89 ปี อภิวัฒน์สยาม : “อรุณี” ชี้ปชต.ไทยยังไปต่อ แม้เจอสารพัดอุปสรรค ปลุกภาคประชาชน-การเมืองจับมือร่วมทำรธน.ฉบับใหม่

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในไทย ในวาระครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยามโดยคณะราษฎร ที่ก่อการเปล่ี่ยนแปลงการปกครองจนสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญว่า
89 ปีที่ผ่านไป ประชาธิปไตยไทยถึงไหนแล้ว?
.
วันนี้เมื่อ 89 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรผู้เป็นคนรุ่นใหม่แห่งยุคสมัยได้ใช้สติปัญญาและความกล้าหาญ เปลี่ยนผ่านประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ
.
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น ถือเป็นก้าวแรกในการเดินทางของ ประชาธิปไตยไทย การเดินทางที่เส้นชัยคือการทำให้เป็นประชาธิปไตยไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ทว่า จากวันนั้น ถึง วันนี้ 89 ปีล่วงผ่าน ประชาธิปไตยไทยเดินทางถึงไหนแล้ว ?
.
เมื่อระบอบประชาธิปไตยถูกสถาปนาขึ้น คณะราษฎรไม่ได้เพียงแต่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังสร้างกลไก “เชิงวัฒนธรรม” ใหม่แห่งยุคสมัยประชาธิปไตยขึ้น ผ่านสถาปัตยกรรม เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตามจังหวัดต่างๆ หรือ การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ การตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอนเรื่องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย การปรับเปลี่ยนกฎหมายมากมายเพื่อให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ การปลูกฝังค่านิยมเรื่องความเท่าเทียมกัน การวางหลัก 6 ประการเพื่อเป็นรากฐานในการวางนโยบายของชาติ ซึ่งรวมไปถึงการพยายามสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจผ่านเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคง ลงหลัก และสถาพรในประเทศนี้
.
ดูเหมือนว่า ประชาธิปไตยทั้งในเชิงกลไกและเชิงวัฒนธรรมที่คณะราษฎรเพียรสร้าง กลับถูกทุบทำลายรื้อทิ้งและบิดเบือน ตั้งแต่ถูกทำรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความหวังที่จะทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่มั่นคงและศักดิสิทธิ์อย่างชาติอารยะถูกทำลายลงพร้อมกับคณะราษฎร ประชาธิปไตยต้องถูกฉุดกระชากลากถูเรื่อยมาผ่านการทำรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากโบลิเวีย ปารากวัย และเฮติ หรือเฉลี่ยแล้วประเทศไทยจะมีรัฐประหารทุกๆ 6.8 ปี
.
ประชาธิปไตยไทยผ่านการถูกฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่แล้วฉีกอีกรอบเพื่อร่างใหม่อีกครั้ง จนเรามีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 เช่นกัน รองจากโดมินิกัน เวเนซุเอลา และเฮติ หรือเฉลี่ยแล้วประเทศไทยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทุกๆ 4 ปี
.
แต่อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยไทยต้องไปต่อ และเราจะไม่ยอมหยุดอยู่ที่เดิม
.
หากมองย้อนกลับไปตลอด 89 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยก้าวเดินอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง ถูกอุปสรรคนานัปการขวางกั้น หรือถูกเผด็จการและฝ่ายจารีตคอยเป็นตัวถ่วงในแต่ละก้าว แต่ดูเหมือนว่า ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งการเดินทางของประชาธิปไตยไทยได้ เผด็จการพยายามอย่างหนักหน่วงในการเกาะแข้งพันขาประชาธิปไตย ผ่านการอ้างตนว่าเป็นมิตรและเดินคู่ชิดกันได้กับประชาธิปไตยไทย ภายใต้วาทกรรม ประชาธิปไตยครึ่งใบก็ตาม ถึงแม้ว่าการเกาะแข้งพันขาของเผด็จการนั้น จะไม่สามารถหยุดยั้งการเดินทางของประชาธิปไตยไทยได้ แต่มันสามารถทำให้ประชาธิปไตยไทยเดินได้ช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น และมันก็เฝ้าเกาะติดตามราวกับสัมภเวสีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
.
กลไกสำคัญในปัจจุบันที่เป็นเสมือนใบอนุญาตให้เผด็จการเกาะแข้งพันขาฉุดรั้งประชาธิปไตยไทยได้นั้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560
.
รัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองผู้เป็นบ่าวรับใช้เอื้อนเอ่ยอย่างภาคภูมิใจว่า “ดีไซต์มาเพื่อพวกเรา” ซึ่งถือเป็นการยอมรับอย่างหน้าไม่อายว่า แท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ดีไซต์มาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
.
วิธีเดียวที่จะปัดเป่าเผด็จการที่คอยเกาะส่วนบุญของประชาธิปไตยได้นั้น คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ และเปิดช่องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยประชาชน และดีไซต์มาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
.
แต่เราจะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับพิกลพิการนี้ได้อย่างไร เราจะตั้งต้นให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ดีไซต์มาเพื่อประชาชนได้อย่างไรกัน
.
แน่นอนว่า จะเป็นไปไม่ได้เลย หากภาคประชาชน และภาคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่จับมือผสานพลังกันให้เหนียวแน่น
.
จะเป็นไปไม่ได้เลย หากภาคประชาชนไม่ไว้วางใจภาคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
.
จะเป็นไปไม่ได้เลย หากภาคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่ทำตัวให้ภาคประชาชนเขาไว้วางใจ
.
และ จะเป็นไปไม่ได้เลย หากภาคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยตีกันเอง แย่งซีนกันเอง เขม่นกันเอง และสาดโคลนโทษกันเอง
.
ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการเขาพร้อมจะรวมพลังฉุดรั้งประชาธิปไตย หากฝ่ายประชาธิปไตยทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชนไม่สามารถรักษา “จุดร่วม สงวนจุดต่าง” ร่วมแรงร่วมใจกันได้ รัฐธรรมนูญในฝันของประชาชนคงยากที่จะเกิดขึ้น
.
หญิง ขอเป็นหนึ่งเสียงในฐานะประชาชนคนทั่วไปคนหนึ่ง ที่จะเรียกร้องต่อภาคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยว่า
.
“อย่าได้ทรยศความไว้ใจของประชาชน อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง และประชาชนทุกคนพร้อมจะจับมือร่วมกับภาคการเมืองในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของพวกเรา ประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง”
.
หญิงหวังว่า เรา คนไทยทุกคน จะได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีไซต์มาเพื่อประชาชนทุกคน ได้ทันวันครบรอบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หญิงหวังว่า การเดินทางของประชาธิปไตยไทยจะถึงปลายทางภายในเวลา 90 ปีที่เปลี่ยนผ่านและหญิงหวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของเราเสียที
.
ใดใดก็ตามหญิงอยากจะรำลึกถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 ในฐานะหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งประชาธิปไตย
.
แต่หญิงไม่อยากกลับมารำลึกถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 ในความรู้สึกโหยหาประชาธิปไตย แบบที่เป็นมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมาอีก ซึ่งการรำลึกจากความรู้สึกโหยหาแบบนี้ มันหมายความว่าสิ่งที่เรารำลึกถึงมันไม่มีอยู่จริง หรือเราจำรสชาติของประชาธิปไตยไม่ได้แล้ว