ลู่ทางปรับแก้แนวทางการทูตของจีน/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลู่ทางปรับแก้แนวทางการทูตของจีน

 

ระหว่างการทูตจีนตกอยู่ในภาวะขาดเอกภาพไม่เป็นกระบวนด้วยปัญหาต่างๆ ในระดับสุดยอดดังได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว บรรดาประเทศโลกตะวันตกดูจะค่อยๆ สอดผสานผนึกแนวร่วมต้านปักกิ่งเข้าด้วย กันเป็นปึกแผ่นอย่างช้าๆ แต่มั่นใจ โดยเฉพาะหลังประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ นายโจ ไบเดน ชนะเลือกตั้ง เข้าแทนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ต้นปีนี้มาและในการประชุมกลุ่ม G-7 เมื่อเดือนมิถุนายน (https://www.npr.org/2021/06/12/1005965664/biden-urges-g-7-leaders-to-call-out-and-compete-with-china)

ผลของมันทำให้ข้อตกลงการลงทุนของจีนกับสหภาพยุโรปรวมทั้งข้อตกลงทางการค้าใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐอยู่ในภาวะล่อแหลม (https://www.china-briefing.com/news/the-eu-suspends-ratification-of-cai-investment-agreement-with-china-business-and-trade-implications/)

ขณะทางรัฐ-พรรคจีนเองก็ตัดสินใจเลือกเข้าข้างอิหร่านในความขัดแย้งกับสหรัฐโดยลงนามข้อตกลงยุทธศาสตร์ระยะ 25 ปีกันเมื่อวันที่ 27 มีนาคมศกนี้ (https://www.aa.com.tr/en/analysis/analysis-the-iran-china-deal-amid-the-global-power-transition/2208353#!)

และเลือกเข้าหารัสเซียเพื่อช่วยกันฝ่าข้ามแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากตะวันตก (https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3092395/xi-tells-putin-china-and-russia-should-stand-firm-against)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของจีนในการสร้างพันธมิตร “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ขึ้นมาน่าจะได้ผลลดน้อย ถอยลงด้วยเหตุ 3 ประการด้วยกัน

กล่าวคือ 1) รัสเซียกับอิหร่านอย่างดีก็เป็นแค่ตลาดชั้นสองสำหรับสินค้าจีน

2) ไม่รัสเซียก็อิหร่านน่าจะตกเป็นเป้าของการแซงก์ชั่นทางสากลในอนาคต

และ 3) เมื่อดูจากอดีตที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมักเป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนระหว่างประเทศที่ท่าดีทีเหลว ไว้วางใจไม่ค่อยได้

กระนั้นแล้วมีลู่ทางจะปรับแก้แนวทางการทูตจีนหรือไม่อย่างไร?

หลี่หยูเจิ้ง, เจิ้งเจ้อกวง, หม่าเจ้าซู่ : 3 รมช.ต่างประเทศจีนผู้เป็นแคนดิเดต รมว.ต่างประเทศต่อไป

หากสีจิ้นผิงต้องการเช่นนั้น ก่อนอื่นเขาต้องเสนอชื่อ รมว.ต่างประเทศจีนคนใหม่แทนหวังอี้ (ซึ่ง ตอนนี้มีอายุ 67 ปีแล้ว) แคนดิเดตที่ถูกกล่าวขวัญถึงมีอยู่ 3 คน (ซึ่งอายุ 58 ปีเท่ากัน) ได้แก่ :

หลี่หยูเจิ้ง รมช.ต่างประเทศผู้รับผิดชอบงานบริหารกระทรวง สำนักงานทั่วไป ความโปร่งใสของรัฐบาล และกิจการยุโรป-เอเชียกลาง ดูจะเป็นตัวเก็งเข้ารับตำแหน่งต่อจากหวังอี้ (https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjb_663304/zygy_663314/gyjl_663316/LYC/)

เจิ้งเจ้อกวง รมช.ต่างประเทศผู้รับผิดชอบการวางแผนนโยบาย กิจการอเมริกาเหนือและโอเชียเนีย รวมทั้งละตินอเมริกา งานแปลและการตีความ จุดเด่นคือเป็นนักการทูตผู้เชี่ยวชาญเรื่องสหรัฐอเมริกา (https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjb_663304/zygy_663314/gyjl_663316/zzg_663334/)

หม่าเจ้าซู่ รมช.ต่างประเทศผู้รับผิดชอบงานด้านองค์การและการประชุมระหว่างประเทศ กิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การควบคุมอาวุธ สนธิสัญญาและกฏหมาย รวมทั้งกิจการเกี่ยวเนื่องกับพรรค คอมมิวนิสต์จีน เขาเป็นที่รู้จักกันว่าคือ “มืออาชีพ” ด้านวิวาทะ (https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjb_663304/zygy_663314/gyjl_663316/mzx/)

การระบุตัวผู้จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศคนต่อไปจะทำให้กระทรวงต่างประเทศจีนมีน้ำหนักสำคัญขึ้น เพราะตอนนี้ทุกคนรู้ดีว่าหวังอี้ขยับตัวเตรียมลุกจากเก้าอี้ว่าการกระทรวงแล้ว และหยางเจียฉี อดีต รมว.ต่างประเทศคนก่อนก็ถูกเรียกตัวกลับมายังคณะรัฐมนตรีเนื่องจากเริ่มมีกระแสเสียงกังขาสมรรถวิสัยของหวังอี้ด้วย

หานเจิ้ง, ลั่วฮุ่ยหนิง, เซี่ยเป่าหลง, เฉินตง : ผู้นำระดับสูงของจีนที่มีบทบาทบริหารปกครองมาเก๊า-ฮ่องกง

เอาเข้าจริงการที่สีจิ้นผิงใช้ทั้งหยางเจียฉีกับหวังอี้ให้ทำงานการต่างประเทศไปพร้อมกันสะท้อนสภาพที่ตัวสีติดแหง็กอยู่กับตัวแบบการบริหารปกครองการทูตจีน 2 แบบ ได้แก่ :

ตัวแบบของเฉียนฉีเชิน อดีต รมว.ต่างประเทศ (1988-1998) และรองนายกรัฐมนตรีจีน (1993-2003) (https://thai.china.com/baike/6265/20150202/271494.html) ผู้ถือว่านโยบายต่างประเทศเป็นธุระของคณะรัฐมนตรี กับ…

ตัวแบบที่ถือว่านโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องของ “กระทรวง” ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน

สำหรับสีแล้ว ตัวแบบสะดวกดายที่สุดคือตัวแบบของเฉียนซึ่งทำให้เขากำกับควบคุมกิจการต่างประเทศได้ง่ายกว่า (โดยเฉพาะหลังได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายการจัดองค์การรัฐแล้ว) ชั่วแต่ว่าเอาเข้าจริงทุกวันนี้ในทางปฏิบัติ การทูตจีนกลายเป็นอยู่ใต้ตัวแบบ “การบริหารปกครองแบบหลายส่วน” ในลักษณะที่ผู้รับผิดชอบการทูตระดับสูงหลายคนก้าวก่ายเหยียบย่ำนิ้วโป้งตีนกันไปมาซึ่งยิ่งทำให้เรื่องยุ่งยากซับซ้อนขึ้นสำหรับทางการปักกิ่ง

ปัญหาทำนองเดียวกันก็แสดงออกในระบบบริหารปกครองกิจการเขตบริหารพิเศษมาเก๊าและฮ่องกงด้วยเช่นกัน ผู้นำพรรคระดับสูงที่มีบทบาทก่ายเกยกันในกิจการดังกล่าวได้แก่ :

หานเจิ้ง สมาชิกคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรีอาวุโสจีน ผู้จะมีอายุ 68 ปีในเดือนเมษายนศกหน้า และแสดงบทบาทออกหน้ามาหารือชี้แจงนโยบายและกฎหมายความมั่นคงใหม่ของปักกิ่งต่อสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนประจำฮ่องกง (https://www.xinhuathai.com/china/183791_20210308)

ลั่วฮุ่ยหนิง ผู้อำนวยการประจำสำนักงานประสานงานของรัฐบาลประชาชนส่วนกลางในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของคณะกรรมการพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ลั่วถูกคณะรัฐมนตรีจีนส่งมารับมือสถานการณ์หลังบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายนิยมปักกิ่งพากันแพ้การเลือกตั้งสภาเขตในฮ่องกงปี 2019 กราวรูดไม่เป็นท่า

เขาถูกทางการสหรัฐหมายหัวและแซงก์ชั่นฐานเป็นหนึ่งในสิบเจ้าหน้าที่จีนผู้มีส่วนสำคัญทำให้ฮ่องกงหมดความเป็นอิสระในการปกครองตนเองภายใต้อำนาจรัฐบาลกลางจีน เขาจะมีอายุครบ 68 ปีในเดือนตุลาคมศกหน้า (https://www.xinhuathai.com/china/66642_20200106; https://mgronline.com/around/detail/9630000069842; https://en.wikipedia.org/wiki/Luo_Huining)

เซี่ยเป่าหลง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊านับแต่กุมภาพันธ์ศกก่อน อดีตรองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน เซี่ยเป็นคนสนิทที่สุดคนหนึ่งของสีจิ้นผิง เนื่องจากเคยเป็นผู้ช่วยสีสมัยเขาสีดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเจ้อเจียงเมื่อปี 2003-2007 ก่อนที่เซี่ยจะได้ขึ้นครองตำแหน่งเดียวกันนี้เมื่อปี 2012-2017 ด้วย

กล่าวได้ว่าเซี่ยเป็นเครือข่ายโดยตรงของสีในฮ่องกงและมาเก๊า และเป็นสัญญาณของแนวทาง “continentalisation” ที่จีนแผ่นดินใหญ่เข้า บริหารปกครองเขตพิเศษทั้งสองโดยตรงและเปิดเผยยิ่งขึ้น เซี่ยเองจะอายุครบ 69 ปีในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า (https://www.dailynews.co.th/foreign/757359; https://en.wikipedia.org/wiki/Xia_Baolong)

และยังมี เฉินตง รองผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานรัฐบาลกลางในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตั้งแต่ปี 2017 ปัจจุบันอายุ 57 ปี เป็นพันธมิตรของสีจิ้นผิงจากมณฑลฝูเจี้ยน คาดว่าจะมีบทบาทตัวเอกในอนาคตอันใกล้ (https://www.scmp.com/news/china/policies-politics/article/2074747/beijings-liaison-office-hong-kong-gains-new-deputy-head ;https://www.chinadaily.com.cn/a/202006/15/WS5ee6eabfa31083481725312c.html)

ประเด็นคือเมื่อครั้งสีจิ้นผิงตัดสินใจเดินแนวทางแผ่นดินใหญ่เข้าควบคุมกำกับมาเก๊า-ฮ่องกงโดยตรง (continentalisation) และล้างบางเครือข่ายของเจิ้งชิ่งหง (อดีตสมาชิกกรมการเมือง พคจ. และรองประธานาธิบดี มือขวาคนสนิทของอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินในท้องถิ่นนั้น https://mgronline.com/china/detail/9500000113522) ก็ไม่ทันได้ตระเตรียมทีมบริหารใหม่ไว้ล่วง หน้าพร้อมสรรพแท้จริงเสมอไป

ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีธรรมเนียมทดสอบแกนนำที่จะขึ้นมากุมตำแหน่งบริหารระดับสูงอย่างเข้มข้นตามหลักการ “ขึ้นเจ็ดลงแปด” (ชีซั่งปาเซี่ย – คือถูกปรับเลื่อนตำแหน่งขึ้น-ลงเจ็ดแปดครั้ง) ทั้งในช่วงก่อนหน้าและระหว่างสมัชชาพรรคครั้งที่ 20

จึงยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นสหายหาน, สหายลั่ว, หรือสหายเซี่ยกันแน่ที่จะได้ขึ้นมายึดกุมการบริหารปกครองมาเก๊า-ฮ่องกงในที่สุด