“คนรุ่นใหม่” กับคำถามการมีส่วนร่วมสร้างประชาธิปไตย? : บทเรียนคนเดือนตุลา ถึงรัฐธรรมนูญและการเมืองมอลโดวา

จากงานปาฐกถาหัวข้อ “การเมืองไทยกับสังคม 4.0” จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการอาวุโสและคนเดือนตุลา ได้นำมาสู่ข้อถกเถียงในวงการวิชาการและนักเคลื่อนไหวในเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ “คนรุ่นใหม่” ที่อาจารย์เสกสรรค์ได้ตั้งคำถามไว้ชัดเจนว่าในยุคดิจิตอลปัจจุบันนั้น การเคลื่อนไหวของปัญญาชนและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ขาดการเคลื่อนไหวร่วมมือกับภาคประชาชนและกลไกเชิงสถาบันอย่างพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง

โดยมองว่าการเคลื่อนไหวที่อยู่ในโลกออนไลน์ หรือ “การเมืองคีย์บอร์ด” ที่อาจารย์เห็นว่า

“…ระบบ Facebook ก่อให้เกิดสภาพหนึ่งคน หนึ่งสำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนัก สิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกัน มากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง…”

(ดูปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=HMcdxrmaynw)

จากปาฐกถานี้ ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยที่กำลังทำร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าอยู่เรื่องหนึ่งคือ “การพัฒนาสถาบันการเมืองว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรัฐธรรมนูญ : ศึกษารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบประเทศโคลอมเบีย ตุรกี มอลโดวา และไทย” มองว่าหากเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวในการเมืองโลกก็ถือว่าสอดคล้องกัน ที่ประชาชนคนรุ่นใหม่มีความเชื่อใจต่อสถาบันการเมืองลดลง

ผนวกกับปัญหาของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะการเคลื่อนไหวทางสังคมยุคดิจิตอลที่เป็นแบบแนวราบ “ไร้หัว” เช่น เหตุการณ์ Occupy Wall Street และปรากฏการณ์ Arab Spring เป็นต้น กลับส่งผลทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยิ่งไร้ทิศทางในด้านของการเมืองแบบเป็นทางการ

นำมาสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมสาธารณะกลายเป็นเพียงการชุมนุมที่ไร้จุดหมายและไม่มีข้อเรียกร้องในการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันหรือข้อเสนอเชิงนโยบาย

หรือแย่ที่สุดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมแบบหลัง Arab Spring

ในงานของ Manuel Castells เรื่อง Networks of Outrage and Hope : Social Movements in the Internet Age ชี้ให้เห็นว่าการเมืองในโลกอินเตอร์เน็ตถือว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและโอกาสที่ถูกปราบปรามได้ยากเพราะคุณสามารถเป็นใครก็ได้ในโลกของ Facebook และ Twitter ซึ่งสามารถกัดกร่อนอำนาจรัฐได้

แต่ Castells ย้ำว่าการเคลื่อนไหวในสื่อดิจิตอลจำเป็นต้องร่วมมือกับการเคลื่อนไหวในโลกจริงแบบ “Face-to-Face” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน พรรคการเมือง หรือสถาบันการเมืองอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ปัญหาข้างต้นเกิดมาจากข้อจำกัดในการมองความสัมพันธ์ระหว่าง “การพัฒนาสถาบันการเมือง” และ “กลไกการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ในแง่มุมที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสถาบันการเมือง (Institutionalization) และการพัฒนาประชาธิปไตย (Democratization) เพื่อให้สถาบันการเมืองเข้มแข็งและมีเสถียรภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน

การมีส่วนร่วมทางการเมืองหลายครั้งหากจะต้องการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในเชิงสถาบันและนโยบาย จำเป็นต้องมีการระดมทรัพยากร (resource mobilization) และการจัดตั้งองค์การ (organization) ในการวางยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเสมอ

หรือกล่าวได้ว่าการมีส่วนร่วมสาธารณะ (public participation) เน้นในเรื่องการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ในขณะที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) จะเน้นในเรื่องการพัฒนากลไกเชิงสถาบันสำหรับการตอบปัญหาของประชาชน

หากเมื่อมองเปรียบเทียบกับบทเรียนของการเมืองมอลโดวา ในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศที่มีตัวเลขลำดับประเทศมีการพัฒนาประชาธิปไตยสูงสุดเชิงเปรียบเทียบช่วง ค.ศ.2008-2014 ตามเกณฑ์ Global Democracy Ranking แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่อยู่ท่ามกลางปัญหาในวิกฤตยูเครนและอิทธิพลของรัสเซียกับโรมาเนีย รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจอันเกิดมาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ไม่ติดทะเล (landlock)

แต่กลับสามารถรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ภายใต้ระบบการเมืองแบบรัฐสภา (parliamentary system) ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 1994 เอาไว้ได้ ด้วยการมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้ได้อย่างเหมาะสม

กติกาของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรัฐธรรมนูญมีทั้งเรื่องเสรีภาพในรวมกลุ่มสมาคมสำหรับการเคลื่อนไหวอย่างเสรี โดยสงบและปราศจากอาวุธ (มาตรา 40) เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง และองค์การทางสังคมการเมืองอื่นๆ เพื่อแสดงออกทางการเมือง และมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งภายใต้หลักนิติธรรม (มาตรา 41) สิทธิในการเข้าร่วมสมาคมการค้า และสหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องเป้าหมายตามผลประโยชน์ของอาชีพ เศรษฐกิจ และสังคม (มาตรา 42) เป็นต้น เพื่อให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการสร้างข้อตกลงร่วมกันทางนโยบาย (policy dialogue) ระหว่างนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ภาคประชาสังคม กับเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง

นอกจากนี้ บทบาทของคนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมอลโดวาผ่านสถาบันการเมืองเห็นได้จากกลุ่มสภาเยาวชนแห่งชาติ (the National Youth Council) ในฐานะ NGOs ที่เป็นองค์กรกลางของขบวนการนิสิตนักศึกษาในระดับภูมิภาคกว่า 32 หน่วยงานย่อย ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น (Local Empowerment) การเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองในการจัดทำนโยบายและสิทธิเยาวชน (Youth Policy and Rights) และเข้าไปขับเคลื่อนระดับนานาชาติโดยเป็นสมาชิกของกลุ่มสมาคมเยาวชนยุโรป (the European Youth Forum) ด้วย (ดูเพิ่มใน Jan Vanhee et.al. เรื่อง Youth Policy in Moldova : An International Review หน้า 30-38)

อย่างไรก็ดี สำหรับโลกออนไลน์ มอลโดวาได้นับรวมอยู่ในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (Right to Information) (มาตรา 34) โดยประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะจากภาครัฐและภาครัฐต้องยืนยันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

รวมไปถึงเสรีภาพในการใช้สื่อเพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นอื่นๆ (มาตรา 32)

การมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์จึงมีความสำคัญสำหรับมอลโดวาไม่แพ้กัน เช่น ในการประท้วงในเมืองหลวง Chisinau ปี 2015-2016 เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นและการปะทะกันระหว่างกลุ่มนิยมยุโรปและกลุ่มนิยมรัสเซีย จนสื่อต่างประเทศเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ the Moldovan Maidan ล้อเลียนการประท้วงใหญ่ในยูเครน Euromaidan นั้นเอง

การประท้วงนี้แม้มีการระดมมวลชนนักเคลื่อนไหวผ่าน Facebook และ Twitter แต่ขบวนการเคลื่อนไหวไม่ได้เพียงการสร้างม็อบไร้หัวเท่านั้น แต่ยังการมีส่วนร่วมดังกล่าวได้เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองและเครือข่ายทางการเมืองอย่างใกล้ชิด

โดยฝ่ายนิยมตะวันตกจะอยู่ภายใต้กลุ่มชาติหนึ่งเดียว (National Unity Bloc) ภายใต้การนำของพรรคการเมืองใหม่ชื่อเกียรติยศและความจริง (The Dignity and Truth Platform Party, PPDA)

ในขณะที่ฝ่ายนิยมรัสเซีย จะอยู่ภายใต้การประสานงานกับพรรคสังคมนิยมสาธารณรัฐมอลโดวา (Party of Socialists of the Republic of Moldova)

จากที่กล่าวมาข้างต้น รัฐธรรมนูญและการเมืองมอลโดวาจึงสะท้อนให้เห็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในโลกออนไลน์ที่เน้นในเรื่องของ “ข้อมูลและเครือข่าย” กับสถาบันการเมืองที่เน้นในเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันและนโยบาย” ที่เป็นรูปธรรม บทเรียนนี้จึงสามารถย้อนกลับมาถึง “คนรุ่นใหม่” ที่เริ่มหันมาสนใจการเมือง

ว่าในอนาคตต่อไปทิศทางของการมีส่วนร่วมทางการเมืองควรเป็นเช่นไร และจะเป็นไปได้ไหมหากจะลดความเป็นตัวใครตัวมันในโลกออนไลน์ มาเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันการเมือง