หลังโควิด โลกจะเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตหนัก! โลกร้อนมากขึ้น ผลพวงจากนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ขอบคุณภาพ ด๊อกเตอร์โสมญา สวามินาธาน จาก Reuters World

คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม : วิกฤตซ้อนวิกฤต โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเรายามนี้เป็นทุกข์แสนสาหัส ทุกข์จากโรคระบาด ทุกข์จากวิกฤตเศรษฐกิจ

ชีวิตเหมือนลอยเคว้งคว้าง ไร้อนาคต ไร้ความหวัง ตื่นขึ้นมาเพียงแค่สูดลมหายใจได้เต็มปอด ไม่มีไข้ขึ้น น้ำมูกไม่ไหล ไม่มีไอแค็กๆ ก็ดีใจหาย

แต่เมื่อมานึกอีกทีว่า จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร ก็เกิดเป็นทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนเพราะตกงาน

แต่ละวันมีข่าวคนป่วยด้วยโควิด-19 จำนวนพุ่งไม่หยุด ล่าสุดระหว่างเขียนต้นฉบับไต่ระดับ 1 หมื่นคน คนตายเข้าสู่หลักร้อย เครียดเพราะมีหนี้ ไม่มีงาน ทำมาหากินขายของไม่ได้เป็นหมื่นเป็นแสนคน

ปลายเดือนเมษายน ช่วงอินเดียเจอโควิดสายพันธุ์ใหม่อาละวาด ซึ่งเวลานั้นองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ตั้งชื่อว่าสายพันธุ์เดลต้า ชาวอินเดียติดเชื้อสายพันธุ์นี้ป่วยวันละเป็นแสนคน ตายเป็นพัน

ผมได้เขียนเตือนไว้ล่วงหน้าให้รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เร่งจัดหาวัคซีน หามาตรการป้องกันระวังการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น

ไม่เช่นนั้นสถานการณ์อาจเลวร้ายถลำลึกเหมือน “อินเดีย”

 

มาวันนี้ เราได้เห็นวิกฤต “โควิด-19” อย่างชัดแจ้ง

เชื้อโรคกระจายสู่ชุมชนในวงกว้าง คนป่วยทะลักล้นโรงพยาบาล บรรดาแพทย์ พยาบาลทำงานหนักหน่วงสาหัสสากรรจ์ อีกจำนวนมากรอเตียงจนสิ้นลมคาบ้าน

วิกฤต “โควิด-19” ของประเทศไทย ทำสถิติอัตราการป่วยตายติดอันตับต้นๆ ของโลกไปแล้ว

ความน่าเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้หมดสิ้น ยิ่งย้อนกลับไปดูข้อมูลว่าด้วย “วัคซีน” ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และชุดบริหารจัดการโควิด ให้ข้อมูลผิดพลาดบิดเบือนประชาชนมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการอวดอ้างเชิดชู “แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นวัคซีนหลัก หรือคุยโม้ว่า ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 มากที่สุดในทวีปเอเชีย ไม่แพ้ใครในโลกนี้

เพราะเอาเข้าจริงทั้งประเทศไทยมีวัคซีนแค่หยิบมือ ทุกคนพากันแย่งชิง ใครไม่มีเส้นสายถึงได้จองฉีดวัคซีนก็โดนเลื่อนเททิ้งระเนระนาด ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้คิวอีก เปรียบเทียบกับประเทศอื่น เขามีวัคซีนให้เลือกหลายยี่ห้อ ฉีดในทุกพื้นที่ แม้กระทั่งคนนั่งในรถยนต์ก็มีให้บริการ

ดังนั้น การบริหารในภาวะวิกฤตของ พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวได้ว่าพาประเทศไปสู่ความวินาศสันตะโร สมควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งผู้นำ

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังหน้าหนาหน้าทนอยากอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกก็ให้สารภาพผิดต่อประชาชนทั้งประเทศแล้วจงก้มหน้าก้มตาทำงานอย่าให้พลาดอีก

เพราะคาดว่าอีกไม่นานเชื้อเดลต้า พลัส ซึ่งกลายพันธุ์ในอินเดียมีฤทธิ์ร้ายระบาดไปในหลายประเทศ จ่อคิวเข้ามาขย้ำซ้ำในไทย

ก็ได้แต่หวังจากนี้ไป รัฐบาลไปควานหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด ป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำรอยอินเดียอีกระลอก

แล้วเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ท้าทายรออยู่ข้างหน้า ตามคำทำนายของด๊อกเตอร์โสมญา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลกที่ว่า เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เรื่อยๆ ไปอีก 5 ปีจนกว่าพัฒนาวัคซีนที่มีฤทธิ์เดชยับยั้งการแพร่ระบาดได้ผลชะงัด

 

พูดถึงวิกฤตวัคซีนแล้ว ขอวกเข้าเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมกันดีกว่า

“วิวิด อีโคโนมิกส์” องค์กรให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ จัดทำรายงานชิ้นล่าสุดโดยดึงข้อมูลการจัดทำแพ็กเกจงบประมาณเพื่อกู้วิกฤต “โควิด-19” ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า งบฯ ที่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจัดสรรไปยังหน่วยงานต่างๆ มีผลกระทบในทางลบด้านการฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รายงานชิ้นนี้บอกว่า เงินงบประมาณของแต่ละประเทศที่ใช้ไปในการกู้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดรวมๆ กันแล้วเป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่มีเพียง 170,000 ล้านดอลลาร์ที่นำมาจัดสรรให้กับโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ประเทศทั่วโลก พากันจัดแพ็กเกจงบประมาณเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังโดนเชื้อไวรัสถล่มมากมายก่ายกอง

ส่วนใหญ่อัดฉีดให้กับการแพทย์สาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้คนที่ตกงาน เอาไปอุ้มบริษัทท่องเที่ยว โรงแรม สายการบินที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนโงหัวไม่ขึ้น หรือไม่ก็จัดสรรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร การก่อสร้างถนนหนทาง

โครงการเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หากนำแพ็กเกจทั้งหมดมากองรวมกันมีประมาณ 480,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้มีราว 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ไปกับแพ็กเกจกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อน

ที่เหลืออีก 180,000 ล้านดอลลาร์ใช้ในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการขนส่งด้วยระบบคาร์บอนต่ำ

หลายแพ็กเพจทุ่มไปใช้กับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในขณะที่ต้นทุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าลดลงอย่างรวดเร็ว

“เจฟฟรีย์ เบเยอร์” นักเศรษฐศาสตร์ของวิวิด อีโคโนมิกส์ แกนนำการเขียนรายงานระบุว่า เมื่อปีที่แล้วหลายรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมาคราวนี้กลับพลิกคำสัญญาอย่างหน้าตาเฉย

เบเยอร์มองว่า ในอนาคตทั่วโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น

 

รายงานของวิวิดฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จัดงบประมาณเพื่อกู้วิกฤต “โควิด” สนับสนุนโครงการกระตุ้นให้เกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับอังกฤษ มีบางโครงการ เช่น พลังงานลมชายฝั่ง หรือโครงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณต่ำๆ

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน หรืออินเดีย มุ่งเน้นสนับสนุนโครงการที่เป็นอันตรายต่อสภาวะภูมิอากาศหรือธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน รัสเซียอยู่ในกลุ่มนี้แต่เป็นลำดับท้ายๆ

ไบรอัน โอคัลลากัน นักวิจัยโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ พบว่า มีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนที่เป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมราว 560 ตัวอย่าง แต่ยังไม่แน่ว่าโครงการจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะเชื้อโควิดกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลอาจเปลี่ยนใจเอาเงินไปทุ่มให้กับการแก้วิกฤตในด้านอื่นๆ เช่น จัดซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางวิกฤต รัฐบาลอาจจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลให้มีมาตรฐานสูงขึ้นทั้งในด้านสุขอนามัยหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน หรืออาจทุ่มงบฯ ด้านพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ให้กับโรงเรียน สถาบันการศึกษา

ยังสงสัยอยู่ว่าเสียงเรียกร้องของนักวิจัยอย่างนี้จะมีรัฐบาลประเทศไหนทำตามมั่ง แต่มองภาพอนาคตข้างหน้า เมื่อวิกฤตโควิด-19 จางหายไป ชาวโลกคงเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมกันต่อ