วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : คลื่นโควิดระลอกสามถึงชนบทไทย

คนไทยก็เหมือนชาติเพื่อนบ้านบางชาติในอาเซียน ที่โทษว่าโควิดระลอกสามรุนแรงเพราะรัฐบาลไทยไม่ห้ามการเดินทางในช่วงสงกรานต์ ซึ่งตรงกับรัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซียไม่ห้ามการเดินทางระหว่างเทศกาลฮารีรายาซึ่งปีนี้ตรงกับวันสงกรานต์โดยบังเอิญ

ผมไม่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นในมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าการเดินทางในช่วงสงกรานต์ไม่ได้อธิบายการระบาดระลอกสามของไทยได้ดีนัก เนื่องจากหลังสงกรานต์ การระบาดก็ยังคงวนอยู่แถวกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นก็เป็นสามสี่จังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดอื่น ๆ มีช่วงที่ปลอดภัยเป็นระยะ ๆ

แต่ ณ เวลานี้ ผมคาดว่าคลื่นโควิดระลอกสามที่ส่งออกจากกรุงเทพ ฯ ไปยังชนบท น่าทำให้เกิดอาจจะระบาดได้อย่างรุนแรง ที่เดาอย่างนั้นก็เพราะการระบาดที่กรุงเทพ ฯ รอบนี้รุนแรงมาก

ปีกลายนี้ระบบสาธารณสุขมูลฐานของชนบทไทยจะเป็นจุดดูดซับโควิดไว้ได้ดี ผู้ติดเชื้อจากสนามมวยและผับในกรุงเทพ ฯ ที่เดินทางกลับชนบทโดนตะครุบตัวได้หมด ทำให้การระบาดจนสะเด็ดน้ำ แต่คราวนี้เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และมีคนติดเชื้อเข้าไปในชุมชนชนบทจำนวนมาก การรับมือไม่ง่ายทีเดียว

รัฐบาลคงไม่อยากให้โรคระบาดทั่วประเทศ แต่ต้องจัดส่งผู้ติดเชื้อออกจากกรุงเทพ ฯ ด้วยความจำเป็นเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในเมืองหลวงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนโรงพยาบาลทุกระดับรับไม่ไหว แม้กระทั่งวัดวาอารามก็ทำท่าจะรับงานฌาปนกิจไม่ไหวเหมือนกัน การส่งออกอาจจะช่วยชะลอปัญหาเหล่านี้ในเมืองหลวง ซื้อเวลาให้วัคซีนมาถึง ถ้าฉีดวัคซีนได้มากพอ เราหวังว่า เมืองหลวงมีการระบาดน้อยลง โรงพยาบาลพอขยับตัวได้ เมืองหลวงอาจจะพอช่วยจังหวัดอื่นของประเทศได้ แต่ตอนนี้ น่าจะต้องการความช่วยเหลือให้รับผู้ป่วยออกไปก่อน

ต่างจังหวัดได้รับนโยบายมาก็ต้องปฏิบัติตาม เตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ หวังว่าจะรับมือได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงก่อนที่รัฐบาลจะประกาศส่งออกผู้ติดเชื้อ จังหวัดไม่น้อยก็มีผู้ติดเชื้อของตนมากอยู่แล้ว เพียงแต่โรงพยาบาลยังไม่แน่นขนัดเหมือนในเมืองหลวง

ยุทธศาสตร์การรับมือโควิดของต่างจังหวัดในระลอกนี้น่าจะต่างจากเมื่อปีกลาย เพราะตอนนี้จำนวนผู้ป่วยจะมากกว่าหลายเท่า และ เชื้อสายพันธุ์ใหม่ก็แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม นอกจากนี้ดูเหมือนว่าทางต่างจังหวัดจะจำลองการตั้งรับคล้าย ๆ กับการตั้งรับในเมืองหลวง คือ หาโรงพยาบาลสนาม เตรียมคัดแยกผู้ติดเชื้อออกไว้ในสถานที่บางจุดในชุมชนที่เรียกว่า community isolation และซักซ้อมการแยกผู้ป่วยไม่หนักแยกตัวให้อยู่กับบ้าน (home isolation)

แล้วชนบทอันเข้มแข็งของเราอันเป็นปราการด่านสุดท้ายจะยันรับสึนามิโควิดไหวไหม ถ้าไม่ไหว เราจะแตกทัพเหมือนระบบสาธารณสุขในเมืองหลวงไหม

ผมเกรงว่าปัจจัยหลายอย่างจะทำให้เราต้องเป็นอย่างนั้น

เราไม่มีกำลังตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อในชนบท เราก็จึงต้องใช้ antigen test kit หรือ ATK คัดกรองหาผู้ติดเชื้อเพื่อจะให้เขาแยกออกจากคนอื่นมาอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ไห้ หรือ แยกตัวเองอยู่กับบ้านถ้าไม่มีอาการรุนแรง

แต่เจ้า ATK ที่ว่านี่มีปัญหา เพราะมันตรวจได้ไม่ไวพอ เหมือนสุนัขดมกินยาเสพติดได้ไม่ดีก็ต้องปล่อยให้ยาเสพติดผ่านด่านตรวจได้

การตรวจสอบคุณาพของ ATK โดยทีมสาธารณสุขหลาย ๆ เขตหรือจังหวัด รายงานผลว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อซึ่งตรวจพบเชื้อโดยวิธี RT-PCR ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานทองคำนั้น ATK ตรวจแล้วให้ผลบวกเพียงไม่ถึงครึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ติดเชื้อโดยตรวจด้วย ATK ไม่พบคงจะเดินกันว่อนในชนบท แพร่เชื้อเดลต้าออกไปอย่างมหาศาล

เทียบกับการคัดกรองผู้ป่วยที่ กทม. เมื่อเดือนที่แล้ว ทุกรายผ่านการตรวจด้วย RT-PCR มาตรฐานทองคำทั้งนั้น มาตรฐาน ATK เป็นทองเค ไม่ใช่ทองคำ มีเนื้อทองไม่ถึงครึ่ง น่าจะทำให้ชนบทบาดเจ็บได้รุนแรงมากกว่าที่เมืองหลวงเจ็บมาแล้ว

เราแนะนำให้คนที่ตรวจไม่พบเชื้อด้วย ATK กลับมาตรวจซ้ำภายใน 2-3 วัน ระหว่างนั้นเขาจะแพร่เชื้อได้เท่าไหร่เราไม่รู้ และตรวจซ้ำครั้งต่อไปคงใช้ ATK อีก ก็จะได้ผลลบลวงอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้

ผมคิดว่าตามต่างจังหวัด ตราบใดที่ยังสอบสวนโรคไหว อย่าเพิ่งใช้ ATK จะดีกว่า ทนกัดฟันใช้ RT-PCR จนไม่ไหวแล้วจริง ๆ ค่อยว่ากัน

สภาพที่ไม่ไหว คือ มีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกว่าที่จะสอบสวนได้ สภาพอย่างนั้นก็ต้องล็อคดาวน์ลูกเดียว

ล็อคดาวน์แล้ว คนไข้ก็ยังมากจนล้นโรงพยาบาล เหมือนอย่าง กทม. ถ้าจะตรวจด้วย RT-PCR ล้วน ๆ ก็ไม่มีกำลังทั้งค่าตรวจและไม่มีวัสดุอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญมากพอ เพื่อผลทางจิตวิทยา (ไม่ใช่ระบาดวิทยา) อาจจะต้องแจก ATK ไปให้ชาวบ้านใช้

แต่ทั้งเราและชาวบ้านอย่าไปเชื่อผลลบของ ATK เลย ถ้าตรวจได้ว่าบวก ก็ถือว่าเขาติดเชื้อ เอาสิ่งส่งตรวจนั้นไปยืนยันด้วย RT-PCR ถ้าตรวจ ATK พบว่าเป็นลบ อาจจะต้องถือว่ายังต้องสงสัยอยู่ว่าอาจจะเป็นลบปลอม

ถ้างั้นตรวจไปทำไมล่ะครับ ก็เหมาเอาไว้เลยว่าทุกคนน่าจะมีเชื้ออยู่แล้วไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ผมก็ว่าอย่างนั้นแหละครับ

จะให้ประชากรทุกคนเข้า community isolation ทั้งหมดคงไม่ได้ เอาเป็นว่าเป็น home isolation แบบกลาย ๆ ก็แล้วกัน คือ ทุกคนในทุกบ้าน สวมหน้ากากอนามัย ไม่กินข้าวด้วยกัน แยกกันห่าง ๆ หมด เสมือนหนึ่งทุกคนติดเชื้อ ถ้าไม่มีอาการอะไรก็แล้วไป ถ้ามีอาการค่อยไปหาหมอตรวจ RT-PCR ไปเลย

ความจริงปีกลายนี้ยุโรปและอเมริกาซึ่งมีโควิดระบาดหนักก็ทำแบบนี้ เขาไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะสอบสวนโรค และไม่มีกำลังตรวจคัดกรอง RT-PCR สถานะคล้าย ๆ เราในขณะนี้ เขาจะตรวจ RT-PCR เฉพาะคนที่สงสัยคือมีอาการ แต่ถึงตรวจพบว่ามีเชื้อ ถ้ามีอาการไม่มากก็กลับไปอยู่บ้าน เขาไม่มี community isolation ให้หรอกครับ ทำอย่างนี้กันมาตลอดจนมีวัคซีน พอมีวัคซีนมาถึงก็ฉีดให้คนแก่และผู้มีโรคเรื้อรังก่อน ป้องกันความตาย ไม่ใช่ป้องกันการติดเชื้อ อย่าไปสนใจตัวเลขคนติดเชื้อ ขอให้จำนวนคนป่วยหนักและตายไม่สูงก็พอ

สำหรับชนบทไทย ผมเกรงว่าในที่สุด community isolation ในชนบทอาจจะรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลต้าไม่ไหว เราเน้น home isolation สำหรับทุกคนให้มากที่สุดตั้งแต่ต้นมือ และเอากำลังสติปัญญาของผู้นำมาเน้นการกระจายวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางก่อน และวางแผนช่วยเหลือครัวเรือนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ดีไหม รออีกสองสามเดือนให้วัคซีนของรัฐบาลมาถึงมากพอแล้วทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น ไม่รู้ข้อเสนออย่างนี้เป็นประโยชน์บ้างหรือเปล่า อย่าเพิ่งเชื่อเพียงแต่เอาไปคิดดูก็พอนะครับ