เปิดผลงาน “บิ๊กโจ๊ก” รีเทิร์นสีกากี ประเดิมโชว์ผลสำรวจ ‘พีเพิลโพล’ เร่งเก็บแต้มเข้าไลน์หลัก ผช.ผบ.ตร./โล่เงิน

โล่เงิน

 

เปิดผลงาน “บิ๊กโจ๊ก” รีเทิร์นสีกากี

ประเดิมโชว์ผลสำรวจ ‘พีเพิลโพล’

เร่งเก็บแต้มเข้าไลน์หลัก ผช.ผบ.ตร.

ไฟสปอตไลต์สาดส่อง “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อีกครั้ง นับตั้งแต่หวนคืนถิ่นสีกากี นั่งเก้าอี้ “ที่ปรึกษา (สบ9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)” แม้ต้องเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิตนานกว่า 2 ปี หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งเด้งพ้นเก้าอี้ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง)

ห้วงเวลา 4 เดือนรีเทิร์นถิ่นเก่า หลายคนต่างจับตานายพลหนุ่ม จะมีผลงานโดดเด่นมากน้อยแค่ไหน

หลังจากบิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้บิ๊กโจ๊กเป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วย ผบ.ตร.

ได้เปิดใจถึงช่วงเวลา 2 ปีที่หายไปว่า เพื่อนและลูกน้องหายเกือบหมด เหลือไม่กี่คนที่อยู่เคียงข้าง ถือเป็นสัจธรรม ไม่ได้ยึดติดอะไร ไม่เคยตำหนิเพื่อน เพราะเข้าใจ เขาอาจจะมีความจำเป็น

ทุกวันนี้ก็ไม่ได้คาดหวัง การช่วยคนอื่นเพราะตั้งใจช่วย ไม่ได้หวังผลตอบแทน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พร้อมที่จะเกษียณตลอดเวลา

และชี้แจงการฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี ว่า ทำไปเพื่อเป็นการรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรี ธรรมชาติของการเป็นข้าราชการของแผ่นดิน การรักษาเกียรติของข้าราชการ มีไม่กี่วิธี เพราะฉะนั้น การฟ้องไม่ได้หมายความว่าจะโกรธเคืองอะไรนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาถอดบทเรียนจาก 2 ปีที่ผ่านมาว่า

“สิ่งที่จะไม่ทำคือการทำงานที่รวดเร็ว ขาดหลักกฎหมาย บางครั้งมันทำให้เสียหาย สิ่งที่นำมาปรับใช้คือการทำงานที่รวดเร็วเหมือนกัน เพราะประชาชนทั้งประเทศรออยู่ แต่จะทำด้วยความรอบคอบ มีหลักกฎหมายที่แม่นยำ”

 

ผลงานเปิดตัว “บิ๊กโจ๊ก” ชิ้นแรก ในฐานะรองหัวหน้าคณะทํางานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตร. ทําการสํารวจความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทํางานของตํารวจ ตามตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ชาติ ดัชนี WORLD INTERNAL SECURITY AND POLICE INDEX : WISPI หรือพีเพิลโพล (PEOPLE POLL)

ซึ่งได้กําหนดเป้าหมายในเชิงคุณภาพเอาไว้คือ ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนในพื้นที่ ต้องไม่เกินร้อยละ 40 และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทํางานของตํารวจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

การขับเคลื่อนตัวชี้วัดตามดัชนี WISPI นั้น จะส่งผลต่อการจัดลําดับตํารวจโลก ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้กําหนดเป้าหมายเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องผ่านเกณฑ์ลําดับไม่เกินที่ 55 ของโลก

เริ่มสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านกูเกิลฟอร์ม ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 หัวข้อแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 4 ด้าน 22 ข้อ ประกอบด้วย

1. ข้อมูลส่วนตัวของผู้กรอก

2. ข้อมูลด้านความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม

3. ข้อมูลด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทํางานของตํารวจ

4. ข้อมูลด้านความพึงพอใจของประชาชนผู้มาติดต่อราชการบนสถานีตํารวจ

 

25 มิถุนายน 2564 บิ๊กโจ๊กได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่องความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจ ผ่านพีเพิลโพล เดือนแรก จากกลุ่มประชากร 200,645 คน จากสถานีตำรวจทั่วประเทศ รวม 1,484 แห่ง จำแนกเป็นเพศชาย 49.1% เพศหญิง 50.9% ช่วงอายุที่ตอบแบบสอบถามมากที่สุด 20-49 ปี พบว่า

ผลสำรวจหัวข้อ “ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมต่อชีวิต ร่างกาย และเพศ” ประชาชนหวาดกลัวภัยในเรื่องการทำร้ายร่างกายมากที่สุด ร้อยละ 52.94 รองลงมาคือการถูกฆ่า ร้อยละ 38.86 และอันดับที่สาม ภัยยาเสพติด ร้อยละ 31.12

ต่อมาเป็นผลสำรวจหัวข้อความหวาดกลัวภัยต่อทรัพย์สิน ประชาชนหวาดกลัวเรื่องการลักทรัพย์มากที่สุด ร้อยละ 63.64 รองลงมาคือชิงทรัพย์ ร้อยละ 50.76 และอันดับที่สาม การวิ่งราวทรัพย์ ร้อยละ 31.18

และผลสำรวจหัวข้อความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมสมัยใหม่ ประชาชนหวาดกลัวเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากที่สุด ร้อยละ 53.76 รองลงมาคือการหลอกลวงซื้อของออนไลน์ ร้อยละ 44.70 และอันดับที่สาม การพนันออนไลน์ ร้อยละ 42.04

สำหรับผลสำรวจ “ความพึงพอใจของประชาชนที่ขึ้นมาใช้บริการภายในสถานีตำรวจ” ใช้เกณฑ์ร้อยละ 70 โดยทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศผ่านเกณฑ์หมด แต่ผ่านเกณฑ์แบบปริ่มๆ ร้อยละ 74-76

และ “ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ใช้เกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ในภาพรวมทั้งประเทศ ประชาชนมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 67.5 โดยในระดับกองบัญชาการที่ประชาชนมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 70 ได้แก่ บช.น., ภ.2, ภ.3, ภ.4, ภ.6, ภ.7 และเชื่อมั่นร้อยละ 67.5 ได้แก่ ภ.1, ภ.5, ภ.8, ภ.9 ในระดับ บก.น./ภ.จว. รวม 85 หน่วย/จังหวัด ไม่มีหน่วย/จังหวัด ที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80

และในระดับสถานีตำรวจ รวม 1,484 สถานี ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 จำนวน 81 สถานี คิดเป็นร้อยละ 5.46 ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1,403 สถานี คิดเป็นร้อยละ 94.54

 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าแบบฟอร์มนี้วัดความรู้สึกและความต้องการของประชาชนได้จริงๆ ทำให้ ผบ.ตร.สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการสั่งการตำรวจทุกโรงพัก บริหารข้อมูลเหล่านี้ตามสถานการณ์จริงได้ ทิศทางการทำงานจะชัดเจนและตรงเป้ามากขึ้น ข้อมูลพีเพิลโพลจะบอก ผกก.ทุกโรงพัก ว่าพื้นที่ตนเองมีปัญหาอะไรมากสุด

ทั้งนี้ การสำรวจของพีเพิลโพล เป็นระบบที่จำกัด 1 หมายเลขโทรศัพท์ ต่อ 1 การให้ข้อมูล และทำได้เพียง 1 ครั้งต่อเดือน เพราะฉะนั้น จะไม่มีหน้าม้ามาให้ข้อมูล และ ผบ.ตร.ย้ำว่าขอให้กรอกข้อมูลแบบตรงไปตรงมา จะได้นำข้อมูลมาปรับปรุงการทำงานของสายตรวจ ฝ่ายสืบสวน และจราจรได้

เห็นได้ว่างานที่ “บิ๊กโจ๊ก” ได้รับมอบหมาย สื่อถึงการได้รับความไว้วางใจจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล

จึงต้องจับตาผลงานหลังจากนี้ เป็นแรงหนุน ปูทางได้เข้าไลน์หลักเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ในการแต่งตั้งนายพลสีกากีวาระประจำปี 2564