จับตา ‘ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย’ ออกมาท้าชนอิทธิพลจีน/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

จับตา ‘ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย’

ออกมาท้าชนอิทธิพลจีน

 

แม้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แต่การเมืองว่าด้วยพันธมิตรและการสร้างความเป็นมหาอำนาจที่ตกค้างจากยุคสงครามเย็น ยังปรากฏให้เห็น จากการขยายอิทธิพลของจีนที่มากขึ้นรอบพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเล ไปจนถึงข้ามทวีปผ่านยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) รวมถึงความมุ่งมั่นอย่างแข็งกร้าวต่อเกาะไต้หวัน นี่อาจเป็นเป้าหมายของการสร้างความยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวข้องทั้งผลประโยชน์ภายในและภายนอกประเทศ

แต่การขยายตัวของจีนในพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิก ได้กลายเป็นการคุกคามต่อชาติเพื่อนบ้านทั้งใกล้และไกล และเปลี่ยนท่าทีมาต่อต้านอิทธิพลจีน

ล่าสุดชาติในแถบนี้ ได้เผยท่าทีออกมาต่อต้านจีนอย่างชัดเจน นั้นคือญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยแสดงบทบาทที่กลายเป็นพันธมิตรเฉพาะกิจนี้ขึ้น

เพราะการแผ่อำนาจของจีนเผยถึงความกังวลต่อความมั่นคงในอนาคตอันใกล้?

สก๊อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้กล่าวก่อนร่วมประชุมจี 7 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า เขาจะผลักดันแผนส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับชาติกำลังพัฒนา ซึ่งได้กลายเป็นวาระที่ชาติสมาชิกจี 7 ร่วมถกก่อนเห็นชอบร่วมกันในเวลาต่อมา

มอร์ริสันได้ออกมาเตือนชาติกำลังพัฒนาว่ากำลังพาประเทศตัวเองเข้าสู่ “การทูตกับดักหนี้” เมื่อไม่สามารถชำระให้กับผู้ให้กู้อย่างจีนได้ มอร์ริสันได้กล่าวเรียกร้องให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบี ให้ทางเลือกที่น่าดึงดูดและเอื้ออาทรมากกว่า

คำกล่าวของมอร์ริสันนี้ เกิดขึ้นไม่นานหลังปฏิเสธข้อตกลง 2 โครงการภายใต้แผน BRI ด้วยเหตุผลที่จะส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของออสเตรเลีย จากนั้นในวันเดียวกัน มอร์ริสันออกมาวิจารณ์ยุทธศาสตร์จีน ไม่นานญี่ปุ่นประกาศตัวสนับสนุนออสเตรเลีย นำไปสู่การประชุมทวิภาคีออนไลน์ระหว่าง โทชิมิทสึ โมเตงิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น มาเรีย เพนน์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย และปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย

ทั้ง 4 รัฐมนตรีกล่าวหลังประชุมว่า เราขอแสดงจุดยืนตรงข้ามพฤติกรรมบีบบังคับและบั่นทอนเสถียรภาพด้วยวิธีทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้บ่อนทำลายระบบการเมืองระหว่างประเทศ

แม้มอร์ริสันจะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงยุทธศาสตร์ BRI ตรงๆ แต่การที่กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐาน (ที่ชาติกำลังพัฒนาได้รับจากจีน) ขาดมาตรฐานอย่างเหมาะสม หรือแม้แต่แพงเกินไป ชาติเหล่านี้ควรได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและตรงความต้องการ

ตามข้อมูลของศูนย์การพัฒนาโลกของสหรัฐฯ พบว่ามีถึง 8 ชาติ ได้แก่ จิบูตี, มัลดีฟส์, สปป.ลาว, มอนเตเนโก, มองโกเลีย, ทาร์จิกิสถาน, คีร์กีซสถาน และปากีสถาน เผชิญความเสี่ยงตกเป็นหนี้สูง

ออสเตรเลีย นับเป็นชาติที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของจีนทั้งเศรษฐกิจและประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการล่วงละเมิดชาวอุยกูร์และการคุกคามฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง

ไม่นับถึงกรณีที่เป็นชาติต้นๆ ที่เรียกร้องให้มีการสืบสวนต้นตอการระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงมีคำถามต่อศูนย์ไวรัสวิทยาอู่ฮั่นและเมืองที่เป็นจุดเริ่มแรกของการระบาดที่ทำให้โลกต้องเผชิญหายนะอยู่ในขณะนี้

ล่าสุดในการประชุมจี 7 ได้ประกาศแผนให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานกับชาติกำลังพัฒนาในชื่อ “The Build Back Better World Initiative” โดยเน้นความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นการออกมาชนกับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจอย่าง BRI ของจีน

ที่สำคัญ 2 ชาติสมาชิกอย่างญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ได้จับมือออกมาปกป้องไต้หวันที่สุ่มเสี่ยงถูกรุกรานจากจีน และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน และพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก

 

มาถึงญี่ปุ่น ถือว่าไม่บ่อยนักที่จะเป็นฝ่ายออกตัวก่อน แต่พฤติการณ์คุกคามไต้หวันของจีนหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเวลาต้องส่งเสียงดัง ล่าสุดสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (7 กรกฎาคม 2564) ว่า ทาโร่ อาโซะ รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า หากจีนใช้กำลังใจเข้ายึดไต้หวัน จะเป็นชนวนดึงญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ได้ และถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะต้องร่วมกันปกป้องไต้หวัน

ท่าทีดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า ญี่ปุ่นเกี่ยวอะไรกับเรื่องไต้หวันนี้ด้วย?

ย้อนกลับไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา ซึกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น บินไปพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือทวิภาคี หนึ่งในนั้นคือ การร่วมมือของ 2 รัฐบาลเพื่อรักษาความมั่นคงไต้หวันให้รอดจากการรุกรานของจีน

รวมถึงก่อนหน้านี้ คิชิ โนบูโอะ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ความมั่นคงของไต้หวันเกี่ยวข้องโดยตรงกับญี่ปุ่น โดยการประเมินความเข้มแข็งทางทหารที่จีนมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สมดุลในแถบไต้หวันโน้มไปทางจีน และหากไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน จะทำให้บริเวณช่องแคบลูซอน ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงเชื้อเพลิงไปยังญี่ปุ่น อยู่ในความเสี่ยงต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ

รองนายกฯ อาโซะกล่าวกับเกียวโดอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องออกมาร่วมปกป้องตัวเอง หรือการเข้าไปช่วยชาติพันธมิตรหากถูกโจมตี

“เรากำลังคิดหนักว่า (หากไต้หวันถูกจีนยึดได้) หมู่เกาะโอกินาวาจะเป็นเป้าหมายต่อไป”