อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (20) “เจ้าชายน้อย”

 

In Books We Trust (20)

 

ในบางวันที่คุณเกียจคร้าน คุณนั่งลงที่มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา คุณอาจยังมีวัยเยาว์ที่ความชรายังไม่มาเยือน หรือคุณอาจอยู่ในบั้นปลายของชีวิตที่เหลือเวลาอีกไม่มากนัก นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ

สิ่งสำคัญคือคุณพบว่ามีบางสิ่งที่คุณอยากทบทวนในเรื่องราวที่ผ่านมา การเรียน การงาน ไปจนถึงความสัมพันธ์

คุณทบทวนสิ่งเหล่านั้นทีละอย่าง ทีละเรื่อง ก่อนจะเคลื่อนย้ายความคิดสู่สิ่งของและวัตถุ

คุณนึกถึงกีฬาที่โปรดปราน ภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ คุณคิดถึงสิ่งเหล่านั้นและแล้วคุณก็เริ่มต้นคิดถึงหนังสือ

คุณนึกถึงหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตคุณ

เราทุกคนล้วนมีหนังสือในดวงใจ บางคนนึกถึงหนังสือที่ทำให้เรายอมอดหลับอดนอนเพื่อจบเรื่องราวของมัน

บางคนนึกถึงหนังสือที่ต้องอดออมนานนับเดือนเพื่อได้มันมาเป็นเจ้าของ

บางคนนึกถึงหนังสือที่ได้รับจากมือของคนรัก หนังสือในดวงใจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล มันอาจให้ความสุขหรือมันอาจให้ความหวัง มันอาจสร้างความอาลัย หรือมันอาจทำให้เราจมอยู่กับความทรงจำ

หนังสือแม้เป็นเพียงวัตถุแต่ผลกระทบของมันมากมายกว่านั้น

 

หากผมจะมีวันเวลาเหล่านั้นที่นั่งทบทวนถึงบางสิ่ง หากผมจะมีวันเวลาเหล่านั้นที่นั่งทบทวนถึงสิ่งที่เรียกว่าหนังสือ ผมพบว่ามีหนังสือสามเล่มที่มีอิทธิพลต่อผม มีหนังสือสามเล่มที่เปลี่ยนชีวิตผมไป

หนังสือเล่มแรกปรากฏตัวบนปกหลังของนิตยสารสำหรับเด็กที่มีชื่อว่า “ชัยพฤกษ์ฉบับการ์ตูน”

นิตยสารดังกล่าวนอกจากจะมีการ์ตูนจากฝีมือของน้ารงค์ หรือ ณรงค์ ประภาสะโนบล นักเขียนการ์ตูนชั้นครูแล้ว ยังมีบทความและความรู้มากมายสอดแทรกอยู่ในเล่มด้วย

นิตยสารดังกล่าวปรากฏตนอยู่ที่ห้องสมุดประจำโรงเรียนของผม ในวันแรกที่นิตยสารเล่มนี้มาถึง เด็กในโรงเรียนจะผลัดกันอ่านแบบไม่วางมือจนเกือบหมดเดือน และนิตยสารฉบับใหม่ใกล้จะมาถึงที่มันจะถูกวางไว้อย่างยับเยินในมุมของมัน

บ่ายวันนั้น ผมหยิบนิตยสารฉบับยับเยินดังกล่าวอ่านมันไปถึงปกอ่อนยู่ยี่ด้านหลังที่พบโฆษณาหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “เจ้าชายน้อย”

หนังสือเล่มนั้นประกาศวางขายให้ได้จับจองกันโดยมีชื่อของผู้แปลคือ อำภา โอตระกูล และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “ไทยวัฒนาพานิช” ผู้เป็นเจ้าของนิตยสาร “ชัยพฤกษ์ฉบับการ์ตูน” นั่นเอง

ผมจดวิธีการสั่งซื้อหนังสือ (ในยุคนั้นคือการซื้อธนาณัติอันเป็นสิ่งที่ผมทำไม่เป็น) มามอบให้ปู่

ปู่ผู้เป็นคนที่หลงใหลในหนังสืออย่างยิ่ง

แม้ว่าปู่จะเป็นข้าราชการในกรมทางหลวงซึ่งข้องเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรมมากกว่างานด้านตัวอักษร แต่ปู่แทบจะใช้เวลาว่างทั้งหมดกับการอ่านหนังสือ

ทุกสองอาทิตย์ปู่จะไปยังร้านหนังสือเจ้าประจำและหอบทั้งนิตยสารและหนังสือจำนวนมากกลับมาที่บ้าน

การเดินทางของปู่ผู้ไม่มีรถส่วนตัวย่อมหมายถึงการหอบหนังสือเหล่านั้นขึ้นรถประจำทางสองถึงสามทอดก่อนจะถึงที่หมาย

หากไม่เป็นในสิ่งที่ชอบหรือรักแล้ว ผมนึกถึงการแบกสิ่งเหล่านั้นอย่างอดทนในระยะทางไกลไม่ได้เลย

ปู่รับรายชื่อหนังสือดังกล่าวจากผมพร้อมกับให้คำมั่นแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าปู่จะลองสั่งดู แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ไหม และหากไม่ได้เช่นนั้นปู่บอกว่าปู่จะเดินทางไปซื้อหนังสือเล่มนี้ที่สำนักพิมพ์ด้วยตนเอง

โชคดีที่หนังสือเล่มนั้นผ่านมาทางไปรษณีย์ได้สำเร็จและปู่ไม่ต้องไปยังโรงพิมพ์

 

ผมแกะซองกระดาษที่ใส่หนังสือ (ในยุคนั้นพลาสติกยังเป็นสิ่งแปลกปลอม ถุงกระดาษลายหมากฮอสและมีคำว่าโชคดียังเป็นบรรจุภัณฑ์ทั่วไป) หยิบหนังสือเล่มบางขึ้นพลิกดู ในตอนแรกผมคิดว่า “เจ้าชายน้อย” ควรมีขนาดหนากว่านั้น แต่ปรากฏว่าหนังสือเล่มดังกล่าวมีจำนวนหน้าไม่มากนัก

ผมผู้ที่เติบโตมากับนิทานกริมม์ นิทานของแอนเดอร์สัน รู้สึกผิดหวังในตอนต้น

แต่ภาพวาดของเด็กชายผมทองที่หน้าปกทำให้ผมนอนอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวนับแต่คืนแรกที่ได้มันมา

เรื่องราวใน “เจ้าชายน้อย” ไม่ได้ดำเนินไปดังนิทานดังที่ชื่อเรื่องของมันโน้มน้าวเรา ไม่มีเจ้าหญิง ไม่มียักษ์ ไม่มีเวทมนตร์คาถา ตัวละครในเรื่องมีเพียงดอกกุหลาบ สุนัขจิ้งจอก และเด็กน้อยผมสีทองที่อาศัยอยู่บนดาวดวงเล็ก

แม้แต่การขึ้นต้นเรื่องก็ช่างแปลกประหลาด รูปวาดด้วยเส้นไม่กี่เส้นที่ชวนให้ถกเถียงว่ามันคือรูปหมวกหรือรูปของงูที่กลืนช้างเข้าไปกันแน่

รายละเอียดเช่นนี้ช่างแตกต่างจากความคุ้นเคยในเรื่องเล่าที่ผมเคยอ่านมา

มันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และข้อความที่ชวนให้งุนงง อะไรหรือคือ “สิ่งไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” อะไรหรือคือ “ความคุ้นเคยที่ทำให้เราผูกสัมพันธ์กัน”

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผมสรุปได้ด้วยตนเองว่านี่เป็นนิทานที่ผู้แต่งแต่งได้ไม่ชวนอ่านเอาเสียเลย

หนึ่งปีผ่าน ผมลืมหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ไปเสียสิ้น

 

ผมเติบโตขึ้น เปลี่ยนชั้นเรียน ใบหน้าเริ่มมีหนวดเครา เสียงแตก และมองโลกด้วยสายตาของการเข้าสู่วัยรุ่น

คืนนั้นผมค้นหนังสือบางเล่มเพื่อทำรายงานวิชาประวัติศาสตร์ก่อนจะพบหนังสือเจ้าชายน้อยถูกซุกอยู่ด้านในสุดของชั้นหนังสือ

บางสิ่งดลใจให้ผมหยิบมันขึ้นอ่านอีกครั้ง

ในครานี้แม้ว่าผมจะไม่ใส่ใจว่าโครงเรื่องของมันเป็นดังนิทาน ในครานี้ผมพบว่าผมเริ่มเข้าใจอะไรบางสิ่งในหนังสือเล่มนี้

และก็ในครานี้อีกเช่นกันที่ผมพบว่ายังมีอีกหลายส่วนในหนังสือที่ผมเข้าไม่ถึงมัน

อะไรหรือที่ดูเป็นสิ่งยากเกินไปสำหรับเด็กคนหนึ่ง?

ในฐานะของนิทาน เรามักพบว่ามันจำต้องมีบทสรุปบางอย่างเสมอ (โดยเฉพาะนิทานคำสอนอย่างนิทานอีสปหรือนิทานพระเจ้าสิบชาติหรือนิทานเวตาล)

แต่สำหรับ “เจ้าชายน้อย” แม้หลายส่วนในมันจะมีความเป็นนิทาน เป็นเทพนิยาย แต่มันกลับปราศจากบทสรุป

ไม่มีเรื่องราวเล่าซ้อนว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นได้กลับชาติไปเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตใดหรือดอกกุหลาบดอกนั้นที่เจ้าชายน้อยทะนุถนอมดูแลจะเป็นเจ้าหญิงที่ถูกสาปมา ไม่มีเรื่องราวดังกล่าว

เจ้าชายน้อยดูจะเต็มไปด้วยสิ่งที่ผมเรียกว่า “แง่คิด” ซึ่งแน่นอนว่ามันพ้นไปจากความคิดคำนึงในวัยนั้นของผม

 

อีกหนึ่งปีถัดมา หนังสือ “เจ้าชายน้อย” ดูเป็นหนังสือที่ปราศจากความน่าสนใจใดๆ เรามีหนังสือมากมายในโลกเกินกว่าจะมาอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเก็บเจ้าชายน้อยใส่กล่อง และทุ่มเทความสนใจกับนิตยสารด้านฟุตบอลที่ดูน่าดึงดูดใจมากกว่าอย่าง “สตาร์ซอคเก้อร์ หรือชู้ตโกล” ไม่มีความจำเป็นที่จะไปรื้อฟื้นเรื่องราวของคนที่หันเก้าอี้เพื่อรอชมพระอาทิตย์ตลอดวันเช่นนั้น บุคคลเช่นนั้นช่างเป็นคนน่าเบื่อเสียนี่กระไร

ทว่าหนังสือบางเล่มดูเหมือนจะมีที่ทางของมัน หนังสือบางเล่มดูเหมือนจะมีชีวิตของมัน ในขณะที่หนังสือ “เจ้าชายน้อย” ถูกผมผลักไสไปสู่ห้วงเหวลึกแห่งการไม่ใส่ใจ หนังสือเล่มหนึ่งกลับฉุดรั้งมันกลับคืนมา

คืนหนึ่ง ปู่กลับบ้านในยามค่ำหลังงานเลี้ยง ผมเป็นคนเปิดประตูบ้านให้ปู่ในคืนนั้น หลังถอดรองเท้าและถุงเท้าจัดวางในที่ทางของมัน ปู่ยื่นซองกระดาษสีน้ำตาลให้ผม “ปู่ได้หนังสือเล่มหนึ่งมาจากงานเลี้ยง ลองเอาไปอ่านดูเผื่อจะชอบ” ปู่พูดเพียงเท่านั้น

ผมเปิดซองกระดาษขึ้น ข้างในเป็นหนังสือเล่มบางพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามรัฐ ผมรู้ดีว่าปู่มีเพื่อนสนิททำงานที่นั่น ปู่รับนิตยสาร “สยามรัฐรายสัปดาห์” เป็นประจำ และปู่เป็นคนชื่นชอบหนังสือทุกเล่มของอาจารย์หม่อม หรือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือของอาจารย์หม่อมที่เป็นเล่มโปรดของปู่คือ “พม่าเสียเมือง”

หนังสือเล่มที่ปู่ยื่นให้ผมเป็นหนังสือของอาจารย์หม่อมอีกเช่นกัน หากแต่มันกลับเป็นหนังสือแปลที่มีชื่อบนปกว่า “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล”