วิช่วลคัลเจอร์/โมโนไทป์: ตัวร้อนกับสงครามเย็น (3)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

โมโนไทป์: ตัวร้อนกับสงครามเย็น (3)

ไทยวัฒนาพานิช ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องเรียงอัตโนมัติของบริษัทโมโนไทป์แห่งประเทศอังกฤษในช่วง 2500 ระบบนี้เริ่มราวต้นคริสตศตวรรษที่ 20 และใช้ในโรงพิมพ์ของตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

ที่สำคัญ ไม่มีการออกแบบตัวพิมพ์ไทยมาราว 40 ปีแล้ว บรรดาโรงพิมพ์ต่างๆ ใช้แต่ตัวพิมพ์แบบเก่า ระบบโมโนไทป์หมายความว่าต้องมีการออกแบบตัวพิมพ์ และทำแม่พิมพ์หรือเบ้า (matrix) ใหม่สำหรับอักษรไทย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดมาก และกว่าจะบรรลุผลสำเร็จขั้นแรกก็กินเวลาเป็นปี

ปัจจุบัน โมโนไทป์ยังทำงานด้านตัวพิมพ์ และเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลก็ยิ่งขยายตัว บริษัทมีสาขาในหลายประเทศ ขยายกิจการเข้าไปในจีน ดำเนินธุรกิจกับไมโครซอฟท์ และบริษัทซอฟท์แวร์ใหญ่ๆ ทั่วโลก

โมโนไทป์มีหอจดหมายเหตุหรืออาร์ไคฟ์ซึ่งเก็บผลงานของนักออกแบบตัวพิมพ์มากมาย

เพราะตั้งแต่เริ่มแรก นอกจากผลิตเครื่องหล่อและเรียง ก็เป็นศูนย์กลางของการออกแบบตัวพิมพ์ด้วย

หลายคนที่เคยทำงานที่นี่ล้วนเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับตำนานของวงการ เช่นเอริค กิล ผู้ออกแบบ Gill, สแตนลีย์ มอร์ริสันผู้ออกแบบ Times Roman, เบียร์ทริซ วอร์ด นักเขียนเรื่องตัวพิมพ์ชื่อดัง และคนอื่นๆ อีกมากมาย

ว่ากันว่า ผลงานของกิลชุดเดียว ทำให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางของนักออกแบบและคนรักตัวอักษรทั่วโลก และเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตอล จึงกลายเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญสำหรับนักออกแบบ

ระบบนี้แบ่งเป็นสองขั้นตอน และประกอบด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่สองเครื่อง

เครื่องแรกให้อิน-พุต ทำหน้าที่บันทึกข้อความ เริ่มจากการดีดพิมพ์ด้วยแป้นคีย์บอร์ด จากนั้น เครื่องจะถอดให้เป็นรหัสด้วยการเจาะรูบน paper-tape คล้ายการ์ดเจาะรูของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในสมัยนั้น

จุดเด่นคือมีแป้นอักษรขนาดใหญ่ ซึ่งคล้ายกับเคสตัวพิมพ์ของช่างเรียงในยุคตัวตะกั่ว แบ่งออกเป็นสองแป้น คือ ซ้ายเป็น “ตัวเต็ม” ซึ่งหมายถึงตัวที่ไม่มีสระหรือวรรณยุกต์ และขวาเป็น “ตัวซีก” หรือตัวที่มีสระหรือวรรณยุกต์อยู่บนหรือล่าง

ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่แป้นตัวละตินวางตำแหน่งอักษรเหมือนพิมพ์ดีดทั่วไป แต่แป้นตัวไทยไม่เหมือนเลย

เครื่องที่สองให้เอาต์-พุต ทำหน้าที่สองอย่างคือหล่อและเรียงตัวพิมพ์ โดยเริ่มการอ่านข้อมูลบนแถบกระดาษเจาะรู และใช้ข้อมูลนี้กำหนดการเรียงซึ่งทำพร้อมกับการหล่อ เมื่อเสร็จแล้ว ตัวพิมพ์จะไหลออกมาทีละบรรทัด และจนกระทั่งเต็มหน้า

นอกจากนั้น ยังเกิดจากการหล่อใหม่ทุกครั้งทำให้ไม่หักง่าย อีกทั้งแยกออกจากกันเป็นตัวๆ ทำให้สามารถแก้ไขได้หลังจากที่หล่อเสร็จแล้ว

เบ้าหรือแผ่นโลหะทองเหลืองที่รวมเอาทุกตัวอักษรไว้บนนั้น เป็นหัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้ ส่วนแผนผัง matrix (ซึ่งก็คือช่อง glyph สำหรับตัวดิจิตอล) ก็ชี้ให้เห็นว่า เพื่อแก้ปัญหาสระวรรณยุกต์ โมโนไทป์ภาษาไทยก็ยังดำเนินตามแบบแผนเดิมคือ ใช้ ligature หรือตัวติด

และผลก็คือมีจำนวนอักษรมากเป็นพิเศษหรือเกือบสองชุด

ตัวพิมพ์ชื่อโมโนไทป์ เรียกชื่อตามความหนาของเส้น คือ “กลาง” และ “บาง” ทั้งสองเป็นตัวที่มีเส้นหนาเท่ากัน (monoline) หรือไม่เน้นความหนัก-เบา รวมทั้งมีความสูงตัวพิมพ์ (X-height) มากกว่าเดิม จุดเด่นคือสวยงามและอ่านง่ายกว่าตัวแบบเก่า

การออกแบบตัวพิมพ์ครั้งนั้น “เริ่มใหม่” ทั้งหมด เช่นเริ่มจาก “นับตัว” ซึ่งก็คือค้นหาว่าในการเรียงพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งใช้อักษรแต่ละตัวมาก-น้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เพื่อสรุปว่าตัวไหนถูกใช้มากที่สุดและควรจะวางอักษรบนคีย์บอร์ดอย่างไร จากนั้น จึงทำความเข้าใจกับรูปทรงอักษร อักขรวิธี แล้วจึงหาตำแหน่งที่เหมาะสมของพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์

เอาข้อเด่นของตัวพิมพ์ในอดีตมารวมกัน จะเห็นได้จากการใช้เส้นที่หนาสม่ำเสมอแบบบรัดเล ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหน้านั้น แต่สัณฐานหรือความกว้างยาวของตัวอักษร และช่องไฟต่าง ๆ เอามาจากฝรั่งเศส ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสี่สิบปีก่อนหน้านั้น

รายละเอียดต่างๆ เช่นการดึง “หัวกลาง” ให้ลงมาข้างล่างมากขึ้น และตัว จ. จาน ที่มีเส้นแนวดิ่งสองเส้นซึ่งถ่วงน้ำหนักมาข้างหลังและไม่ให้หัวคะมำไปข้างหน้าจนเกินไป เอามาจากฝรั่งเศส

ในช่วงแรก ไทยวัฒนาพานิช ถึงกับเอาฝรั่งเศสมาทำใหม่ โดยเรียกชื่อว่า “ฝ.ศ.” และตามมาด้วย ตัวหนาหรือ “ฝ.ศ. ดำ”

ถ้ามองว่า การออกแบบคือการแก้ปัญหารูปทรงอักษรที่อยู่บนพื้นที่สองแกน อาจจะแบ่งกระบวนการเป็นสอง คือ

1. แกนนอน สัดส่วนตัวพิมพ์ ระยะห่างระหว่างตัวพิมพ์ และลิเกเจอร์บางตัว

2. แกนตั้ง อันได้แก่ เลดดิ้ง เคิร์นนิ่ง และลิเกเจอร์บางตัว หรือพื้นที่ระหว่างบรรทัด และที่สำคัญ เพื่อการประหยัดในเชิงเศรษฐกิจ มีการบีบ leading หรือ ช่องไฟระหว่างบรรทัด เพื่อบรรจุข้อความต่อหน้าได้มากขึ้น

รวมทั้งแก้ปัญหาอื่นๆ

เช่น จะแบ่งพื้นที่สำหรับวางสระเป็นกี่ระดับ?

ถ้าซ้อนกันสองชั้น จะเยื้องไปข้างหลังได้มากแค่ไหน?

หางของ ช. ช้าง หรือ ป. ปลา ควรจะสูงเท่าไร?

กลางและบางเป็นผลงานของพีระ ต. สุวรรณ เขาสำเร็จการศึกษาวิชาการพิมพ์จาก Liverpool College of Printing ในอังกฤษ และในเวลาต่อมาได้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตของไทยวัฒนาพานิช

ตัวพิมพ์เป็นที่ยอมรับในแง่คุณภาพและสวยงาม การปรากฏโฉมในหนังสือและนิตยสารจำนวนมาก มีส่วนทำให้สำนักพิมพ์มีชื่อเสียงมากขึ้น

นอกจากนั้น การวางสระและวรรณยุกต์ของตัวพิมพ์ชุดนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานของภาษาไทยยุคต่อมา