หมอประสิทธิ์ แจงปมไม่เห็นด้วย สั่ง ‘ซิโนแวค’ เพิ่ม หลังเดลตาระบาด

หมอประสิทธิ์ แจงปมไม่เห็นด้วย สั่ง ‘ซิโนแวค’ เพิ่ม ชี้เดลตาระบาด เข็ม 2 ต้องแอสตร้าฯ ส่วนคนที่ต้องรับเข็ม 3 อาจมีทั้งแอสตร้าฯ และไฟเซอร์

วันที่ 17 ก.ค. 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการตอบคำถามในคลับเฮ้าส์เกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค ว่า ในคลับเฮาส์เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ถามทำนองว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีคุณภาพ ไม่ควรนำเข้ามาอีกหรือไม่ ซึ่งตนได้ตอบไปว่าอย่าใช้คำพูดเช่นนี้ เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคแปลตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานั้น ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ที่เรียกว่า สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ก็สามารถใช้ได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แต่เมื่อปัจจุบันมีเชื้อกลายพันธุ์เดลตาเข้ามาระบาดแล้ว การใช้ซิโนแวคอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อสายพันธุ์เดลตา จึงเป็นที่มาทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีการใช้วัคซีนสลับชนิด โดยเข็มแรกเป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ สามารถกระตุ้นภูมิได้สูง แต่การสั่งซิโนแวคเข้ามาจำนวนมากนั้น ตนไม่เห็นด้วย ส่วนตัวเลขที่เหมาะสม เพื่อการฉีดตามสลับวัคซีนนั้นตัวเลขอยู่ที่กรมควบคุมโรค

เมื่อถามว่าต้องนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเท่าไหร่จึงเหมาะสม ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถบอกได้ว่า ต้องใช้สัดส่วนอย่างไร เพราะตอนนี้ยังมีคนที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 อยู่ เห็นได้จากตัวเลขการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสยังไม่มาก ประมาณไม่ถึง 20% ซึ่งตามนโยบายการสลับวัคซีนนั้น เข็ม 1 อาจเลือกอะไรก็ได้ แต่เข็มสองต้องเป็นแอสตร้าเซนเนก้า แต่หากคนฉีดแอสตร้าฯ เข็มแรก เข็มต่อไปก็ต้องแอสตร้าฯ ส่วนกลุ่มที่ต้องรับเข็มที่ 3 นั้น อาจมีทั้งแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ ซึ่งต้องมาคำนวณตัวเลขเหล่านี้ว่า ต้องใช้สัดส่วนเท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งตนไม่มีตัวเลขเหล่านี้ ต้องถามกรมควบคุมโรค

“จากสถานการณ์ตอนนี้ และมีเดลตาระบาด มองว่าการใช้ซิโนแวคจะน้อยมากๆ ยิ่งซิโนแวคกับซิโนแวค แต่ยังมีอยู่ในกลุ่มคนที่จำเป็นต้องเดินทางไปจีน และมีเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต แต่จำนวนไม่น่ามาก ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า อาจไม่ต้องสั่งเข้ามามากแล้ว ต้องดูสัดส่วนความเป็นจริงและความจำเป็นที่ต้องใช้มากกว่า” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ท่าทีของนพ.ประสิทธิ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดในไทยอย่างหนัก หลังพบการระบาดใหญ่ในอินเดียเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา และกำลังระบาดลุกลามประเทศไทยหลายจุดซึ่งวัคซีนที่ไทยมีอยู่อย่างซิโนแวค งานวิจัยล่าสุดของไทยเองชี้ว่า ซิโนแวคไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่น่ากังวลทั้ง 3 อย่างอัลฟา,เบต้าและเดลต้าได้ ส่วนแอสตร้าเซเนก้านั้นไทยเผชิญภาวะวัคซีนขาดแคลนส่งมาไม่ตรงตามจำนวนและเวลากำหนดจนทำให้ไม่สามารถฉีดได้ครอบคลุมได้กว้างขวางท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รวดเร็ว

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา บีบีซีไทยได้รายงานคำกล่าวของนพ.ประสิทธิ์ต่อวัคซีน mRNA ว่า

สำหรับวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีราคาแพง ซึ่งไทยไม่ได้นำเข้า แม้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสูงสุดถึง 95% แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะประสิทธิภาพเพียง 50-60% ก็เพียงพอแล้ว โดยยกตัวอย่างของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปีก็มีประสิทธิภาพราว 50-60% เช่นกัน