ผี พราหมณ์ พุทธ : พลังของการสาปแช่ง / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ขอบคุณภาพจาก ข่าวสด

 

 

พลังของการสาปแช่ง

 

วันหนึ่งผมนั่งคุยกับภรรยาซึ่งไล่ดูข่าวสารบ้านเมืองทางออนไลน์ เธอรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ในฟีดทางเฟซบุ๊กของผมก็เต็มไปด้วยผู้คนที่อึดอัดคับแค้นใจไม่แพ้กัน

ผมเห็นข่าวคนตายรายวันตามท้องถนน เห็นแม่ที่ต้องตายเพราะโควิดในขณะที่ลูกเล็กๆ สองคนต้องกำพร้า ถูกทิ้งให้อยู่เบื้องหลังอย่างมืดมนว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ก็รู้สึกเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

เพื่อนๆ หลายคนได้ใช้ความใจเย็นแสดงให้เห็นด้วยเหตุผลและหลักฐานว่า ความผิดพลาดจากการบริหารของรัฐมีอะไรบ้าง และนำเรามาสู่จุดนี้ได้อย่างไร

กระนั้น บางคนก็ปิดตาปิดใจไม่รับฟังอยู่ท่าเดียว

เราถูกผลักให้แทบจะสูญสิ้นความเป็นคนกันแล้วในเวลานี้ เราตายอย่างเดียวดาย ไร้ศักดิ์ศรี ในขณะคนที่เหลืออยู่ก็หวาดกลัว ระแวงกันและกัน ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกทุกข์ใจ

หลายคนจึงเริ่ม “สาปแช่ง” ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ ให้วิบัติล่มจมหรือมีชีวิตที่ทุกข์ทรมาน ในฐานะเป็น “ฆาตกร” ที่ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายมากมายด้วยความไม่เอาไหน และความโลภโมโทสันหรือจะหลงผิดก็ตามแต่

โรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่หากผู้ปกครองรัฐใดแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกๆ วิถีทาง ด้วยความรอบคอบและสติปัญญาที่มี ใครจะไปว่าท่านได้ แต่หากเป็นไปในทางตรงข้ามจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้อย่างไร

ผมจึงมาคิดเรื่องการสาปแช่งอีกครั้ง อันที่จริงแม้จะพอรู้เรื่องพิธีกรรมบ้าง แต่เรื่องแช่งชักหักกระดูกนี่ผมไม่ถนัดและทำไม่เป็นเอาเลย ไม่ใช่เพราะเป็นสายขาวหรือเพราะอยู่ฝ่ายดีอะไรแบบนั้นนะครับ แต่เพราะไม่ได้สนใจมาตั้งแต่แรกมากกว่า

 

“สาป” มักมีความหมายถึงการใช้อำนาจหรือสัตยาธิษฐานบันดาลให้คนที่โดนสาปเป็นไปต่างๆ นานา ส่วน “แช่ง” ที่มักใช้คู่กันหมายถึงความมุ่งมาดที่จะให้อีกฝ่ายพบกับความวิบัติฉิบหาย โดยจะตั้งสัตยาธิษฐานหรือไม่ก็ได้ แต่ทั้งสองคำล้วนเป็นคำที่มีความหมายไปในทางลบ

ที่จริงการสาปแช่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู มานานแสนนาน

คำว่า “สาป” ตรงกับคำสันสกฤตว่า “ศาป” มีความหมายถึงการแช่งชักหรือคำสบถ มีมาตั้งแต่ยุคพระเวทเมื่อสามพันปีถึงสี่พันปีที่แล้ว ปรากฏเรื่องการสาปในวรรณกรรมพระเวท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอถรวเวทหรืออาถรรพเวท

อถรวเวท เป็นพระเวทสุดท้ายที่น่าจะได้รับอิทธิพลของความเชื่อพื้นบ้านเข้ามาผสมอยู่มาก ดังนั้น จึงมีเนื้อหาเรื่องการสาปแช่งอยู่มากมายเพราะเป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน และพระเวทนี้เน้นการใช้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะอย่างมากกว่าการขับสวดสรรเสริญเทพเจ้าอย่างพระเวทก่อนหน้า ซึ่งคงเป็นที่มาของประเพณีเรื่องการสาปแช่งในยุคหลัง

ผมเคยอ่านบทแปลไทยของคำสาปแช่งคู่แข่งในอถวรเวทบางบท ก็พบว่าทั้งไพเราะและน่ากลัวครับ เช่น “ข้าแต่พระยม นางคนนี้ถูกกำหนดมาให้เป็นชายาของพระองค์ แต่ก่อนหน้านั้นขอให้นางอยู่แต่ในบ้านของพ่อนาง แม่ของนาง และพี่ชายของนาง” คือสาปแช่งให้ตายนั่นแหละครับ เพราะพระยมคือเทพแห่งความตาย แต่ทว่าก่อนตายก็ขอให้ไม่ได้ออกเรือน คือนั่งอยู่ในบ้านพ่อแม่ของตัวเองไปจนตาย ว่างั้น

การสาปแช่งที่เรารู้จักมักมีที่มาจากวรรณกรรมเทวตำนาน เช่น คัมภีร์ปุราณะ มหาภารตะและรามายณะ มีผู้ไปนับไว้ว่าในรามายณะมีเรื่องราวของการสาปอยู่ทั้งสิ้น 62 ครั้ง ในมหาภารตะมีมากถึง 150 ครั้ง ในปุราณะต่างๆ มีมากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน

พลังของการสาปแช่งนั้นน่ากลัวมาก เพราะใครๆ ก็โดนสาปได้ ไม่เว้นแม้แต่เทพเจ้า ดังนั้น พระอินทร์ หรือแม้แต่พระเป็นเจ้าอย่างพระวิษณุ พระราม พระกฤษณะ ล้วนเคยโดนสาป เรียกว่าบนสวรรค์ใครๆ ล้วนเคยโดนสาปมาแล้วทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สาปจะเป็นใครก็ได้ พระฤๅษี คนธรรมดา ผู้หญิง เด็ก คนแก่ ฯลฯ คนเหล่านี้สาปได้ตั้งแต่กษัตริย์ยันเทวดาเลยนะครับ เพราะการสาปไม่ได้เกิดจากอำนาจพิเศษอย่างอำนาจของเทวดา แต่เป็นพลังที่ใครๆ ก็มี

หลักของการสาปที่ทำให้ใครๆ ก็สามารถสาปได้และมีผลตามความเชื่อมีดังนี้ครับ

 

อย่างแรก ผู้ที่โดนสาปมักจะต้องละเมิดศีลธรรม หรือกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีความโหดร้ายรุนแรงอยู่เสมอ ซึ่งมักไปกระทำย่ำยีคนอื่น เมื่ออีกฝ่ายต่อสู้ไม่ได้ก็มักสาปแช่งด้วยความโกรธแค้น

อย่างที่สอง ผู้ที่สาปมักต้องอ้างสัตยาธิษฐาน คืออ้างความจริง ความสัตย์ซื่อ ความจริงใจ ตบะที่ตนได้บำเพ็ญ กฎของศีลธรรมหรืออะไรพวกนั้นก่อน หรืออย่างน้อยก็อ้างถึงผลร้ายที่ตนได้รับจากการกระทำของอีกฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อได้รับอย่างอยุติธรรม คำสาปนั้นก็จะมีผล

อย่างที่สาม ในเชิงพิธีกรรม เทวตำนานแสดงให้เห็นว่าการสาปนั้นเรียบง่ายมากๆ ใช้เพียงการเทน้ำและการออกวาจาว่าสาปแช่งอย่างไรเท่านั้น น้ำเป็นสัญลักษณ์ เป็นสื่อกลาง แต่พลังที่สำคัญสุดของการสาปมาจากเจตจำนง และพลังของ “คำพูด” ที่เปล่งออกมา

สี่ พลังเบื้องหลังที่สำคัญที่สุดของการสาปคือ “ความโกรธแค้น” ยิ่งโกรธแค้นมากเท่าใด คำสาปก็จะส่งผลเร็วและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

ในทางวรรณกรรม การสาปมิได้สะท้อนเพียงความโกรธแค้นของตัวละครเท่านั้น แต่ยังสะท้อนพลังทางศีลธรรมของจักรวาล เพราะในตอนแรก ฝ่ายร้ายดูเหมือนจะมีอำนาจไปตลอดกาล เพราะความยุติธรรมยังไม่ปรากฏโดยง่าย การสาปได้ทำให้ความยุติธรรมปรากฏขึ้นในท้ายที่สุด

เป็นเครื่องเตือนใจว่า จะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่พ้นอำนาจของความสัตย์จริงไปได้

ผู้สาปในวรรณกรรมอินเดียจึงมักเป็นตัวละครที่มีสถานะด้อยกว่า เช่น มนุษย์ สตรี หรือฤๅษีก็สามารถสาปเทพเจ้าได้ อันที่จริงดูเหมือน “ฤๅษีทุรวาส” จะครองตำแหน่งนักสาปอันดับหนึ่งในเทวตำนานอินเดีย เพราะสาปใครต่อใครไว้เยอะ

อันที่จริงแล้วการสาปแช่งเป็นวัฒนธรรมทั่วโลก ฝรั่งก็มี จีนก็มี อันนี้ผมแยกจากการใช้กฤตยาคุณหรือไสยศาสตร์ในการแช่งชักนะครับ เพราะอันนั้นคนละอย่างกัน

แต่เรื่องนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะดูเหมือนทางบ้านเราจะถนัดอะไรแบบนี้มากกว่าสาป

 

มีคำถามที่ว่า สรุปแล้วการสาปเป็นเพียงเรื่องในตำนานหรือมันมีผลจริงๆ หากเราทำลงไป อันนี้ผมคงตอบไม่ได้ แต่ผมก็เห็นว่าพลังของเจตจำนงอย่าไปดูถูกเชียว คุณมีคนเยอะๆ มุ่งร้ายสาปแช่ง มีคนโกรธแค้นมากเข้าๆ ส่วนมากก็มักเป็นไปตามนั้นแหละครับ จะพบความสุขความเจริญก็ยาก มีชีวิตก็อยู่ด้วยความกังวลและหวาดระแวง เพราะไม่รู้ใครประสงค์อย่างไรกับตน

ผมจึงอยากขอเตือนเลยนะครับ ขอเตือนผู้มีอำนาจทั้งหลาย ในขณะที่ท่านกินอิ่มหลับนอนอยู่สบาย แบ่งปันผลประโยชน์และอำนาจกันให้วุ่น ทอดทิ้งให้คนเดือดร้อนนอนตายข้างถนนอยู่แบบนี้ คนก็จะสาปแช่งท่านมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้คนก็สาปแช่งกันมากแล้ว ฝ่ายคนมีความรู้เขาก็เริ่มทำกฤตยาคุณด้วยวิธีต่างๆ ตามที่เขาเรียนมาใส่ท่านแล้ว

ตอนนี้มันจึงไม่ได้เป็นแค่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียวแล้วครับ เพราะคนที่ทำเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ก็มาก เขาโกรธ เขาแค้น แล้วเขาก็อยู่ฝั่งถูกกดขี่ เขาก็อ้างความสัตย์และท่านก็ละเมิดความสัตย์เสียจริงๆ ด้วย

เรียกว่าครบทุกองค์ประกอบที่กล่าวมานั่นแหละครับ

 

ผมลืมบอกไปว่าเมื่อโดนสาปนี่ไม่ใช่จะถอนกันง่ายๆ นะครับ ขนาดเทพยังไม่รอด ดังนั้น คุณจะไปทำพิธีอะไร จะสวดมนต์บทไหน ให้ใครสวดให้ จะเอาของดีวิเศษอะไรมากันก็กันไม่ได้หรอก เว้นเสียแต่จะ “ชดใช้” ให้เขา และบรรเทาพลังไฟโกรธในใจของเขาให้หายไปเท่านั้น คำสาปก็พอจะทุเลาผลได้ แต่ก็ยังแก้ไม่ได้อยู่ดี

เขาถึงว่าอย่าโดนสาปเป็นดี

ไฟของความโกรธนี่ร้อนกว่าไฟไหนในโลก เพราะเผาไปถึงลูกหลานวงศ์วาน แม้ตายไปก็ยังถูกคนด่าถ่มถุย เสื่อมเกียรติไปตราบที่ยังมีคนจดจำและภาษายังมีอยู่

ผมจะไม่ชักชวนให้สาปแช่งกันดอกครับ เพราะไม่ใช่วิสัยผม แต่ผมคงไม่ห้ามและคงห้ามไม่ได้แล้ว บทความนี้จะว่าผมเขียนชี้โพรงให้กระรอก (สำหรับคนอยากสาปแช่ง) ก็ได้ หรือจะเป็นอนุสติแก่ผู้มีอำนาจก็ได้

ถ้าท่านโชคดีที่ได้อ่านและคิดได้นะครับ