก่บริเวณนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้พบกับความจริงว่าตลาดนัดแบบสัญจรริมทางเดินจากท่าพระจันทร์จรดท่าช้างและเลยไปจนถึงท่าเตียนในวันที่แม่ค้าพ่อค้ามาพบกันโดยมิได้นัดหมายนั้นน่าสนใจมาก

คุณอาจพบได้ตั้งแต่ผักปลอดสารพิษจากชาวสวนริมคลองที่นำมาขายในราคาที่อยากให้ทุกคนได้กิน ตำลึงยอดงามๆ ลูกมะแว้งสีแดงเข้ม ไปจนถึงมะนาวแป้นพื้นบ้านที่บีบน้ำออกมาแล้วกลิ่นมะนาวหอมติดมือก็มี

พระบูชาตั้งแต่พระทรงเครื่องยันรูปเคารพของเทพต่างๆ ก็มี

ของเล่นเด็กนานาชนิดที่ถูกแถมจากร้านค้าบ้าง เป็นของเก่าบ้างก็มี

มีดพร้าที่ตีจากเหล็กชั้นดีก็มี เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถ้าไม่รังเกียจเสียหน่อยว่าเอาไปซ่อมแซมก็ใช้การได้ดีก็มี เครื่องมือช่างตั้งแต่สิ่ว ไปถึงกบไฟ้ฟาก็มี รากไม้สมุนไพรตั้งแต่กวาวเครือยันกิ่งข่อยก็มี

ร้านค้าเหล่านั้นมักหมุนเวียนไปตามสะดวก ที่ทางริมถนนมีมากมาย หากไม่หวังจะได้ที่ทางที่มีร่มเงาแล้วละก็ไม่มีใครที่หอบหิ้วสินค้ามาจะผิดหวังที่เขาไม่มีพื้นที่สำหรับอวดสินค้าของตน

 

แต่ร้านหนังสือริมทางท่าช้างนั้นอยู่ที่เดิม ไม่เคยเปลี่ยน

ร้านแห่งนั้นกินพื้นที่น่าจะไม่เกินสามถึงสี่เมตร มันตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องจากป้ายรถเมล์ใหญ่บริเวณท่าช้างเล็กน้อย

หากจะมุ่งหน้าลงท่าช้างไปต่อเรือทั้งข้ามฟากและเรือด่วน ร้านจะอยู่ซ้ายมือของทางเดิน

แต่ถ้าหากขึ้นจากฝั่งมาเพื่อต่อรถประจำทางตัวร้านจะอยู่ขวามือ

ผมเรียกร้านนี้แต่แรกในใจว่าร้านหนังสือท่าช้าง แต่ภายหลังจากได้ยินเจ้าของร้านเรียกตัวเขาเองว่า “พี่หลวง”

คำเรียกนั้นก็เปลี่ยนใหม่เป็นร้านหนังสือ “พี่หลวง”

เหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 พาผมออกห่างจากเมืองหลวงและออกห่างจากพี่หลวงด้วย

หลายครั้งที่เดินผ่านร้านหนังสือเก่าในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมอดนึกถึงเจ้าของร้านผู้อารีผู้นั้นไม่ได้

เขาจะรู้สึกอย่างไรบ้างถ้าพบว่าหนังสือหลายเล่มที่เขาวางขายในราคามิตรภาพนั้นได้กลายเป็นหนังสือหายาก ราคาสูงลิบลิ่วไปเสียแล้ว

เขาเป็นอย่างไรบ้างในช่วงน้ำหลากครั้งนั้น แน่นอนว่าบริเวณท่าช้างและใกล้เคียงย่อมไม่อาจเป็นพื้นที่ค้าขายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

และเขายังคงขายหนังสืออยู่หรือไม่?

งานกิจการขายหนังสือนั้นเป็นงานที่แปลก ในด้านหนึ่งมันดูไม่ให้กำไรหรือยอดขายที่พึงพอใจนัก

แต่เจ้าของร้านหนังสือแทบทุกคนที่ผมได้พบไม่ว่าจะเป็นเจี๊ยบ-วิทยากร โสวัตร แห่งร้านฟิลาเดลเฟีย คุณชาญแห่งร้านหนังสือ ชาญ โค พวกเขาเหล่านั้นดูจะข้ามพ้นความรู้สึกเปรียบเทียบอาชีพของตนเองกับอาชีพของคนอื่นไปแล้ว

อย่างน้อยความสุขที่ฉายฉานบนใบหน้าของพวกเขาในขณะที่ทำความสะอาดหนังสือ จัดหนังสือขึ้นชั้นหรือพูดคุยกับผู้คนที่แวะเวียนมาชมหนังสือภายในร้านก็บอกผมเช่นนั้น

 

ปี 2557 หลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผมลงมางานเสวนาทางวิชาการที่โรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะรัตนโกสินทร์

หลังงานเสวนาผมเดินเล่นไปตามคลองหลอดจนทะลุตรอกสาเกไปถึงบริเวณตึกแถวแห่งหนึ่ง

แผงหนังสือหน้าร้านทำให้อดใจในการเข้าไปเยี่ยมชมไม่ได้ ข้างในห้องเพียงห้องเดียวในอาคารแห่งนั้นอัดแน่นไปด้วยหนังสือแทบทุกจุด

ชายที่กำลังทำความสะอาดหนังสือตะโกนเชื้อเชิญให้เลือกดูหนังสือตามสะดวก เขายังอยู่ในเครื่องแบบแบบเดิม เสื้อแขนยาวและกางเกงชาวเล

“พี่หลวง” นั่นเอง

การพบกันในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการแนะนำตัว ผมบอกพี่หลวงว่าผมติดตามซื้อหนังสือของร้านพี่หลวงมาแต่ร้านริมทางที่ท่าช้าง

เป็นดังคาด เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นทำให้ชายเจ้าของร้านผู้นี้จำต้องแสวงหาสถานที่ใหม่

ในที่สุด “ผมก็มีร้านหนังสือเป็นหลักแหล่ง ขายริมทางมาหลายปี ได้มีโอกาสเอาหนังสือขึ้นชั้นเสียที”

บทสนทนาของเราในวันนั้นนอกจากการถามไถ่ในสารทุกข์สุกดิบยังเต็มไปด้วยความดีใจไม่ต่างจากการเจอมิตรสหายเก่า

พี่หลวงมอบเบอร์โทรศัพท์และบอกว่าต้องการหนังสือเล่มใดก็แจ้งมาสู่เขาได้

ผมกล่าวลาเขาในขณะที่เขากลับสู่ชั้นหนังสือเพื่อจัดการกองหนังสือมหึมาภายในร้านเหล่านั้น

 

กาลเวลาผ่านไป ร้านหนังสือพี่หลวงสัญจรตนเองอีกครั้ง

แต่ในครานี้การตามหาร้านของเขาไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป โลกของโซเชียลมีเดียกวาดต้อนทุกคนเข้าไปในนั้นรวมถึงร้านหนังสือของพี่หลวงด้วย

พี่หลวงเปิดเพจใน facebook สำหรับการขายหนังสือ เขาย้ายร้านอีกครั้งไปอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อเสือไม่ไกลจากร้านเดิมเท่าใดนัก

และในหลายวันก่อนช่วงเวลาที่โรคห่ากินปอดตามภาษาชาวบ้านท้องถิ่นกำลังออกอาละวาดนั้น ผมกดโทรศัพท์หาพี่หลวงเพื่อถามถึงกิจการร้านหนังสือในยามนี้ก่อนที่บทสนทนาจะเรื่อยยาวไปจนถึงชีวิตแห่งหนังสือของเขา

“พี่หลวงเริ่มสนใจหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่?”

“ก็ตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กสักประถมศึกษาสาม พี่หลวงโดนรถชน ทางบ้านก็ไปบนบานว่าถ้าหายดีจะให้บวช ก็หาย หลังจากนั้นก็บวชเป็นเณร พอเข้าไปเป็นเณรในวัดแถวบ้านมันก็มีหนังสือให้อ่านเยอะ แต่จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็อ่านมาบ้างแล้ว น้าชายคนหนึ่งที่บ้านแกรับนิตยสารพวกจักรวาลปืนอะไรทำนองนี้ เราก็อ่านเรื่องบู๊บ้างตามแก แต่พอเราไปบวชเข้าวัด เรากลับไปชอบงานลึกลับอย่างงานของคุณจินตวีร์ วิวัธน์ นี่พี่หลวงชอบมาก อ่านติดงอมแงมไม่ว่าจะเป็นอมฤตาลัย หรือเรื่องอื่นๆ”

“หนังสือพวกนี้มันหาอ่านง่ายหรือครับ พี่หลวงบวชที่ไหน?”

“พี่หลวงบวชที่ชุมพร แต่พื้นเพเดิมทั้งพ่อและแม่เป็นคนแม่กลองนะ คนสมุทรสงคราม คือมันมีร้านหนังสือเช่าใกล้วัดไง เรามีเงินเก็บบ้าง หนังสือเช่าก็ไม่แพง เณรเล็กๆ เขาก็ไม่คิดเงินมาก เราก็เช่าอ่าน อ่านเป็นวันๆ เลย ตอนหลังเปลี่ยนจากเรื่องลึกลับสยองขวัญมาอ่านงานของทมยันตี พวกงานโรแมนติก สะเทือนใจ นี่อ่านแล้วแบบเข้าไปในอารมณ์มากๆ คู่กรรมเอย พี่เลี้ยงเอย พวกนี้อ่านหมด เรียกว่างานแนวนี้ของทมยันตีน่าจะอ่านครบทุกเล่ม”

“พอชอบอ่านหนังสือ พี่หลวงเลยคิดจะมีร้านหนังสือเลยหรือไม่?”

“ไม่ครับ คือบวชเรียนไปเรื่อยจนจบบาลีประโยคสาม ทางวัดก็ส่งเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นมาพักอยู่ที่คณะสี่ วัดมหาธาตุ ตรงท่าพระจันทร์ ก็เรียนไปเรื่อยๆ จนสอบเข้ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ พี่หลวงเรียนคณะสังคมศาสตร์ เอกสังคมวิทยา ตอนนั้นยิ่งอ่านหนังสือหนัก เพราะใกล้สนามหลวงใช่ไหม ร้านหนังสือตรงแม่พระธรณีก็ยังมี เสาร์-อาทิตย์พี่หลวงไปซื้อหนังสือตลอด ตอนนั้นรู้ตัวแล้วว่าชอบงานประเภทที่อ่านแล้วสะเทือนใจ อย่างพวกบทกลอนนี่ชอบมาก ไม่ว่าจะเป็นงานของอาจารย์ประยอม ซอมทอง อาจารย์อุชเชนี อีกคนที่ชอบมากคือ เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร คนนี้เขียนกลอนเพราะมาก พี่หลวงไปอ่านเจอที่หอสมุดแห่งชาติ ก็ตามงานเขามาตลอด จนบัดนี้หนังสือไม่อยู่แล้ว พี่หลวงก็ยังจำกลอนเขาได้”

“พี่ขอท่องนะ”

 

“ดาวปลิดดวงร่วงพรากจากชายฟ้า

กระไอหมอกน้ำตาแต้มฟ้าหม่น

โอ้บทเพลงสวาทหมายเริ่มคลายมนต์

ดอกรักหล่นจากกิ่งทิ้งต้นไป

ถ้าหัวใจฉันแข็งแกร่งกว่านี้ฉันคงมีแรงคะนึงถึงวันใหม่

วันซึ่งแดดอบอุ่นละมุนละไมและคืนซึ่งดอกไม้ร่ายระบำ

แต่นี่ฉันคือผู้อยู่กับทุกข์มีความสุขอยู่กับฝันอันชื่นฉ่ำ

มีแผลรักสลักใจให้จดจำและชอกช้ำทุกเยื่อเนื้อหัวใจ

เมื่อปิดม่านละครรักฉากสุดท้าย

วิมานทลายชีวันเริ่มหวั่นไหว

นกขมิ้นเหลืองอ่อนเร่ร่อนไป

หลงอยู่ในป่ากรรมตามลำพัง

ไร้กรงแก้วคอนทองของความรัก

เหมือนสิ้นหลักพักใจไร้ความหวัง

ลอยตามลมจมตามดินสิ้นกำลัง

หมดแรงรักคืนรังมาชื่นชม

ความเอ๋ยความหลัง

จะกักขังเก็บไว้ด้วยใจข่ม

กับรอยยิ้มที่ทาบทับดับรอยตรม

น้อมรับคมความทุกข์ที่รุกเร้า

ดาวปลิดดวงร่วงพรากจากชายฟ้า

เสน่หาเปลี่ยนประกายฉายแววเศร้า

ความรักที่ตราการประจานเงา

เมื่อกลีบรักโรยเฉาร่วงเคล้าดิน”

“บทนี้ชื่อ ‘ฝันฝาด’ ของเฉลิมศักดิ์ ศิลาพร ครับ”