ธุรกิจอ่วม สั่งปิดร้านอาหารในห้าง-ห้ามนั่งกิน กระทบแรงงานกว่าแสน ยอดขายวูบ 90%

‘ธุรกิจร้านอาหาร’ อ่วม สั่งปิดร้านอาหารในห้าง-ห้ามนั่งกินที่ร้าน กระทบแรงงานกว่าแสนคน ฉุดยอดขายวูบ 90%

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 5 จังหวัด ที่ได้สั่งห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้าน รวมถึงสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ทำให้นับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ยอดขายอาหารหายไปกว่า 90% เนื่องจากตามปกติแล้วยอดขายอาหารส่วนใหญ่จะมาจากการนั่งทานที่ร้านเป็นหลัก แม้ขณะนี้จะสามารถซื้ออาหารกลับบ้านได้ แต่ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการบางรายยังเข้าถึงช่องทางขายแบบออนไลน์ได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก หรือร้านอาหารริมถนน (สตรีทฟู๊ด) ส่วนร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไป

ขณะนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงในระดับวิกฤตแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา ต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ในภาวะที่มีโรคระบาด โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ และค่าจ้างพนักงาน ทำให้การที่รัฐบาลสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อคนทำงานกว่า 1 แสนคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว คาดว่าเป็นผู้ประกอบการเพียง 10% ส่วนอีกกว่า 90% เป็นพนักงานลูกจ้าง โดยขณะนี้ประเมินว่า เม็ดเงินที่หายไปในธุรกิจร้านอาหาร มากกว่าปี 2563 แน่นอน เพราะกำลังซื้อที่หดตัวอยู่แล้ว รวมถึงมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาขายอาหารมากขึ้นด้วย

“ไม่เชื่อว่าการสั่งปิดร้านอาหารในห้าง รวมถึงไม่ให้นั่งทานอาหารที่ร้าน จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ลดลงได้ เนื่องจากผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ ยังไม่เห็นแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อจะลดลง อีกทั้งยังเห็นตัวเลขพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย เพราะมาตรการที่ออกมา เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการให้คนอยู่บ้านมากที่สุด ไม่เดินทางเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ความจริงคือ คนยังต้องใช้ชีวิต และทำมาหากิน จึงมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถหยุดทำงาน หรือทำงานที่บ้านได้ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีโอกาสได้คุยกัน แพทย์และพยาบาลสะท้อนเสียงมาว่า ที่ผ่านมาพึ่งพาอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นที่ร้านอาหารในห้างเป็นประจำ เพราะสะดวกและมั่นใจในคุณภาพ เนื่องจากต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อดูแลคนอื่นต่อไป ทำให้การปิดร้านอาหารในห้าง ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตพอสมควร” นางฐนิวรรณ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ต้องการคือ ความชัดเจนจากรัฐบาล ในการกำหนดมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และลดปัญหาการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ในระยะสั้น อยากให้รัฐบาลผ่อนคลายเปิดร้านอาหารในห้างได้ เพราะเมื่อเปิดร้านได้ ผู้ประกอบการมีรายได้เข้ามา ก็มีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงานต่อ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นลุกลามเป็นในหลายกลุ่มมาก รวมถึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสั่งซื้อข้าวกล่องในร้านอาหาร เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

ทั้งผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่อาการไม่รุนแรงมาก ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ศูนย์พักคอย หรือโรงพยาบาลสนามต่างๆ คนงานที่ต้องกักตัวในแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้แล้ว ยังช่วยลดภาระให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย