100 ปีแห่งความยืดหยุ่นคงทน ของพรรคอมมิวนิสต์จีน (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

100 ปีแห่งความยืดหยุ่นคงทน

ของพรรคอมมิวนิสต์จีน (จบ)

 

เมื่อลองแลไปข้างหน้าในโอกาสวันคล้ายวันแซยิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี ก็ชวนให้สงสัยว่าเลขาฯ พรรคและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะดำรงตนอยู่ในอำนาจไปได้อีกถึงเมื่อใด? และ “ความกลัว” มีบทบาทมากน้อยแค่ไหนเพียงไรในระบอบอำนาจนิยมของจีนทุกวันนี้?

ต่อคำถามดังกล่าวสองศาสตราจารย์หญิงผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาสังกัดสถาบันภาษาและอารยธรรมบูรพาแห่งชาติ (l’Inalco : http://www.inalco.fr/en/welcome-inalco-website ) ในฝรั่งเศสมองเช่นนี้คือ :

เสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ & แคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาในฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา

แคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง เตือนให้ระลึกว่าในประเทศที่มีผู้อยู่อาศัยกว่า 1.4 พันล้านคนนั้น มนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญขั้นมูลฐาน เพราะทุกคนอยู่ในสายตาของคนอื่นตลอดเวลา ปัจเจกชนชาวจีนไม่ได้มีแนวคิดเรื่องอัตวินิจฉัยหรือความเป็นอิสระ เพราะก่อนอื่นพวกเขาเป็นสมาชิกสังคม และแต่ไหนแต่ไรมาก็มีการควบคุมทางสังคมอยู่แล้ว จริงอยู่ที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ยิ่งเสริมสร้างการควบคุมทางสังคมให้แข็งแรงขึ้น แต่คนจีนก็ไม่ได้มองว่ากล้องวงจรปิดเหล่านี้เข้ามายุ่มย่ามละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวของพวกเขามากเกินไปกว่าการควบคุมทางสังคมที่พวกเขายอมสยบรับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในบริบทเช่นนี้ ครอบครัวเป็นเหมือนซอกหลืบที่ช่วยปัดป้องการล่วงล้ำแทรกแซงเกินการของรัฐ-พรรคเอาไว้บ้าง

แต่กระนั้นช่องว่างในการขยับตัวเคลื่อนไหวของปัจเจกชนชาวจีนก็ยังคงจำกัดจำเขี่ยยิ่งอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

ข้างเสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ ก็ชี้ว่าถึงแม้สีจิ้นผิงจะลอกเลียนวิธีการต่างๆ ของเหมาเจ๋อตงและใช้สูตรสำเร็จมาสาธยายอุดมการณ์ของตน ทว่ากลวิธีดังกล่าวเหล่านี้ก็เป็นเรื่องคลาสสิคและมุ่งหมายข่มขู่ผู้คนให้หวาดกลัวอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ประชากรจีนจึงเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น ตามสื่อสังคมออนไลน์ของจีน เราจึงได้เห็นผู้คนไชโยโห่รับการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยกล่าวซ้ำข้อมูลข่าวสารของทางการเป็นนกแก้วนกขุนทอง มันเหมือนกระบวนการที่ระเบียบอำนาจส่งสัญญาณบอกกล่าวกับประชากร การพร่ำประกาศความสำเร็จต่างๆ นานาของรัฐ-พรรคก็ดีหรือการแพร่ภาพมหรสพตระการตาทางทีวีก็ดีย่อมทำให้คนส่วนใหญ่ที่สุดเพลิดเพลินเจริญใจไปวันๆ

ทว่าสำหรับคนส่วนที่มีพลวัตสูงสุดในสังคมแล้ว สถานการณ์นับว่าลำบากยากเย็นและการริเริ่มกระทำการต่างๆ ก็หดลดทอนลง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ขัดแย้งโดยตรงกับวัตถุประสงค์ที่ทางการกล่าวอ้างเอง นั่นคือต้องการให้จีนกลายเป็นตัวแบบแก่โลกทั้งโลก

 

แคเธอรีน แคปเดอวิลล์-เจิ้ง ตั้งข้อสังเกตว่าระเบียบอำนาจของจีนดูจะไม่ชอบธรรมเอาเลย ดังจะเห็นได้ว่าความไม่พอใจที่อัดอั้นแฝงอยู่จะระเบิดเปิดออกทุกครั้งที่ระบอบปกครองผ่อนคลายการควบคุมลง มันแสดงว่าระบอบที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของประชากรซึ่งมีขนาดเขื่องส่วนหนึ่ง คนมากหลายปรารถนาให้วิถีแรงเหวี่ยงที่เริ่มต้นขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 21 หรือช่วงหนึ่งหลังจากนั้นดำเนินต่อไปผ่านการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดเสรี แต่ทุกวันนี้การณ์กลับกลายเป็นว่าจีนเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งในโลก ไม่มีพื้นที่ให้ฝ่ายค้านในประเทศเลยและคนจีนก็ไม่พึงพอใจ

เสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ เสริมว่าเราได้เห็นประจักษ์ถึงการกดขี่ข่มเหงชนกลุ่มน้อยทั้งหลายในจีนหนักหน่วงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเจตจำนงที่ใคร่จะควบคุมสังคมจีนอย่างเบ็ดเสร็จนั่นเอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ยอมรับอุดมการณ์แตกต่างใดๆ รวมทั้งศาสนาด้วย

ประเด็นศาสนาทำให้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งไม่เป็นที่ไว้วางใจต่อให้คนเหล่านี้เป็นชาวพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามาจากชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมหรือทิเบต

คนชั้นกลางจีนขยายตัวเติบใหญ่ออกไปโดยมีอยู่ราว 500-600 ล้านคน ทว่าประชากรจีนก็อาจมีความใฝ่ฝันทะยานอยากที่ไม่ใช่เรื่องนิยมวัตถุอยู่ด้วย เศรษฐกิจ 70% เป็นของภาคเอกชนโดยรัฐยังคงควบคุมภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ไว้แต่ไม่รวมภาคส่วนอื่นๆ พวกผู้ประกอบการธุรกิจไม่ได้ชอบอกชอบใจนโยบายของรัฐบาลไปเสียทั้งหมด การกดขี่ปราบปรามของรัฐ-พรรคดำเนินไปอย่างไร้ความปรานี ไม่มีพื้นที่เปิดเสรีให้อีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นในด้านมหรสพ สื่อมวลชนหรืองานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมก็ตาม

แต่กระนั้น สิบปีผ่านไปภายใต้สีจิ้นผิง ผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ก็ยังคงแสดงออกกันอยู่ ยังมีการส่งเสียงออกมาถึงแม้แน่ล่ะว่าจะไม่ได้มุ่งต่อต้านสีจิ้นผิงโดยตรง ท่านผู้นำหมายเลขหนึ่งของจีนซึ่งจัดวางโครงการให้ตนเองดำรงคงมั่นอยู่ในอำนาจนั้นจะอายุถึง 70 ปีในเวลาไม่ช้านาน ท่านจะยังครองอำนาจต่อไปได้อีกสักกี่น้ำเชียว?

https://www.bangkokpost.com/world/2135327/the-scholar-speaking-out-on-chinas-crackdown-on-intellectuals

ทั้งที่ยากและเสี่ยง แต่ปัญญาชนจีนผู้ไม่ยอมถูกสยบด้วยความกลัวทางจริยธรรมและหัดหันมา “อยู่เป็น” ภายใต้สีจิ้นผิงก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นระยะไม่ขาดสาย อาทิ วู่เชียง อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์วัย 50 ปีผู้ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยชิงหวาในปักกิ่งเมื่อปี 2015 ค่าที่ไปวิจัยภาคสนามการเคลื่อนไหวประท้วง Occupy Central ที่ฮ่องกงมา

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว AFP ในโอกาสใกล้วันคล้ายวันแซยิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบร้อยปีว่า :

“(กรณีผมถูกไล่ออก) นี้ส่งกระแสความแตกตื่นไปทั่วชิงหวา ผมถูกตัดขาดและพวกเขาคิดว่าผมเป็นตัวแสบ แต่ทางมหาวิทยาลัยให้เหตุผลทางเทคนิคที่คลุมเครือมาแทนว่าทำไมไล่ผมออก นับแต่นั้นมาผมจึงยังพูดกับสื่อต่างชาติต่อไปและยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยชิงหวาในคดีกฎหมายแรงงานต้นปีนี้ด้วย

“ผมยังคงประท้วงชิงหวาที่ไล่ผมออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไป เหมือนที่ผมยังคงกำลังต่อต้านด้วยความ คิดอ่านและคำวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของผม มันสำคัญยิ่งนะครับที่จะต้องไม่เลิกพูดออกมา คุณต้องวิจารณ์การเมืองและสังคมเพราะนั่นเป็นวิธีที่คุณมีส่วนร่วมกับมัน

“สิบปีก่อน แทบจะพูดได้ว่าทุกสุดสัปดาห์ในทุกมุมเมืองเคยมีเสวนาสโมสรและการประชุมเยอะแยะมากมายในปักกิ่ง แต่เดี๋ยวนี้ ฉากอันมหัศจรรย์ที่ว่านี้ไม่ดำรงอยู่อีกแล้ว… ทุกคนจะพูดอยู่เรื่องเดียวเวลาเราพบกันนั่นคือมีใครถูกอุ้มหายหรือคุมขังเมื่อเร็วๆ นี้มั่ง ทุกคนเฝ้าแต่รอดูว่าใครจะเป็นรายถัดไป

“งานแซยิดครบรอบวันก่อตั้งพรรคเป็นการเฉลิมฉลองเรื่องที่ว่าจีนหลีกเลี่ยงชะตากรรมของการล่มสลายหลังสงครามเย็นแบบเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์อื่นอีกมากหลายในยุโรปตะวันออกรวมทั้งสหภาพโซเวียตประสบพบเจอมาได้อย่างไรเสียเป็นส่วนใหญ่

“พรรคคอมมิวนิสต์จีนอยากผูกพันกระสันรัดการอยู่รอดของตัวเองเข้ากับประเทศจีนและประชาชนจีนอย่างลึกซึ้งเพื่อสถาปนาสำนึกความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ให้แก่พวกผู้ปกครองในอนาคตนั่นแหละ

“นักวิชาการจีนนั้นยากไร้ทางปัญญาค่าที่การติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติและประเด็นหัวข้อวิจัยต้องผ่านความเห็นชอบของทางการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเขาโดดเดี่ยวจากประชาคมสากลและติดแหง็กอยู่แต่กับการทะเลาะเบาะแว้งจุกจิกภายใน

“พวกคนงานได้ความหมายและการประจักษ์ตัวตนผ่านการทำงานฉันใด คำวิจารณ์ของผมก็คือแรงงานของผมและต้นตอแห่งการบรรลุมโนธรรมของผมฉันนั้น

“คนรุ่นผมได้ประสบการเปิดกว้างทางการเมืองและเสรีภาพช่วงสั้นๆ ตอนกรณีประท้วงเทียนอันเหมินปี 1989…

“แค่คุณได้ลิ้มรสเสรีภาพครั้งเดียวเท่านั้น คุณจะไม่มีทางละเลิกมันได้เลย”