ของดีมีอยู่ : “ความเป็นชาติไทย” กับนักกีฬาทีมชาติ “รุ่นใหม่” / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

โดยส่วนตัว มีความเห็นว่าการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากการแข่งขันเทควันโดของ “เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” นั้นคือความสำเร็จอันเกิดจากความสามารถส่วนบุคคล ผนวกด้วยการทุ่มเททำงานหนักของคณะบุคคลเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ทีมงานผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬาฯ

มากกว่าจะเป็น “ความสำเร็จของชาติ” (ที่ฟังดูเป็นนามธรรมเลื่อนลอย)

แต่สุดท้าย ถ้าเราจำเป็นต้องยึดโยง “น้องเทนนิส” กับ “ชาติไทย” หรือจำเป็นต้องพิจารณา “ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก” ในฐานะบุคลาธิษฐานของ “ความเป็นชาติไทย-ความเป็นไทย” กันจริงๆ

“ชาติไทย” ที่เราเห็น ก็กำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน-เปลี่ยนแปลง อย่างไม่ต้องสงสัย

 

หากที่ผ่านมา “ความเป็นชาติ/ไทย” เคยสำแดงอัตลักษณ์-ความยิ่งใหญ่ ในมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก

“ความเป็นชาติ” ดังกล่าว ก็มักได้รับการเชิดหน้าชูตาด้วยเหล่านักมวยสากลสมัครเล่นและนักยกน้ำหนัก

ถ้าถามต่อว่าบุคคลเหล่านั้นคือใคร?

ก็คงยากจะปฏิเสธว่าบุคคลเหล่านั้นคือคนหนุ่ม-สาวจากฐานรากด่านล่างและขอบนอกๆ ของสังคม ที่ต้องเคี่ยวกรำร่างกายของตนเองอย่างหนักหน่วง เพื่อแปรมันไปเป็นทุน ซึ่งแลกมาด้วยความภาคภูมิใจของ “เพื่อนร่วมชาติ” ความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง (ในรูปของหน้าที่การงานในระบบราชการ โดยเฉพาะกองทัพ) และเงินอัดฉีดก้อนโตจากรัฐ-เอกชน

การมีที่ทางบนแท่นรับเหรียญรางวัลของนักเทควันโดไทยในสังเวียนโอลิมปิก บ่งบอกว่าอะไรบางอย่างกำลังผันแปรไป

ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ซึ่งพอจะรับทราบกันก็คือ โดยเฉลี่ยแล้ว นักกีฬาเทควันโดมักมีพื้นเพภูมิหลังที่ดีกว่านักมวยและนักยกน้ำหนัก กล่าวคือ แม้พวกเขาและเธออาจไม่ได้ร่ำรวย ทว่าส่วนใหญ่ก็ยังมาจากครอบครัวของคนชั้นกลางในสังคม

เป้าหมายเบื้องต้นของนักเทควันโดระดับยุวชน-เยาวชน มิใช่การเล่นกีฬาเพื่อหาเลี้ยงชีพ-หาเลี้ยงครอบครัว เหมือนกับนักมวย-นักยกน้ำหนัก แต่มักเป็นการมุ่งฝึกฝนร่างกายของปัจเจกบุคคล เพื่อให้ตนเองเข้มแข็งไม่ขี้แย เพื่อให้ตนเองแข็งแรงไม่ขี้โรค

เมื่อฝึกฝนและลงแข่งจนชำนาญสนามแล้วนั่นแหละ เป้าประสงค์ของการเล่นเทควันโดจึงจะค่อยๆ ถูกยกระดับสูงขึ้น ตามศักยภาพส่วนบุคคล

ถึงกระนั้นก็ตาม ขณะที่มวยสากลสมัครเล่น-ยกน้ำหนัก คือ “กีฬาสมัครเล่นที่เล่นกันเป็นอาชีพ” หมายความว่านักกีฬามีแนวโน้มจะต้องทุ่มเทชีวิตส่วนใหญ่ของตนเองให้แก่กีฬาเหล่านี้

เทควันโดกลับดูจะเป็นกีฬาที่สงวนรักษา “ความเป็นมือสมัครเล่น” เอาไว้บ้างตามสมควร ดังจะเห็นว่าอย่างน้อยที่สุด นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยก็สามารถจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐระดับนำๆ ของประเทศได้

ฉะนั้น สังคมไทยต้องไม่คิดว่า “เทนนิส” และนักกีฬาแบบเธอ/รุ่นเธอ จะมีทัศนคติในเรื่องต่างๆ ของชีวิต สอดคล้องกับ “ฮีโร่โอลิมปิกรุ่นพี่”

และอย่านึกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “นักกีฬารุ่นใหม่” กับรัฐ จะดำเนินไปเหมือนเดิมเป๊ะๆ เสียทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าความเป็นจริงมีอยู่ว่า “เทนนิส พาณิภัค” คือ ปัจเจกบุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนผ่านของคุณค่าทางสังคมหลากหลายประการ

เธอก็อาจเป็นได้ทั้งตัวแทนของความก้าวหน้า และตัวแสดงที่มิอาจสลัดทิ้งจารีตประเพณีบางอย่างได้โดยเด็ดขาด

เช่น ถึงที่สุดแล้ว นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองโอลิมปิก ผู้จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังเลือกจะรับราชการทหาร (เหตุผลหลักคงเพื่อสวัสดิการที่มั่นคงในอนาคต)

หรือไม่ว่าจะมีมุมมองต่อหลายเรื่องที่อาจก้าวหน้าสักเพียงใด แต่ถึงที่สุด “เทนนิส” ก็ยังเป็นนักกีฬาที่ต้องเคี่ยวกรำบำเพ็ญตนอยู่ในระเบียบวิธีและวิถีชีวิตที่เข้มงวดตึงเครียดกว่าคนปกติธรรมดาทั่วไป ในฐานะความหวังเหรียญทองโอลิมปิก

แน่นอนว่าระเบียบวิธี-วิถีชีวิตแบบนักกีฬาดังกล่าว ย่อมมิได้วางฐานอยู่บนระนาบเดียวกันกับหลักการสิทธิมนุษยชน-ความถูกต้องการเมืองสมัยใหม่ ที่คนรุ่น “เทนนิส” จำนวนมาก พยายามยึดถือและเรียกร้อง

 

“เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” น่าจะเป็นฮีโร่โอลิมปิกคนแรกของประเทศไทย ซึ่งประกาศต่อสาธารณชนอย่างมุ่งมั่นชัดเจนทันทีหลังคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ว่า เธอยังหวังจะลงแข่งขันโอลิมปิกต่อเป็นสมัยที่สาม

ขออวยพรให้ “เทนนิส” ประสบความสำเร็จในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส

เมื่อวันนั้นมาถึง พวกเราคงได้มองเห็น “ชาติไทย” ที่เปลี่ยนแปลงและมีพลวัตยิ่งขึ้นไปอีก ผ่านตัวตนของ “เทนนิส” ตลอดจน “นักกีฬาทีมชาติไทย” รายอื่นๆ