การเรียนการสอนแบบออนไลน์ : ปรัชญากับการศึกษาและเทคโนโลยี/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

พิพัฒน์ สุยะ

ภาควิชาปรัชญา

คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

การเรียนการสอนแบบออนไลน์

: ปรัชญากับการศึกษาและเทคโนโลยี

 

โรงเรียนระดับประถมและมัธยมเปิดเทอมไปแล้ว มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะทยอยเปิดเทอมตามมา

ถ้าเป็นเมื่อสองปีก่อนภาพความวุ่นวายของผู้ปกครองที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบุตรหลาน เสียงร้องไห้กระจองอแงของเด็กเล็กที่ต้องไปโรงเรียนวันแรก ใบหน้ายิ้มแย้มระคนตื่นเต้นของนักศึกษาปีหนึ่งที่กำลังจะก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นโลกใบใหม่ของเขา คงเป็นเรื่องปกติและเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา

แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ สถานการณ์โควิดที่มิได้บรรเทาเบาบางลงแต่อย่างใด ทำให้ภาพดังกล่าวเป็นได้แค่ความคิดถึงของหลายคน

และแน่นอนว่าสิ่งใหม่ที่เข้ามาแทนและเข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตของทั้งผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนครูบาอาจารย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นก็คือการเรียนการสอนแบบออนไลน์

 

การเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือขัดตาทัพใช้แก้ไขปัญหาการศึกษาในสถานการณ์โควิดของไทยอย่างจำเป็น

เนื่องจากเราไม่เคยลงทุนศึกษาความเป็นไปได้ ปัญหาและอุปสรรคตลอดจนการออกแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้เหมาะสมกับสังคมไทยในระดับโครงสร้างหรือนโยบายของรัฐบาลมาก่อน

ก็ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนออนไลน์จึงพร้อมใจกันบ่นก่นด่าถึงปัญหาต่างๆ ที่ตามมา

เพราะการเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนสื่อกลางจากห้องเรียนมาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น

แต่ยังเป็นการเปลี่ยนระดับรากฐานขององค์ประกอบพื้นฐานทางการศึกษารวมถึงรูปแบบของวิถีชีวิตเลยด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ บางคนอาจจะมองไม่เห็นปัญหาก็มักจะคิดว่าการเรียนการสอนออนไลน์นั้นทำได้เหมือนการสอนในห้องเรียนปกติทุกอย่าง ต้องการถ่ายทอดความรู้อะไร ก็ถ่ายทอดได้เหมือนเดิม ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง

ดูเหมือนว่าปัญหาของการเรียนการสอนออนไลน์จึงอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการแต่เพียงอย่างเดียว

บางครั้งอาจจะรวมถึงปัญหาระดับปรัชญาเลยด้วยซ้ำ

 

โดยทั่วไปเมื่อเรากล่าวถึงองค์ประกอบของการศึกษาก็จะไม่ต่างจากการสื่อสารโดยทั่วไปนัก

กล่าวคือ จะประกอบไปด้วยสามส่วนคือ ผู้ส่งสาร (ครูหรือผู้สอน) สาร (หลักสูตรหรือเนื้อหาความรู้วิชาต่างๆ) และผู้รับสาร (ผู้เรียน)

แน่นอนว่าบทบาทของทั้งสามอย่างก็ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายหรืออุดมคติของการศึกษาด้วย

เช่น ทัศนะข้างต้นที่ว่าการเรียนการสอนออนไลน์นั้นทำได้เหมือนการสอนในห้องเรียนปกติทุกอย่าง ต้องการถ่ายทอดความรู้อะไรก็สามารถส่งผ่านได้เหมือนเดิม ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องนั้น

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเขามองความรู้เป็นกลุ่มก้อนบางอย่างที่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์ ความรู้ลักษณะนี้จึงเป็นความรู้ที่ถูกต้องแน่นอนตายตัว เป็นที่ยอมรับของผู้คนมาช้านาน เป็นไปเพื่อธำรงรักษาจารีตประเพณีอันดีงาม

ความรู้จำพวกนี้จึงสำเร็จรูปตายตัว สามารถส่งผ่านไปยังผู้เรียนได้ทั้งหมด

ในทางปรัชญาการศึกษาเราเรียกอุดมคติทางการศึกษาแบบนี้ว่า สารัตถนิยม (essentialism)

การเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นอาจจะสนองรับกับแนวคิดนี้ได้พอสมควร แต่ปัญหาจากการเรียนการสอนออนไลน์ก็ยังคงมีอยู่ในรูปแบบดังกล่าว

ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวต่อไป

 

ส่วนแนวคิดที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปเลยก็คือ พิพัฒนาการนิยม (progressivism) ที่มองว่าความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสภาพแวดล้อม

การศึกษาที่ดีจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างหรือปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เรียนขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มความหมายให้แก่ประสบการณ์ และเพิ่มความสามารถของผู้เรียนที่จะกำหนดทิศทางของประสบการณ์ในอนาคต

การศึกษาแนวนี้จึงเน้นความเจริญงอกงามทางความคิดจากประสบการณ์การเรียนรู้โดยการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในปัจจุบัน ฝึกฝนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน

ถ้าอธิบายแนวคิดนี้ด้วยข้อความที่ว่า “เรียนรู้จากการลงมือทำ” (learning by doing) คงจะเห็นภาพชัดมากขึ้น

ที่สำคัญอุดมคติทางการศึกษาแนวนี้เน้นพัฒนาตัวปัจเจกบุคคลหรือตัวผู้เรียนนั่นเอง

อันที่จริงอุดมคติทางการศึกษายังมีอีกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นนิรันตรนิยม (perennialism) ทีมีความคิดค่อนข้างคล้ายกับสารัตถนิยมในเชิงที่มาและกระบวนการ

ส่วนอีกแนวคิดก็คือ สรรค์สร้างนิยม (reconstructionism) ก็เป็นการต่อยอดความคิดจากพิพัฒนาการนิยมโดยการเพิ่มเป้าหมายนอกจากตัวผู้เรียนเองแล้วยังต้องการให้ผู้เรียนสนใจทำให้สังคมหรือประเทศชาติดีขึ้นด้วย

ผู้เขียนจึงขอหยิบยกอุดมคติทางการศึกษาแค่สองแบบเท่านั้นคือ สารัตถนิยม และพิพัฒนาการนิยม มาเป็นแนวทางในการพิจารณาถึงปัญหาเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์

 

สําหรับแนวคิดสารัตถนิยม การเรียนการสอนออนไลน์ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะแนวคิดดังกล่าวนี้เน้นความสำคัญอยู่ที่ตัวเนื้อหาหรือหลักสูตรการเรียนการสอน

หรือเรียกอีกอย่างว่า หลักสูตรที่มีเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (subject-centered curriculum)

กล่าวคือ สารัตถนิยมกำหนดให้เนื้อหารายวิชามีรูปแบบตายตัว ชัดเจน เพราะความรู้ที่ผู้สอนจะต้องถ่ายทอดให้กับผู้เรียนนั้นต้องเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในสังคมซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามอันเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เพื่อให้ผู้เรียนมีความเชื่อ ยึดถือค่านิยมที่ส่งผ่านมาจากอดีต ธำรงรักษาจารีต ประเพณีอันดีงามในอดีตเอาไว้ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีปัญญาและรักษาอุดมคติอันดีงามของสังคม

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ว่าองค์ประกอบพื้นฐานของการศึกษานั้นมีอยู่สามส่วน

ส่วนที่เป็นวิชาหรือเนื้อหาของหลักสูตรเมื่อมีความชัดเจนตายตัว ก็ดูจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก

ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้างก็อาจจะเป็นเรื่องของเนื้อหาของรายวิชาต่างๆ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่ต้น

ส่วนองค์ประกอบอีกสองอย่างนั้นน่าจะมีปัญหามากกว่า นั่นก็คือ ผู้สอนและผู้เรียน

กล่าวสำหรับผู้สอนในแนวคิดแบบสารัตถนิยมจะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชั้นเรียน ครูจะต้องเป็นต้นแบบในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ความสามารถ ศีลธรรมจรรยา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้เรียนอย่างครบถ้วน

เรียกได้ว่าครูแบบสารัตถนิยมต้องควบคุมชั้นเรียนได้อย่างชำนิชำนาญ การศึกษาแบบสารัตถนิยมนี้นอกจากมีลักษณะแบบเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลางแล้วยังอาจมีลักษณะที่เรียกว่า ครูเป็นศูนย์กลาง (teacher-centered) อีกด้วย

ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงนี้นี่เอง เมื่อมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ความสำคัญของเทคโนโลยีอาจจะกินพื้นที่ไปถึงร้อยละห้าสิบเลยด้วยซ้ำ

ฉะนั้น ครูหรือผู้สอนที่เคยควบคุมกำกับการเรียนการสอนอย่างเจนจัดด้วยตัวเองคนเดียวโดยมีสมาธิอยู่กับชั้นเรียนมาตลอด ก็ต้องคอยมาพะว้าพะวงกับเทคโนโลยีการสอนแบบออนไลน์ส่งผลให้ปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะอย่าลืมคนรุ่นที่เป็นครูสอนหนังสือในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ก็อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไปซึ่งในทางเทคโนโลยีเราจะเรียกคนพวกนี้ว่าเป็น “ผู้อพยพสู่โลกดิจิตอล” (digital immigrant) หรือพวกที่เกิดก่อนยุคดิจิตอล หมายความว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับวิธีการคิด หรือทักษะแบบดิจิตอล คือไม่ได้มีเนื้อแท้แบบดิจิตอลนั่นเอง กล่าวคือ คนกลุ่มนี้ก็ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็น มีความชำนาญระดับหนึ่ง

แต่ก็ไม่ได้มีโลกอันแนบสนิทกับดิจิตอลเสียทีเดียว

ซึ่งต่างกับ “ชาวดิจิตอลโดยกำเนิด” (digital native) คือกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปีโดยประมาณ ที่เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง คุ้นเคยกับวิธีการคิดแบบดิจิตอล ตลอดจนทักษะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เป็นดิจิตอล

เราลองสังเกตดูว่า เด็กๆ กลุ่มนี้เวลาหยิบจับเทคโนโลยีต่างๆ แล้วมันดูเข้ามือเสียเหลือเกิน ในขณะที่พวกผู้ใหญ่จะเก้ๆ กังๆ ดูติดขัดไปเสียทั้งหมด

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า ครูหรือผู้สอนในปัจจุบันนี้ไม่มีความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีแต่อย่างใด แต่แนวโน้มของครูส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทำนองนี้ แม้ว่าครูหรือผู้สอนจะผ่านการอบรมเทคนิคการสอนออนไลน์โปรแกรมต่างๆ มาอย่างดีแล้ว แต่การจะควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้อยู่มือแบบจัดการกับชั้นเรียนปกตินั้น นับว่าคงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ โปรแกรมต่างๆ เหล่านั้นก็กลายมาเป็นข้อจำกัดของการเรียนการสอนหรือเป็นกรอบบังคับให้การเรียนการสอนต้องเป็นไปตามรูปแบบที่โปรแกรมต่างๆ ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น

เมื่อเทียบกับห้องเรียนปกติ ครูหรือผู้สอนมักจะปรับชั้นเรียนให้เหมาะสมหรือยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ของผู้เรียนหรือผู้สอนเองก็ตาม

ในส่วนของผู้เรียน แม้ว่าบทบาทของผู้เรียนตามแนวคิดแบบสารัตถนิยมจะเป็นผู้คอยรับการถ่ายทอดความรู้ จึงดูไม่ค่อยน่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก

แต่เมื่อมีการปรับจากการเรียนปกติเป็นการเรียนแบบออนไลน์ ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นก็คือ ปัญหาเรื่อง “ช่องว่างทางดิจิตอล” (digital divide)

ซึ่งหมายถึง ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์

ปัญหาเรื่องช่องว่างดิจิตอลไม่ใช่เพียงแค่ภาพข่าวของเด็กนักเรียนหญิงนั่งกางร่มเรียนออนไลน์กลางแดดร้อน เพราะที่บ้านไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต

หรือเด็กนักเรียนชาวม้งที่ต้องลงจากดอยมาเรียนหนังสือเพราะสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปไม่ถึง ฯลฯ

แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต ปริ๊นเตอร์ ตลอดจนโปรแกรมที่ใช้เป็นตัวกลางในการเรียนการสอน

สิ่งเหล่านี้ล้วนมีราคาค่างวดสูงพอสมควรที่หลายครอบครัวของสังคมไทยเข้าไม่ถึงอย่างแน่นอน

ไม่ต้องพูดถึงอื่นไกล ลำพังนักศึกษามหาวิทยาลัยบางคนยังมีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียวใช้เพื่อเรียนออนไลน์ให้พ้นไปแต่ละเทอมอย่างทุลักทุเลเสียเหลือเกิน

แล้วเราจะหวังอะไรจากการเรียนการสอนออนไลน์ที่ต่อให้มีเนื้อหาวิชาอันสมบูรณ์พร้อมถูกต้องดีงาม มีครูผู้สอนอันดีเลิศ แต่นักเรียนไม่มีช่องทางในการเข้าถึงชั้นเรียนเลยด้วยซ้ำ

การเรียนการสอนเหล่านั้นก็ย่อมเปล่าประโยชน์โดยแท้

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวคิดทางการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยมก็จะมีปัญหากับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นกับแนวคิดสารัตถนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครูผู้สอนและผู้เรียน

แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยมจะมีปัญหาที่มากไปกว่าสารัตถนิยมในเรื่องของหลักสูตรหรือเนื้อหารายวิชา

กล่าวคือ แนวคิดพิพัฒนาการนิยมมองว่าความรู้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความรู้บางอย่างสำหรับสมัยก่อนอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปในปัจจุบันหรืออนาคต

แนวคิดทางการศึกษาแบบนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการลงมือปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่าการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยมนั้นมีลักษณะแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered) ครูหรือผู้สอนมีบทบาทเพียงแค่การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เนื้อหาวิชาจึงไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป นักเรียนทุกคนมีความแตกต่างกัน

ดังสำนวนของฝรั่งที่ว่า “อาหารสำหรับเรา อาจจะเป็นยาพิษสำหรับผู้อื่น”

ครูจึงไม่ใช่ผู้วางตัวว่าเป็นคนที่รู้มากกว่าผู้เรียน แต่เป็นคนที่ความคิดเปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกันไปกับนักเรียน

ฉะนั้น ลำพังการเรียนการสอนแบบออนไลน์อาจจะพอทำได้บ้างอย่างที่หลายคนพยายาม แต่คงไปไม่ถึงอย่างที่แนวคิดพิพัฒนาการนิยมตั้งไว้

หากสังเกตรูปแบบการเรียนการสอนและกิจกรรมของการศึกษาแนวพิพัฒนาการนิยมล้วนแต่เรียกร้องให้ผู้สอนกับผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้าค่าตา เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์จริง

 

จากปัญหาทั้งหมดทั้งมวลของสองแนวคิดพื้นฐานทางการศึกษายังมีมากมายถึงเพียงนี้ ยังมิพักต้องเอ่ยถึงปัญหาการจัดการต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเอารัดเอาเปรียบของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในการเก็บค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน อาจจะมีลดให้สักเล็กหน่อยอย่างเสียมิได้ ร้อยละสิบถึงสิบห้า ทั้งๆ ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้บริการแก่นักเรียน-นักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น

ในภาวะแบบนี้รัฐบาลหรือกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรออกมาประกาศยกเว้นค่าเทอมของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเลยด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ก็จะเป็นนโยบายของภาครัฐที่ไม่เคยมีแผนรองรับการจัดการการศึกษาในสภาวะวิกฤตเช่นนี้แต่อย่างใด เพราะโรคระบาดโควิด-19 นี้จะไม่ใช่วิกฤตสุดท้ายของสังคมไทยหรือของโลกนี้อย่างแน่นอน

ในอนาคตข้างหน้าหากเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากกว่านี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่การเรียนการสอนแบบออนไลน์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถสนับสนุนการจัดการศึกษาไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามให้เป็นไปตามตามอุดมคติที่ตั้งไว้ รวมถึงการจัดการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางเทคโนโลยีให้น้อยลงจนถึงขั้นหมดไป ก็จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นทางออกของการจัดการศึกษาในยามเกิดวิกฤตได้

แต่ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่ได้มีความพร้อมแต่ประการใด

ฉะนั้น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนครูผู้สอนบางคนที่ท่องคาถา “เอะอะก็ออนไลน์” พึงรับรู้ไว้เสียบ้างเถิด หากต้องการจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด ก็ควรลงทุนกับสิ่งนั้นให้มาก การลงทุนในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเท่านั้น แต่ยังรวมเป็นสติปัญญาที่ครุ่นคิดเกี่ยวการศึกษาของประเทศไทยอย่างจริงจัง เราลงทุนให้กับอะไรมากมายในสังคมไทยได้ แต่เราลงทุนให้กับการศึกษาน้อยเสียเหลือเกิน

ผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ย่ำแย่อยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คงเป็นหลักฐานชั้นดีที่ฟ้องให้เราเห็นถึงความใส่ใจในการศึกษาของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี