เปิด 5 มาตรการ เข้มเท่าเม.ย.ปี63 ยอมใช้แรพิดเทสต์ช่วยตรวจ-ป่วยน้อยอยู่บ้าน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงมาตรการควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด ภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ อีโอซี เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิดที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ล่าสุด สธ.ได้พิจารณาหามาตรการเพื่อควบคุมโรคมากยิ่งขึ้น โดยออกมาตรการ ประกอบด้วย 1.การใช้ Rapid Antigen test เดิมการตรวจเชื้อจะใช้วิธี RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการและใช้เวลาในการรอผลตรวจนาน ยิ่งคนมาตรวจมากการรออาจต้องข้ามวัน จึงมีการตกลงกันว่า จะใช้ Rapid Antigen test สนับสนุนการตรวจ ซึ่งรอผลได้เลย ใช้เวลาไม่นาน แต่ให้ใช้เฉพาะสถานพยาบาลที่มีการขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น

โดยให้ตรวจแอนติเจนเทส หลักๆ ใช้บุคลากรทางการแพทย์ช่วย หรือผู้ป่วยสามารถดำเนินการเอง แต่ต้องทำในรพ. ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยหากสถานพยาบาลไหนพร้อมดำเนินการได้ทันที เพื่อลดจำนวนการรอการตรวจ โดยหากผลเป็นลบก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากผลเป็นบวกก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพื่อความแม่นยำ และหากเป็นบวกก็เข้าสู่ระบบการรักษาแยกตามกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เหลือง แดง

“ต่อไปทาง สธ.ก็พยายามทำชุดตรวจแบบตรวจเองที่บ้าน (Home Use) แต่ตอนนี้ยังไม่มี เพราะต้องมีการวางระบบมารองรับ ตรงนี้จะเป็นระยะต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

2.การดำเนินการแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation & Community Isolation) หรือ HI และ CI ในผู้ป่วยโควิดสีเขียว โดยจัดระบบสาธารณสุขเข้าไปดูแลติดตามอาการมาก เช่น คนไข้สีเหลืองหรือมีความเสี่ยงจะรับไว้ใน รพ. และดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยร่วมกับ สปสช.ทำการดูแลเป็นครอบครัว ลดเกณฑ์เรื่องต้องอยู่คนเดียวลง ให้ดูแลเป็นครอบครัว และให้เครื่องมือในการตรวจตนเอง เช่น วัดไข้ วัดออกซิเจน และการรายงานข้อมูล

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รักษาใน รพ.วันที่ 10 หรือสั้นกว่านั้นอาจจะให้กลับไปใช้ HI ต่อไป เพื่อลดปริมาณการใช้เตียง ให้คนมีความเสี่ยงหรือจำเป็นอยู่ในรพ. เข้าสู่ รพ.ได้ต่อไป รวมทั้งการจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหาสถานที่เพิ่มเตียงในการดูแลรักษาพยาบาล ทั้งนี้ จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ดูแลเป็นครอบครัว โดยจะลดเกณฑ์การดูแลคนเดียวลง

3.เน้นมาตรการบุคคลต่างๆ อย่างเข้มงวด เพราะตอนนี้มีความกระจาย โดยต้องเน้นสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ โดยที่ทำงานก็ต้องระวัง อย่ารับประทานอาหารร่วมกัน ที่บ้านก็เช่นกัน ขอให้ต่างคนต่างรับประทานอาหาร และขอให้ Work From Home มากขึ้น

4.เรื่องวัคซีน จะทำการเร่งฉีดพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยจะใช้วัคซีนที่มีไม่ต่ำกว่า 80% ฉีดคนกลุ่มนี้ก่อน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑลจะเร่งฉีดภายใน 1-2 สัปดาห์ ให้มากกว่าล้านโดสขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ กทม.ฉีดประมาณ 4 ล้านโดส ถ้าทำได้ก็จะครอบคลุมได้มากกว่า 50% โดย สธ.จะระดมบุคลากรเข้าไปช่วย กทม.ในการฉีดวัคซีน ช่วงสิ้นเดือนก็น่าจะได้ถึง 60%

5. สธ.จะเสนอ ศปก.ศบค. เรื่องการจำกัดการเดินทาง อยากให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยจะเสนอห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และให้ปิดสถานที่มีความเสี่ยงทั้งหมด อย่างสถานที่รวมกลุ่มคนไม่จำเป็น แต่ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นสถานที่จำเป็นยังเปิดได้ โดยมาตรการนี้จะใช้ในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเสนอ ศบค.ชุดเล็กในวันนี้ และจะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป เพื่อลดการระบาดของโควิดในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และผ่านการระบาดนี้ไปได้อย่างดี

เมื่อถามว่า กรณีการจำกัดการเดินทางเรียกว่า ล็อกดาวน์ได้หรือไม่ นพ.เกียรติภูเมิ กล่าวว่า เราเสนอจำกัดพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน ส่วนจะเรียกว่าอะไรนั้น เนื้อหาหลักๆ คือ การจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็น กิจการที่เสี่ยง

เมื่อถามว่าบอกพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนได้หรือไม่ และการจำกัดการเดินทางนั้นเป็นการห้ามออกนอกเคหะสถานทั้งวันหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราเสนอเป็นหลักการเรื่องของการจำกัดการเดินทาง ซึ่ง ศบค.จะพิจารณาพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน ส่วนความเข้มข้นของมาตรการก็จะไม่น้อยไปกว่าตอนทำเมื่อช่วง เม.ย. 2563 ซึ่งการจำกัดการเดินทางและปิดสถานที่เสี่ยงพื้นที่สีแดง อาจทำให้คนเดินทางออกไปอีกที่หนึ่งและเกิดการแพร่ระบาดได้ เราจึงใช้ระบบกันชนในการควบคุมโรค ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลดี การเดินทางข้ามจังหวัดจะทำได้ยาก

เมื่อถามว่า สธ.ประเมินมาตรการหรือไม่ว่าการติดเชื้อจะลดลงมาเท่าไรจึงอยู่ในระดับรับได้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมมาตรการจะใช้เวลา 14 วัน ตามระยะการฟักตัวของโรค ซึ่งมาตรการความเข้มข้นไม่ต่ำกว่าตอนเม.ย. 63 และเมื่อมีมาตรการวัคซีนเสริมเข้าไป และถ้ารับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดี ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลงได้