ผศ.พรสันต์ ชี้มาตรการควบคุมสื่อ จำกัดเสรีภาพเกินสมควร เตือนกสทช.- จนท.รัฐระวังทำผิดกฎหมาย

อ.นิติ จุฬาฯ ชี้มาตรการควบคุมสื่อ จำกัดเสรีภาพมากเกินสมควร เตือนกสทช.-เจ้าหน้าที่รัฐ หากดำเนินการ ต้องรับผิดตามกฎหมายด้วย

กรณี เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ใจความว่า มีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ จึงมีมาตรการควบคุมสื่อ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.64 เป็นต้นไป

ต่อเรื่องดังกล่าว ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า เรื่องข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ ที่กำหนดว่า หากสื่อมีการนำเสนอ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้น ผมเห็นว่าเป็นข้อกำหนดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) อย่างชัดเจน

เพราะการให้ดุลพินิจแก่รัฐเป็นผู้ชี้ว่าเนื้อหาใดเป็นเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ฯลฯ นั้น ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนแน่นอน จนอาจนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ “กำหนดเนื้อหาการใช้เสรีภาพของสื่อ” (Content based restriction) ได้ จึงย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมากเกินสมควรแก่เหตุตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้แล้ว

ดังนั้น หากทาง กสทช. รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐใดดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงย่อมต้องรับผิดตามกฎหมายด้วยครับ

อนึ่ง ผมขอถามว่า กรณีการแจ้งยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันของรัฐเป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวด้วยหรือไม่?