วิเคราะห์การเมือง : พลังฝ่ายค้าน-ฝ่ายต้าน บูสเตอร์ โดส วัคซีนต้าน ‘ตู่’

บทความในประเทศ

 

ฝ่ายค้าน-ฝ่ายต้าน

บูสเตอร์ โดส

วัคซีนต้าน ‘ตู่’

 

จะถือเป็นการกลับลำครั้งใหญ่ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้

เมื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าววันที่ 12 กรกฎาคม

หลังสถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลงโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งขณะนี้พบผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายต่อวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลให้การอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น

จนต้องงัดมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดมาใช้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีกครั้ง

โดยห้ามมีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง เคอร์ฟิวการออกจากบ้าน จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ให้มีการทำงานจากที่บ้าน ของเอกชนและรัฐมากที่สุด

การ “กลับลำ” ที่นายอนุทินแถลง ประกอบด้วย มีการปรับแผนฉีดวัคซีนใหม่

โดยระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และตั้งเป้าฉีดวัคซีนอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้

นอกจากเปลี่ยนแปลงประเด็นการควบคุมโรคโควิด-19 ใน 4 ประเด็น

1. เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า โดยโรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

2. เห็นชอบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส (Booster dose) โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์ โดสได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟ่า มาเป็นเดลต้า จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น

โดยการบูสเตอร์ โดส จะเป็นแอสตร้าฯ เป็นหลัก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่า การให้วัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น

3. เห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ ที่นำมาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง และเร็วๆ นี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน

4. เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชนชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ก็จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตามโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวทางและจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่ง สปสช.จะร่วมมือกับโรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้

 

แนวทางที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า

แม้องค์การอนามัยโลกจะเตือนว่า มีผลการศึกษาไม่เพียงพอ อาจเป็นอันตรายได้

แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลไทยจะไม่มีทางเลือกมากนัก ประกอบกับต้องบรรเทาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล ศคบ. อย่างหนัก

ไม่ว่าความไม่มีประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้

ไม่ว่าทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้า ขาด “เกราะที่มีคุณภาพ” ต้องติดเชื้อไวรัสอีก เช่นเดียวกับประชาชนที่ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะซิโนแวค 2 เข็มแล้ว แต่เอาไม่อยู่

ทำให้ยอดผู้ป่วย ยอดคนตายก็เพิ่มขึ้นตลอด ทำลายขวัญกำลังใจของประชาชนอย่างมาก

และพากันตั้งคำถามต่อฝีมือแก้ไขปัญหาของรัฐบาลว่ามีเพียงใด

 

อันรวมถึงคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เปิดเผยรายงานประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 : การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพนี้

โดยระบุว่า แม้การระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลของประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐของแต่ละประเทศมีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยประเทศที่ภาครัฐมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงจะไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจเป็นเวลานาน และจะสามารถกลับมาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

น่าเสียดายว่า แม้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกก่อนหน้า

แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤตด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

จนสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

กรณีผิดพลาดนี้สมควรต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ

และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก

โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระคล้ายกับคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540

เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

 

ในภาวะที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ใน “วิกฤตศรัทธา” อย่างรุนแรง พูดหรือทำอะไร ดูจะผิดไปหมด

ตอนนี้จึงเลือกที่จะ “กักตัว” อยู่เงียบๆ ไม่ออกมาสื่อสารอะไรโดยตรงกับประชาชน

ซึ่งแน่นอน ฝ่ายค้าน-ฝ่ายต้าน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล ย่อมสัมผัสได้ถึงภาวะอันตกต่ำเช่นนี้

จึงต้องรีบช่วยกัน “บูสเตอร์ โดส” ฉีดวัคซีนต้าน “ลุงตู่” ให้แรงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ตามการเปิดเผย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ล่าสุด บอกว่าจากการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน

มีมติร่วมกันคือ มีความจำเป็นต้องดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าเพื่อความรอบคอบและความครบถ้วนของประเด็นการอภิปราย รวมถึงการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน จึงเห็นสมควรเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเสนอให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมโดยส่งข้อมูลความผิดพลาด ล้มเหลว รวมถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นมายังพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็น ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจร่วมกันระหว่างพี่น้องประชาชน ข้าราชการ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ในการหยุดยั้งรัฐบาลที่ล้มเหลว”

ถือเป็นการขยายแนวรบของพรรคฝ่ายค้านออกไปให้กว้างขวางขึ้น

คือแทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของสภา ก็ดึงเอาประชาชนซึ่งไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลอย่างสูงเข้ามาร่วมแนวด้วย

อันจะทำให้เกิดแรงกดดันทั้งในและนอกสภา

 

โดยนอกสภานั้น ก็มีหัวเชื้อรออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มราษฎร, กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย, กลุ่ม ‘ประชาชนคนไทย’

และกลุ่มคาร์ม็อบ “สมบัติ (ทัวร์)” ที่นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ซึ่งล่าสุด นายสมบัติได้นำขบวนไปยัง 4 พรรคการเมืองฟากรัฐบาล เพื่อกดดันให้ร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้คำขวัญ “โควิดก็กลัว แต่ผู้นำโคม่าเอาไว้ไม่ได้ ขับ-ไล่ออกไป”

ถือเป็นสีสันและมีสิทธิพัฒนาไปสู่การเมืองนอกสภา ที่จะขับเคลื่อน “กดดัน” คู่ขนานไปกับการเมืองในสภาได้ไม่ยาก

อย่างตอนนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้หยุดร่วมพายเรือที่ใกล้อับปางลำนี้ต่อไป

“หาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเพียง 30 เสียง ประกาศเป็นสัญญากับประชาชน ว่าจะไม่สนับสนุน ไม่ลงมติในสภา ให้กับรัฐบาลชุดนี้ทุกกรณี แค่นี้ก็ช่วยชาติได้ และเป็นโอกาสที่จะนำพาประชาชนฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นพ.ชลน่านระบุ

ซึ่งก็สอดคล้องกับกลุ่มมวลชนนอกสภา ที่เรียกร้องให้พรรคร่วมถอนตัวออกจากรัฐบาล

แม้จะยังไม่เกิดผลในทันที แต่ก็น่าจะเป็น “พลังสะสม” ที่รอให้เกิดเงื่อนไขสุกงอม พลังสะสมก็จะร่วมปะทุขึ้นมาได้

 

ความเคลื่อนไหวนอกสภา อีกประเด็นหนึ่งที่แหลมคม

นั่นก็คือ ความเคลื่อนไหวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ที่เปิดตัวพรรค โดยออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมสนับสนุนลงชื่อให้พรรคไทยสร้างไทย เป็นตัวแทนประชาชน ยื่นฟ้องรัฐบาล

ภายใต้แคมเปญ #ฟ้องรัฐบาลฆาตกร

โดยชี้ว่าการที่รัฐบาลไม่จัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

ไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้จริง

ถือว่ารัฐบาลกำลังกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนในการได้รับวัคซีน รวมทั้งไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อได้จริง และได้โดยเร็วที่สุด รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อันถือเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แต่รัฐบาลดำเนินการไม่ได้ ซึ่งยิ่งรัฐบาลไทยจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพช้าเท่าไหร่ ตัวเลขการเสียชีวิตของประชาชนไทยก็จะมากขึ้นเท่านั้น

ประชาชนไทยจึงมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องท่านได้ตามกฎหมาย

ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทยจึงอาสาเป็นตัวแทนของประชาชน ในการรวบรวมรายชื่อฟ้องรัฐบาลฆาตกร โดยพรรคไทยสร้างไทยจะดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ยื่นฟ้องต่อศาลโดยเร็ว

โดยขอให้ประชาชนเข้าชื่อกันให้ถึง 500,000 รายชื่อ เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องแลเป็นชัยชนะของประชาชนในที่สุด

 

ภาวการณ์ขณะนี้จึงถือว่า กระแสต่อต้านรัฐบาล ได้ก่อตัวขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกสภา

รวมแม้กระทั่งมีการตั้งข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสรุปความบกพร่องไร้ประสิทธิภาพจากกรณีโรคระบาดโควิด-19

และกำลังก้าวไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายต่อศาล เพื่อเอาผิดนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

ถือเป็นการแยกกันเดิน รวมกันตีไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง

ซึ่งหากฝ่ายค้าน-ฝ่ายต้าน สามารถ “บูสเตอร์ โดส” หรือฉีดกระตุ้นวัคซีนที่ต่อต้านอำนาจ “บิ๊กตู่” ให้แรงขึ้นเรื่อยๆ

โอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็มีขึ้นได้

เพราะเงื่อนไขต่างๆ ตอนนี้เอื้อเหลือเกิน