เครื่องเคียงข้างจอ : โอลิมปิก 2020 / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์
ขอบคุณภาพจาก Reuters โดย Kim Kyung-Hoon

 

 

โอลิมปิก 2020

 

เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วครับสำหรับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวโลก คือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งครั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพของโอลิมปิก 2020 ที่ไพล่มาจัดเอาในปี 2021 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างที่ทราบกันดี

การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ จึงน่าสนใจว่าญี่ปุ่นจะประคองการจัดการแข่งขันให้ดำเนินไปจนลุล่วง โดยเกิดความเสียหายจากโรคระบาดให้น้อยที่สุดได้อย่างไร นับว่าเป็นความท้าทายของเจ้าภาพอย่างยิ่ง

หากใครได้ติดตามข่าวสารของโอลิมปิกครั้งนี้ จะทราบว่าเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นนั้นได้วางมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทั้งก่อนและระหว่างการแข่งขันไว้อย่างละเอียดและเข้มข้นยิ่ง

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความจริงจัง ละเอียดลออ และคุณภาพคับแก้วอยู่แล้ว

มาตรการที่วางนี้จึงรอบคอบถี่ถ้วน และมีวิธีปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนอย่างมาก

 

นับแต่การเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นของเหล่านักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตมาแสดง และจะต้องตรวจเชื้อโควิด 96 และ 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ

เมื่อถึงสนามบินก็จะมีขั้นตอนการตรวจเชื้ออย่างละเอียดอีกครั้ง หากพบใครมีเชื้อจะถูกส่งกลับทันที และทุกคนต้องโหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อการติดตามตัวได้ตลอด 24 ช.ม.

ในระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่น จะอยู่ได้ในพื้นที่ที่จัดให้เป็นการเฉพาะเท่านั้น ห้ามออกไปเพ่นพ่านภายนอก ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามาถึงแล้วจะไปซ้อมได้เลย เพราะต้องกักตัวให้แน่ใจในระยะเวลากำหนดก่อนจึงจะทำการฝึกซ้อมได้

ในสถานที่พัก ทุกพื้นที่จะป้องกันการแพร่เชื้อด้วยการเว้นระยะห่าง มีฉากใสกั้นระหว่างการทำกิจกรรม และจำกัดจำนวนในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะห้องอาหาร ห้องฟิตเนส และพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ

นอกจากนั้น จะมีการตรวจเชื้อทุกวัน หากตรวจแล้วไม่มีการแจ้งผลกลับไปก็แสดงว่าเป็นลบ แต่ถ้าผลเป็นบวกจึงจะแจ้งกลับพร้อมแยกตัวออกมารักษาในพื้นที่เฉพาะไม่ให้ปะปนกับคนอื่นๆ

เชื่อว่ามาตรการจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเมื่องวดสู่การแข่งขันจริง ซึ่งในวันที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางแผง ก็ได้ผ่านพิธีเปิด และเข้าสู่การแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงน่าจับตาอย่างยิ่งว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

นับว่าเป็นการจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกม ที่จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของมหกรรมอันยิ่งใหญ่นี้อย่างแน่นอน

 

สําหรับนักกีฬาเองแล้ว ลองมาคิดดูว่าถ้าเราเป็นพวกเขาคงจะต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจอย่างยิ่งยวด แค่การฝ่าฟันเพื่อให้ได้โควต้าเข้าแข่งขันก็หนักหนาสาหัสเลือดตาแทบกระเด็นแล้ว และหลายคนก็อกหักพลาดโอกาสไปก็มี

สำหรับคนที่ได้สิทธิ์แล้ว ก่อนจะเดินทางมาก็ทั้งต้องฝึกฝนทักษะกีฬาของตนอย่างเข้มข้น พร้อมๆ กับป้องกันไม่ให้ตนติดโควิด เพราะนั่นคือการทิ้งโอกาสที่ได้รับมาให้หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเดินทางมาถึงก็ยังไม่แน่ว่าจะปลอดภัย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่านักกีฬาบางประเทศพบว่าติดเชื้อโควิด จนอดร่วมการแข่งขันไปก็มี

ลำพังแค่การฝึกซ้อมเพื่อให้ชินกับสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม สภาพสนามก็หนักหนาแล้ว ยังต้องคอยระวังการติดเชื้ออีกด้วย ถ้าใจไม่นิ่งพอ คงลำบากแน่นอน

นักกีฬาวินด์เซิร์ฟสาวของไทยบอกว่า ที่ออกมาซ้อมให้ชินกับคลื่นและลมและอุณหภูมิก็หนักแล้ว ยังต้องเครียดทุกวันว่าตนจะติดโควิดอีกไหม จึงต้องมีจิตใจที่อดทนเข้มแข็งอย่างมากจึงจะประคองให้ผ่านไปให้ได้

 

ถึงตอนนี้ที่การแพร่ระบาดยังรุนแรงไปทั่วโลกด้วยสายพันธุ์เดลต้า ประเทศญี่ปุ่นเองก็ต้องเผชิญไม่แพ้ชาติอื่นเช่นกัน จึงไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในทุกสนามแข่ง ซึ่งเสียดายอย่างยิ่งต่อประสบการณ์ของนักกีฬาที่จะได้สัมผัสกับเสียงเชียร์ และบรรยากาศของกีฬาเต็มรูปแบบ สำหรับแฟนๆ กีฬาชาวญี่ปุ่นเองก็พลาดโอกาสได้สัมผัสเกมอันยิ่งใหญ่ระดับโลกด้วย ทั้งที่จัดอยู่ในบ้านแท้ๆ

ไม่แต่ผู้ชมเท่านั้นที่พลาดโอกาส สำหรับนักกีฬาแล้ว “โอลิมปิก” คือจุดสุดยอดของชีวิตนักกีฬาทุกคน นักกีฬาอาชีพหลายคนเคยคว้าถ้วยรางวัลในการแข่งขันอื่นๆ มาแล้วมากมาย แต่ก็ยังถวิลหาเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกให้ได้มาครอบครองสักครั้งหนึ่งในชีวิต

แต่ในโอลิมปิกครั้งนี้ นักกีฬาหลายคนยอมทิ้งความฝันของตนเอง เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด อย่างไรก็ดี ยังมีบางคนยินดีที่จะเสี่ยงด้วยการเดินทางมาแข่งขัน เช่น โนวัก โยโควิช นักเทนนิสชาวเซอร์เบีย ที่ไม่ยอมทิ้งโอกาสนี้ไป

 

นอกจากการรับมือกับโควิดของโอลิมปิกครั้งนี้แล้ว สิ่งที่เจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการจัดการแข่งขันครั้งนี้ก็มีเบื้องหลังและที่มาที่ไปที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

เริ่มจากโลโก้ที่นำเอารูปทรงเรขาคณิต โดยนำศิลปะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น คือลายตารางหมากรุกที่เรียกว่า “อิชิมัตสุ โมโย” ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยเอโดะเมื่อราว 300-400 ปีที่แล้วมาใช้ และที่เป็นสี่เหลี่ยมหลายรูปทรงก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศสภาพ ที่เท่าเทียมและอยู่ร่วมกันได้

เหรียญรางวัลนั้นได้รับการออกแบบให้ผลิตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ ทั้งนี้ เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของโลก โดยได้เปิดให้ประชาชนได้ร่วมกันบริจาคขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วด้วย เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก

ปรากฏว่าสามารถรวบรวมสิ่งของที่ประชาชนบริจาคมาให้ได้จำนวนไม่น้อยเลย คือ ได้โทรศัพท์มือถือถึง 6.2 ล้านเครื่อง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร่วม 79,000 ตัน ซึ่งสามารถสกัดเป็นทองได้ถึง 32 กิโลกรัม, เป็นเงิน 4,100 กิโลกรัม และได้ทองแดงอีก 2,700 กิโลกรัม ไว้ใช้ทำเหรียญทั้งสามแบบ

ไม่เพียงแต่เหรียญรางวัลเท่านั้น สำหรับชุดแข่งอย่างเป็นทางการของนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นในการแข่งขันครั้งนี้ ก็ทำมาจากเสื้อเก่าที่เปิดรับบริจาคจากทั่วประเทศเช่นกัน โดยเสื้อผ้ายี่ห้อ Asics ที่ได้รับสิทธิ์ในการผลิตชุดแข่งขันให้เจ้าภาพ เผยว่าพวกเขาตั้งเป้าจะรวบรวมเสื้อผ้าให้ได้อย่างน้อย 30,000 ตัว เพื่อมารีไซเคิลเป็นชุดของนักกีฬาที่ใช้ในพิธีเปิดและใช้ในการแข่งขันด้วย

สำหรับแท่นโพเดี้ยมรับรางวัลที่ต้องใช้มากกว่า 100 แท่น ได้ออกแบบให้ผลิตจากขวดพลาสติก ซึ่งคาดว่าต้องรวบรวมขวดพลาสติกให้ได้มากถึง 45 ตันทีเดียว นั่นก็เป็นการนำขยะรีไซเคิลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยลดการใช้วัสดุอื่นลงได้จำนวนมหาศาล

 

สําหรับเตียงนอนและเครื่องนอนที่ใช้ในหมู่บ้านนักกีฬาที่สร้างขึ้นมาใหม่มีจำนวนถึง 18,000 ชุด ความพิเศษ คือวัสดุทุกอย่างที่ใช้ล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงเตียงทำมาจากกระดาษที่รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกรัม ยืดขยายได้มากที่สุดถึง 210 เซนติเมตร เพื่อรองรับร่างกายของนักกีฬาตะวันตก

ซึ่งหลังจบการแข่งขันแล้ว โครงเตียงทั้ง 18,000 ชุด จะถูกนำไปรีไซเคิลกลับไปเป็นกระดาษสำหรับอุตสาหกรรมอื่นต่อไป

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งในมหกรรมที่มีคนมาชุมนุมกันมาก และมีการก่อสร้างมากมายเช่นนี้ ย่อมเป็นการซ้ำเติมภาวะโลกร้อนที่ว่า

ในเรื่องนี้ญี่ปุ่นจึงมีแผนที่จะนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างเต็มตัว โดยจะใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการแข่งขันและในหมู่บ้านนักกีฬา

ไม่เท่านั้น ยังได้สร้างถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนถนน และเคลือบด้วยยาง ทำให้ถนนแห่งนี้สามารถใช้ในการสัญจรได้จริง และยังผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในการแข่งขันได้อีกด้วย

ยอมรับเลยครับว่า ญี่ปุ่นนี้ช่างเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตัวพ่อเลยทีเดียว

 

ดังนั้น การติดตามชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ นอกจากจะชมความสามารถของนักกีฬาทั้งของไทยและของชาติต่างๆ แล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่คือความคิดที่แยบยลและน่าสรรเสริญต่อความพยายามดูแลโลกใบนี้ให้สะอาด ปลอดมลพิษ และลดขยะ ซึ่งเป็นผลพวงตามมาของการจัดมหกรรมกีฬาของโลกในทุกครั้งที่ผ่านมา

ได้แต่สะท้อนใจว่า ผู้นำและประชาชนชาวญี่ปุ่นเขามีสำนึกและสติปัญญาระดับนี้กันแล้ว ส่วนผู้นำและประชาชนบางส่วนของประเทศเรา ยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ไขปัญหาแบบเอาตัวให้รอด ที่ทำท่าว่าจะไม่รอดเอาเสียด้วย เพราะขาดสำนึกและความรับผิดชอบร่วมเป็นประเด็นสำคัญนั่นเอง

มาตามดูและเชียร์ให้การจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ผ่านพ้นไปให้ได้กันนะครับ