เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /วางบิล/ตายเสียดีกว่า ‘ตกข่าว’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ตายเสียดีกว่า ‘ตกข่าว’

เพราะพื้นที่เกิดข่าวเฉพาะในประเทศคือจากทั่วประเทศ ไม่ต้องรวมถึงต่างประเทศ คือข่าวรอบโลก ข่าวมิได้มีเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยังรวมถึงในพื้นที่แต่ละจังหวัด ซึ่งผู้รับผิดชอบคือฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลสั่งการให้ผู้รับผิดชอบไปแก้ปัญหา หรือต้องเดินทางไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
หนังสือพิมพ์ที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ หนังสือพิมพ์ประเภทเสนอข่าวเน้นหนักไปทางข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาจยังไม่มีผู้สื่อข่าวต่างจังหวัด หากมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในต่างจังหวัด มักส่งผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นไปทำข่าว หรือติดตามบุคคลสำคัญในรัฐบาลเช่นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไปทำข่าว แล้วส่งข่าวกลับมายังหัวหน้าข่าวผ่านโทรศัพท์
กรณีข่าวที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด มีหลายกรณี เช่น การเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม มีการชุมนุมแล้วผู้รับผิดชอบในรัฐบาลต้องเดินทางไปคลี่คลายเหตุการณ์ด้วยตัวเอง บางเหตุการณ์เกิดขึ้นแม้ผู้รับผิดชอบในรัฐบาลไม่ต้องเดินทางไปเอง ผู้สื่อข่าวต้องเดินทางไปเองเพื่อติดตามข่าวนั้น กับกรณีที่ผู้สื่อข่าวเดินทางไปกับผู้รับผิดชอบในรัฐบาล เช่น ไปกับรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง
บางกรณีอาศัยข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั้งรายงานข่าวทางสถานีวิทยุ และข่าวที่พิมพ์เผยแพร่ประจำวัน บางกรณีอาศัยข่าวจากผู้สื่อข่าวสำนักพิมพ์อื่น
ข่าวในส่วนกลาง คือข่าวในกรุงเทพมหานคร มีทั้งข่าวหมู่และข่าวเดี่ยว ส่วนของข่าวหมู่ หากผู้สื่อข่าวไปไม่ทัน เช่น มีการแถลงข่าว อาจขอลอกหรือสอบถามเพื่อนผู้สื่อข่าวบางคน หรือคอยเงี่ยหูฟังขณะที่เพื่อนส่งข่าวเข้าสำนักงานทางโทรศัพท์
แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก แต่ไม่ผิดมากถึงขนาดที่เรียกว่า “ตกข่าว”

การ “ตกข่าว” มีหลายกรณี เช่น ครั้งหนึ่ง ตัวเองไปฟังการแถลงข่าวเช้าไม่ทัน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตื้นๆ คือนอนดึก ตื่นสาย และสถานที่แถลงข่าวอยู่ไกล ต้องเดินทางด้วยรถเมล์
ผลคือต้องแจ้งให้หัวหน้าข่าวเช้าวันนั้นทราบ และนำ “ข่าวหมู่” ที่เสนอผ่านกรมประชาสัมพันธ์มาเสนอแทน และขอข่าวจากเพื่อนนักข่าวที่มีข่าวนั้น ซึ่งเป็นข่าวหมู่ ที่ให้กันได้ ไม่ผิดกฎการ “ลอกข่าว” อย่างใด แต่เป็นการ “ตกข่าว” ซึ่งนับเป็นโทษร้ายแรงพอประมาณ
ดังที่ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ตอกย้ำกับนักข่าวว่า ความผิดฐานตกข่าวที่เพื่อนหนังสือพิมพ์อื่นมี แต่ของเราไม่มี ถึงกับต้องไป “ฆ่าตัวตาย” กันทีเดียว

การเดินทางไปทำข่าวต่างจังหวัด ผู้สื่อข่าวต้องรับผิดชอบตัวเองทั้งหมด โดยเฉพาะการไปทำข่าวที่เกิดขึ้น ไม่ได้เดินทางไปพร้อมแหล่งข่าว ซึ่งส่วนหนึ่งหากเป็นหน่วยงาน หรือองค์กร เขาจะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง หรือค่าอาหารบางมื้อ เป็นต้น

เช่น ครั้งหนึ่ง เหตุเกิดที่อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง เป็นเรื่องการสร้างเขื่อน ผู้รับผิดชอบคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พันตำรวจโทบุญเลิศ เลิศปรีชา ชักชวนให้ผมกับเพื่อนผู้สื่อข่าวบางคนเดินทางไปด้วยกันด้วยเครื่องบินตำรวจ ซี 10 เครื่องยนต์เป็นใบพัด (ถ้าจำไม่ผิด)
เครื่องบินชนิดนี้บินไม่สูงนัก เสียงเครื่องและแรงสั่นสะเทือน ทำเอาหลังลงแล้วหูอื้อ รู้สึกตัวสั่นไม่หาย
การทำข่าวรูปแบบนี้ นอกจากการสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบแล้ว ต้องคอยผลการประชุมว่าตกลงกันอย่างไรด้วย ผมกับเพื่อนผู้สื่อข่าวอีกฉบับหนี่งได้รับความไว้วางใจจากรัฐมนตรีบุญเลิศ เมื่อประชุมเสร็จจึงส่งผลสรุปการประชุมให้เราทั้งสองคนไปแจ้งผู้สื่อข่าวฉบับอื่น
มีเรื่องให้ “ล้อ” มาถึงทุกวันนี้ คือเพื่อนคนนั้นเป็นชาวปักษ์ใต้ ที่ออกเสียงตัว “ง.งู” เป็น “ฮ.ฮู” ชื่อดอยแห่งหนึ่งที่รัฐมนตรีต้องแก้ปัญหาคือ “ดอยโง้ม” เมื่อแก้ปัญหาเสร็จ ผู้สื่อข่าวทุกฉบับส่งข่าวว่า “แก้ปัญหาดอยโง้มเรียบร้อย” หนังสือพิมพ์ที่เพื่อนนักข่าวเป็นคนใต้ พาดหัวข่าวว่า “แก้ปัญหาดอยโฮ้มเรียบร้อย”
เมื่อหนังสือพิมพ์ไปถึงบ่ายวันนั้น เพื่อนหัวฟัดหัวเหวี่ยง ทั้งจากถูกเพื่อนนักข่าวด้วยกันล้อ ทั้งพาดหัวผิดออกไปทั่วประเทศ จึงใช้โทรศัพท์โทร.ถึงหัวหน้าข่าว ด้วยถ้อยคำบริภาษ และส่งเสียงไปด้วยว่า “บอกว่า ดอยโฮ้ม ยังเป็น ดอยโฮ้ม ฮอฮู รู้จักไหม”
เรื่องชนิดเช่นนี้ มิใช่เรื่องล้อเล่น หากต้องบอกกล่าว หรือหัวหน้าข่าวควรมีความรู้เรื่องแห่งหนของข่าวด้วย มิฉะนั้นจะผิดไปจากเพื่อนเขาอย่างนี้แหละ

มีเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในลำน้ำโขง เป็นเหตุการณ์ที่เรือ นปข. ล่วงละเมิดร่องน้ำฝั่งลาว มีเหตุยิงกันขึ้น ทำให้เรือ นปข. ไปเกยตื้นบนเกาะ มีทหารเรือเสียชีวิตนายหนึ่ง ทหารเรือไทยต้องพยายามกู้ศพทหารกลับคืนพร้อมกับเรือ นปข. ลำนั้น ใช้เวลาหลายวันทีเดียว
มีผู้สื่อข่าวทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดละแวกนั้น คือ หนองคาย นครพนม ไปร่วมชุมนุมกันคับคั่ง
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับคำสั่งจากบรรณาธิการข่าวให้ไปทำข่าวนี้ ซึ่งขณะนั้น ประชาชาติมีนักข่าวที่จังหวัดหนองคายคนหนึ่ง ชื่อ มานี นิศยันต์

การไปทำข่าวประเภทนี้ วันๆ ต้องคอยติดตามว่า ทหารเรือผู้รับผิดชอบจะเข้าไปพื้นที่ตอนไหน และมีแผนอะไรที่จะกู้ทั้งเรือและศพทหารเรือผู้นั้น ถึงขนาดเมื่อเหตุการณ์เริ่มวิกฤต ผู้บัญชาการทหารเรือถึงกับประกาศว่า “ถ้าไม่ได้ศพคืนให้ถมศพเข้าไป” ขนาดนั้น

คืนหนึ่ง ผมติดตามนายทหารเรือผู้รับผิดชอบตั้งแต่ห้วงบ่าย ได้ระแคะระคายว่า คืนนั้น ทหารเรือจะบุกเข้าไปกู้ศพและกู้เรือ
ปรากฏว่าคืนนั้นในหมู่บ้านที่เป็นสถานีชั่วคราวไม่พร้อม ผมยังมีโอกาสได้รับเลี้ยงอาหารจากบ้านที่เป็นฐานชั่วคราวของทหารเรือ เป็นมื้ออาหารที่มีข้าวและปลา กับแจ่วจิ้ม อร่อยอย่าบอกใคร
การยกเลิกภารกิจคืนนั้น ยังต้องติดตามข่าวไปอีกว่าจะกำหนดภารกิจเมื่อไหร่ ผมกับเพื่อนนักข่าวจึงเดินทางจากหนองคายเข้าไปเที่ยวในตัวเมืองอุดรธานี ซึ่งขณะนั้นคือฐานทัพทหารอเมริกัน มีสถานที่เที่ยวมากมาย รุ่งเช้าตรวจสอบแล้ว ยังไม่มีการดำเนินภารกิจกู้เรือ จึงเที่ยวต่ออีกคืน
ปรากฏว่า คืนนั้น ไม่มีใครทราบว่าทหารเรือจะบุกเข้าไปกู้ศพและเรือออกมาได้ช่วงรุ่งเช้า มีข่าวการลากเรือผ่านเข้าตัวเมืองหนองคาย ริมแม่น้ำโขง ได้รับการต้อนรับอย่างชื่นชมยินดีจากคนไทยที่นั่น
ภารกิจเสร็จสิ้น ผมเพิ่งเดินทางกลับเข้ามาหนองคาย รีบตามขบวนไปอย่างกระชั้นชิด แต่สายไปเสียแล้ว เพราะข่าวเข้าถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเช้าจากข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ถึงจะตามไปเก็บเบื้องหน้าเบื้องหลัง ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าไม่มีโอกาสรายงานข่าวช่วงการกู้เรือ
อย่างนี้เรียกว่า “ตกข่าว” เจ็บยิ่งกว่าตกต้นตาลเสียอีก