ดร.นก : ‘วิกฤตนี้ยาวกว่าที่คาด ท้าทายกว่าที่คิด’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ดร.นก

: ‘วิกฤตนี้ยาวกว่าที่คาด ท้าทายกว่าที่คิด’

 

ผมเคยคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ “ดร.นก” หลังรับตำแหน่งไม่นาน

ได้ข้อคิดและแนวทางการทำงานของนายแบงก์ธนาคารกลางคนนี้หลายเรื่อง

เคยเห็นท่านในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ถูกเชิญกลับมาทำงานตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

เป็นการสนทนาร่วมกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ในวงเสวนาว่าด้วยการแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในครั้งนั้น

พอมารับตำแหน่ง “นายธนาคารกลาง” ครั้งนี้ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เห็นเลยว่ามันหนักกว่าที่คิด

ท่านบอกนิตยสาร “พระสยาม” แบงก์ชาติที่เพิ่งเผยแพร่ว่า

“ตอนที่ตัดสินใจมาสมัครรับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ผมรู้อยู่แล้วว่าวิกฤตครั้งนี้หนักและท้าทาย แต่ยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ยาวกว่าที่คาด และท้าทายกว่าที่คิด…”

หลายบทหลายตอนในการให้สัมภาษณ์กับ “พระสยาม” ตรงกับที่ผมอยากรู้หลายเรื่อง

ผมอยากรู้ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบนโยบายการเงินในสถานการณ์ที่ประเมินว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นนั้นมันยากเย็นเพียงใด

ดร.นกกล่าวไว้แบบตรงไปตรงมาเลยว่า

“ประสบการณ์ทำงานอะไรที่เคยมี ตอนนี้ก็ควักออกมาใช้หมด”

ควักออกมาใช้หมดแล้วพอหรือไม่? ผมอยากรู้ต่อ

มันไม่ง่ายอย่างที่คิด

เพราะมีเรื่อง “ความคาดหวังของประชาชน” ที่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์

“หนึ่งในความท้าทายและเป็นความกังวลของผมด้วย คือการจัดการความคาดหวังของคน…”

ตอนออกมาตรการฟื้นฟูฯ ทุกธุรกิจคาดหวังว่าจะต้องเข้าถึงสินเชื่อ

พอปล่อยสินเชื่อแล้ว ผู้คนก็คาดหวังว่ามาตรการจะคืบหน้าจนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

แต่ความจริงคือการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้จะไม่เร็ว

แค่เรื่องบริหารการแบ่งภาคตัวเองประชุมงานประจำกับงานเร่งด่วนเพราะวิกฤตก็สร้างความปวดหัวพอสมควร

“ฟังดูเป็นความท้าทายเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นอะไรที่ปวดหัวพอสมควร เพราะขณะที่ผมรู้สึกว่า ผมมาทำงานที่ ธปท.เพราะต้องการมาช่วยแก้วิกฤต มันมี sense of urgency อยู่ แต่งานประจำที่ต้องทำร่วมกับคณะทำงาน ทั้งภายใน ธปท. และหน่วยงานภายนอก กลับใช้เวลาและดูดพลังไปเยอะมาก…”

ไหนต้องทำ ‘งานหางเสือ’ ซึ่งเป็นงานที่ ธปท.ต้องกำหนดเป้าหมายเอง จะปล่อยให้ไหลตามกระแสไม่ได้

และหนึ่งในงานหางเสือ ได้แก่ การออกมาตรการและผลักดันให้มาตรการบรรลุผล

 

ดร.นกพูดถึงการผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นเอกภาพและบูรณาการ โดยเฉพาะภายใต้ภาวะวิกฤต ที่จำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือภายในสายงานต่างๆ ของ ธปท.เอง และการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก

“ขณะที่การทำงานแก้วิกฤตต้องอาศัยการผนึกกำลังร่วมกันทำงานข้ามสายงานเป็น ONE BOT แต่อาจไม่ง่ายสำหรับวัฒนธรรมของ ธปท.ที่ทำงานตามสายงาน…”

แต่งานแก้วิกฤตมีความเร่งด่วน รอไม่ได้

“นี่จึงเป็นอีกความท้าทาย แต่ที่สุดของความท้าทายคือ การทำงานร่วมกับสารพัดหน่วยงานเพื่อออกมาตรการ โดยที่ยังสามารถประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายได้อย่างสมดุล และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ”

ผมชอบที่ ดร.นกบอกว่าคนแบงก์ชาติ ‘ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น’

“ผมพยายามปลอบใจตัวเองว่าหน้าที่ของคนแบงก์ชาติ คือ เขาจ้างมาให้เรากังวล เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ต้องกังวลมากเพราะโดยหน้าที่เรากังวลและระแวงแทนคนอื่นไปแล้ว”

 

ดร.เศรษฐพุฒิมองว่าอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาที่จะสร้างความกังวลใจใหญ่หลวงไม่แพ้กับปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้ นั่นคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการปะทุหลังวิกฤตคราวนี้คลี่คลาย

จัดลำดับ “ความกังวล” อย่างไร?

เรื่องแรกเลยความเร็วในการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้เท่าทันกับการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะเป็นทางเดียวในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด และนำพาเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวกลับมา

ที่ผมเห็นว่าเป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมามากคือที่ ดร.นกยอมรับว่า

“จะว่าไปแล้ว มาตรการทางการเงินและมาตรการต่างๆ ก็เป็นแค่การซื้อเวลา เหมือนกับการพยุงอาการคนไข้เพื่อรอวันที่คนไข้จะฟื้นตัวกลับมาเอง…”

นั่นแปลว่าท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่คนต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ

สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าการท่องเที่ยวไม่กลับมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็กลับมาได้ลำบาก

เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มีสัดส่วน 11-12% ของ GDP แต่เป็น 20% ของการจ้างงานด้วย ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา รายได้ของคนก็ไม่กลับมา ต่อให้เรายืดหนี้ ลดต้นลดดอก ลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้

การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน

 

“กังวล” ข้อต่อไปคือจะมีวัคซีนพอฉีดไหม

ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้แค่ไหน

การกระจายการฉีดเร็วพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่สายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อวัคซีนจะระบาดไหม

คนพร้อมจะฉีดด้วยไหม ฯลฯ

การหยุดวิกฤตนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน

“ไม่เช่นนั้น ก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่-ล็อกดาวน์-รัฐเยียวยา-เริ่มมาตรการฟื้นฟู-การ์ดตก-ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น”

หนีไม่พ้นว่าวิกฤตครั้งนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป

ไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นรองรับ

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่จะชี้ชะตาความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

อีก “ความกังวลใหญ่” คือเรื่องภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม

“ฉะนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรวางแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ หากธุรกิจมีหนี้ ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับโครงสร้างหนี้ และหาสภาพคล่องเพื่อมาปรับรูปแบบหรือโครงสร้างธุรกิจรองรับกับการทำธุรกิจยุค new normal”

“ความกังวลใหญ่” อีกเรื่องคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ

ผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็น “ตัวฉุด” การฟื้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา

ดร.นกสารภาพว่า เป็นคน “ขี้กังวล” โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

“โดยธรรมชาติ ผมเองก็เป็นคนขี้กังวลอยู่แล้ว มาทำงานที่นี่มีข้อดีคือพอเจอกับสถานการณ์ที่ต้องคิดหนักคิดมาก ก็รู้จักที่จะบังคับตัวเองให้หยุด ไม่อย่างนั้นจะไม่ไหว ก็เลยได้ปรับตัวและปรับปรุงตัว”

น่าสนใจที่ ดร. นกยังพยายามจะมีชีวิตส่วนตัวในภาวะที่ปัญหารุ้มเร้ามากมาย

“ผมจะมี ‘me-time’ ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นช่วงเวลา cool down และ shut down อยู่กับตัวเอง ไม่คุยกับใคร อ่านหนังสือ หรือไม่ก็ฟัง audio book เป็นหนังสืออะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ พอคิดถึงชั่วโมง me-time ก็ทำให้ระหว่างวันเรามีพลังในการทำงาน”

ผมเดาเองว่า เผลอๆ ชั่วโมง “เวลาส่วนตัว” ของ ดร.นกอาจจะเป็นช่วงเวลาที่คิดอะไรๆ เจ๋งๆ ได้มากกว่าเวลาต้องประชุมกับใครต่อใครตลอดทั้งวันก็เป็นไปได้