โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อไซร้ ติสสโร วัดช่องลม จ.อุตรดิตถ์

(ซ้าย) หลวงพ่อไซร้ ติสสโร (ขวา) เหรียญหลวงพ่อไซร้ รุ่นแรก (หน้า-หลัง)

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

หลวงพ่อไซร้ ติสสโร

วัดช่องลม จ.อุตรดิตถ์

 

“พระครูนิกรธรรมรักษ์” หรือ “หลวงพ่อไซร้ ติสสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

นอกเหนือจากปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังเป็นแกนนำในการพัฒนาบ้านเรือนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่ละเลยที่จะอบรมสั่งสอนให้กระทำแต่ความดี จึงเป็นที่เคารพศรัทธา

เมื่อดำริจะทำสิ่งใดก็จะได้รับความร่วมแรงร่วมใจจนงานประสบความสำเร็จตลอดมา

วัตถุมงคลที่สร้างมีทั้งเหรียญ รูปเหมือน แหวนรูปเหมือน ตะกรุด ฯลฯ ทุกรุ่นล้วนสร้างเพื่อหาปัจจัยบูรณะและสร้างเสริมศาสนวัตถุภายในวัด รวมทั้งพัฒนาสาธารณูปการแก่ชุมชุนในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งสิ้น

แต่วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูง คือเหรียญปั๊มรูปเหมือน สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2498

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงเสมา ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มมือ มือทั้งสองจับที่เข่า ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “หลวงพ่อไซร้” ส่วนด้านบนเป็นอักขระขอม

ด้านหลัง ปั๊มเป็นรอยยันต์และอักขระขอม มีการจารอักขระไว้ด้านหลังด้วย

เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างจำนวนน้อย แต่เป็นที่เล่าลือถึงพุทธคุณในด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี

จัดเป็นเหรียญที่หายากอีกรุ่น เนื่องจากผู้ที่มีไว้ในครอบครองหวงแหน

 

มีนามเดิม ไซร้ ทิพยาวงษ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2436 ที่บ้านหนองเหี้ย ต.หาดงิ้ว อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นบุตรคนที่ 5 ของขุนนิกรรักษา กับนางแท่น ทิพยาวงษ์ มีพี่-น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันรวม 7 คน

สมัยหนุ่มเป็นคนหน้าตาดี มีสง่าราศี รูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาวสะอาด อัธยาศัยดี สงบเสงี่ยม กิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย มีเมตตาธรรมต่อผู้อื่นเสมอ

ก่อนอุปสมบทได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์วัดอยู่กับหลวงพ่อฮวบ เจ้าอาวาสวัดสามัคคยาราม และได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยและภาษาขอมจนมีความรู้แตกฉาน และยังมีความชำนาญนำไปใช้ในการศึกษาธรรมะได้เป็นอย่างดี

ต่อมา ออกจากวัดหาดงิ้ว กลับไปอยู่บ้านช่วยเหลือบิดา-มารดา ประกอบอาชีพทำนาทำไร่อยู่ได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งอายุ 16 ปี ด้วยนิสัยใฝ่เรียนรู้ด้านธรรมะ และมีความรักในสมณเพศ จึงบรรพชากับพระอธิการก้อน เจ้าอาวาสวัดช่องลม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2452

อายุครบ 20 ปี เข้าอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดช่องลม ต.หาดงิ้ว อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2456 มีพระอธิการขีด วัดกุมภีร์ทอง ต.บ้านด่าน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจ้อน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการป้อม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ติสสโร

หลังอุปสมบท ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมเอาใจใส่กิจวัตร เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง โดยอยู่ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ที่วัดกุมภีร์ทองเป็นเวลา 4 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาที่วัดดอยแก้ว ต.แสนตอ อ.เมือง และที่วัดหาดงิ้ว ศึกษาวิทยาคมกับหลวงพ่อฮวบที่วัดหาดงิ้ว จนมีความรู้อย่างแตกฉาน

จากนั้นย้ายไปอยู่วัดช่องลมในเวลาต่อมา พระครูวิเชียรปัญญามหามุนี (เรือง) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าอาวาสวัดท่าถนนในสมัยนั้น พิจารณาเห็นว่าหลวงพ่อไซร้เป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ จึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2462

 

ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม ท่านเอาใจใส่ในการก่อสร้าง และปฏิสังขรณ์เสนาสนะ วางระเบียบแผนผังของวัดที่ท่านพำนักจนเป็นที่เรียบร้อย ดังปรากฏหลักฐานมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น หอไตร อุโบสถ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ พระวิหาร เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กำแพงรอบวัด โรงเรียนปริยัติธรรม และโรงเรียนประชาบาลวัดช่องลม การก่อสร้างและการปฏิสังขรณ์ดังกล่าว รวมทั้งอุโบสถของวัดหาดงิ้ว ศาลาการเปรียญวัดสามัคคยาราม และอุโบสถของวัดดอยท่าเสา เป็นต้น

เมื่อปี พ.ศ.2484 ประเทศไทยเข้าสู่สงครามอินโดจีนและมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนชาวอุตรดิตถ์ต่างอยากได้ของดีของขลังไว้คุ้มครองตัว ด้วยเหตุนี้ จึงจัดสร้างพระปิดตาเนื้อผงมหาอุดผสมว่านคงกระพันเคล้ารัก และปลุกเสกด้วยพระคาถาโสฬสมหาอุดมหาสะท้อน ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่คิดร้ายปองร้ายจะถูกสะท้อนเข้าหาตัวเอง

เงินทุนที่ได้มาจากรับบริจาค นำมาใช้จ่ายก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ส่วนใหญ่เกิดมาจากการเช่าบูชาวัตถุมงคล

วัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นหรือมีผู้อื่นนำมาถวายให้ท่านปลุกเสกให้ก็ดี ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ เป็นที่ปรากฏต่อลูกศิษย์และชาวบ้านทั่วไป แม้แต่คนที่นับถือศาสนาอื่นยังแขวนพระเครื่องและตะกรุดของหลวงพ่อไซร้ติดตัว

มีเมตตาธรรม ไม่เลือกชั้นวรรณะ อัธยาศัยกว้างขวาง วาจาอ่อนน้อม

ยึดถือคติธรรมตามรอยพระพุทธองค์ว่า ผู้เสียสละ คือ ผู้ชนะแล้ว หมายถึงการเอาชนะใจตนเองถือเป็นการชนะเลิศ เพราะว่าไม่มีทางกลับมาแพ้ได้อีกต่อไป

มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2507

สิริอายุ 71 ปี พรรษา 51