ปมขัดแย้งทางการเมือง สู่ปฏิบัติการลอบสังหาร ปธน.เฮติ/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ รอยเตอร์ส

บทความต่างประเทศ

 

ปมขัดแย้งทางการเมือง

สู่ปฏิบัติการลอบสังหาร ปธน.เฮติ

 

กลายเป็นเหตุการณ์สะท้านโลกอีกครั้ง สำหรับปฏิบัติการอุกอาจ ลอบสังหารนายโฌเวเนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ ที่กลุ่มคนร้ายกราดยิงถึงที่นอนภายในบ้านพักส่วนตัวในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้นายโมอิสในวัย 53 ปี เสียชีวิตทันที

นายโมอิสขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเฮติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 และมีข่าวสว่า รัฐบาลเฮติเคยสกัดแผนลอบสังหารนายโมอิส เพื่อก่อรัฐประหารมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เขาไม่รอด!

อย่างไรก็ตาม ตำรวจเฮติสามารถจับกุมตัวมือสังหารกลุ่มนี้ได้ทันที โดยประกอบด้วยชาวโคลอมเบีย 15 คน และชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติอีก 2 คน และมีผู้ก่อเหตุที่ถูกสังหารเสียชีวิต 3 คน อีก 8 คนยังคงหลบหนีไปได้

ซีเอ็นเอ็นรายงานข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับการสังหารนายโมอิส โดยจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ ระบุว่า ร่างกายของนายโมอิสเต็มไปด้วยรูกระสุน และยังมีขาข้างหนึ่งที่หัก และใบหน้าที่มีบาดแผลฉกรรจ์

ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเฮติหลายคนพยายามอธิบายร่องรอยของบาดแผลที่ดูเหมือนเกิดจากการ “ทรมาน”

ขณะที่มาร์ไทน์ ภรรยาของโมอิส ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา

แต่อีกเรื่องที่น่าสงสัยก็คือ ขณะที่ร่องรอยของกระสุนมีอยู่เต็มบ้านของโมอิส แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในบ้านของประธานาธิบดีคนใดได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลย

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายโคลด โจเซฟ รักษาการนายกรัฐมนตรีเฮติ ต้องขอให้สหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ช่วยส่งกองกำลังเข้าไปช่วยคุ้มครองและดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศเฮติ ประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งการร้องขอนี้เชื่อว่า โครงการพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ สนามบิน และเครือข่ายพลังงานต่างๆ อาจจะตกเป็นเป้าของการโจมตี และอยากให้ยูเอ็นกับสหรัฐเข้ามาช่วยปกป้อง เพื่อให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร ที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 26 กันยายนปีนี้ ยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้

โดยที่ทางยูเอ็นยังต้องรอคำสั่งอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ก่อน ขณะที่สหรัฐปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าว แต่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการสืบสวน โดยสหรัฐอเมริกาส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและกฎหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และจากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) เดินทางไปยังเฮติเพื่อช่วยสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น

ขณะที่ตำรวจเฮติได้เดินหน้าค้นหาตัวผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตำรวจเฮติได้ออกมาเปิดเผยว่า สามารถจับกุมตัวนายคริสเตียง เอมมานูเอล ซานง แพทย์ชาวเฮติวัย 63 ปี หนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้บงการแผนการลอบสังหารประธานาธิบดีเฮติ

โดยนายซานงเดินทางมาเข้าเฮติเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว พร้อมกับทหารรับจ้างที่จ้างมาเพื่อขับไล่และยึดตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโมอิส เพื่อขึ้นเป็นผู้นำประเทศแทนเอง

ผลการสอบสวนของตำรวจเฮติระบุว่า ผู้ต้องสงสัยทีมมือปืนที่ถูกจับกุมตัวนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวโคลอมเบีย ซึ่งทางรัฐบาลโคลอมเบียออกมาระบุว่า มีผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในครั้งนี้อย่างน้อย 6 คนที่เป็นอดีตสมาชิกของกองทัพโคลอมเบีย

ขณะสื่อของสหรัฐและแคนาดา ต่างรายงานตรงกันว่า หนึ่งในชาวอเมริกันที่ถูกจับครั้งนี้คือนายเจมส์ โซเลจส์ อายุ 35 ปี จากรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่คุ้มกันสถานทูตแคนาดาในประเทศเฮติ

ด้านผู้พิพากษา เคลมองต์ โนเอล ได้เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า นายโจเซฟ วินเซนต์ ชาวอเมริกันอีกคนที่ถูกจับ และทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับทหารรับจ้างกลุ่มนี้ ได้เห็นประกาศรับสมัครงานนี้จากอินเตอร์เน็ต โดยภารกิจของทหารรับจ้างกลุ่มนี้ก็คือ การ “จับตัว” ประธานาธิบดีโมอิส “ไม่ใช่การสังหาร”

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่โมอิสขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฮติ ก็เผชิญหน้ากับการประท้วงเป็นวงกว้างหลายต่อหลายครั้ง ที่ต้องการเรียกร้องให้โมอิสลงจากตำแหน่ง เนื่องจากปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ที่ฝ่ายค้านระบุว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้สถิติความรุนแรงในประเทศพุ่งสูงขึ้น และความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลง

ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของโมอิสเองก็กลายเป็นประเด็นโต้แย้ง เนื่องจากโมอิสยืนยันว่า เขายังมีกำหนดอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 1 ปี ทั้งที่ตามหลักรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีจะมีวาระครองตำแหน่ง 5 ปี

หากแต่เรื่องของโมอิสมีปัญหา หลังจากนายมิเชล มาร์เทลลี ประธานาธิบดีคนก่อนก้าวลงจากตำแหน่ง กว่าจะมีการเลือกตั้งก็ล่าช้าไป 1 ปี แล้วโมอิสถึงได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง เพราะฉะนั้น โมอิสจึงยืนยันว่า เขายังต้องทำหน้าที่ต่อไปอีก 1 ปี

ด้วยปัญหาทั้งหลายทั้งปวงในการปกครองประเทศที่ไม่มีความมั่นคงและแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ จึงเป็นที่มาของความพยายามในการโค่นอำนาจและลอบสังหารโมอิสในที่สุด