ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 18-24 มิถุนายน 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

ในภาวะสับสนอลหม่าน เรื่อง “วัคซีนโควิด-19”

สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือการไม่พูดหรือยอมรับความจริง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสับสนอลหม่านดังกล่าว

ฉะนั้น การพูด-ยอมรับความความจริง จึงสำคัญ

คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่ 21 ของอนุช อาภาภิรม ซึ่งติดตามและนำเสนอเรื่อง “วิกฤตินิเวศ” มาอย่างต่อเนื่อง

แม้จะไม่ได้โฟกัสไปที่โควิด-19

แต่มีประเด็น “ความจริง” ที่อาจใช้เป็นบทเรียนได้ตามสมควร

 

อนุช อาภาภิรม บอกว่า ครั้งหนึ่งมีความเชื่อว่า กิจกรรมของมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรม ได้ส่งละอองลอยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

ละอองลอยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป

ทำให้โลกเย็นลง

ดังนั้น ในช่วงเวลาหนึ่งก็มีนักอุตุนิยมวิทยาจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าโลกกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกเย็น

กระแสแนวคิดเรื่องโลกเย็นนี้ก่อตัวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

และขึ้นกระแสสูงในทศวรรษ 1970

มีบทความที่โด่งดังชื่อ “โลกที่เย็นลง” เขียนโดยปีเตอร์ กวิน (Peter Gwynne) บรรณาธิการวิทยาศาสตร์ของนิตยสารนิวส์วีกของสหรัฐ เผยแพร่ในนิตยสารดังกล่าวปี 1975

 

อนุช อาภาภิรม บอกว่า บทความนั้นได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงของบรรดาสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสำนักข่าวฟอกซ์และนักการเมืองในพรรครีพับลิกันที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ยาวนานกว่า 40 ปี

ที่มีชื่อเสียงมากคือ โดนัลด์ ทรัมป์ (ตั้งแต่ก่อนเป็นประธานาธิบดี)

เขากล่าวช่วงนั้นว่า “เรื่องเหลวไหลราคาแพงว่าด้วยโลกร้อนควรจะได้ยุติลงเสียที โลกกำลังเย็นลง”

เป็นที่สังเกตว่า ทุกวันนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน

และใช้ประเด็นละอองลอยบดบังแสงอาทิตย์ทำให้โลกเย็นลงอยู่

บางส่วนได้นำไปสู่แนวคิดวิศวกรรมดาวเคราะห์โลก (Geoengineering) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มีเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกเสนอเพื่อแก้ปัญหา

คือการบังแสงหรือลดความร้อนแรงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก

เช่น โครงการพ่นฝุ่นแคลเซียม คาร์บอเนตขึ้นในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ เลียนแบบเถ้าจากภูเขาไฟที่เกิดตามธรรมชาติ เพื่อลดทอนความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ (บรรยากาศชั้นนี้มีความสูงระหว่าง 15-50 กิโลเมตรและมีก๊าซโอโซนที่ช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเล็ตของดวงอาทิตย์อยู่ด้วย)

โครงการนี้เป็นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสนับสนุนโดยมหาเศรษฐีบิลล์ เกตส์ ดำเนินการมาหลายปี จนมีกำหนดจะส่งบอลลูนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ บริเวณขั้วโลกเหนือในเดือนมิถุนายน 2021

แต่ถูกคัดค้านจากนักสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ และชนพื้นเมือง

จนกระทั่งองค์การอวกาศของสวีเดนที่ทำหน้าที่ปล่อยบอลลูน ประกาศระงับปฏิบัติการ

 

กระแสโลกเย็น ที่เชื่อว่า ภูมิอากาศและลมฟ้าอากาศเป็นระบบซับซ้อนมีกระบวนการปรับตัวเองเป็นต่างๆ บางแห่งร้อน บางที่เย็น บางแห่งแล้ง บางที่น้ำท่วม เป็นต้น

สร้างข้อเสียสำคัญคือการทำให้เกิดการคลายใจหรือดูเบาปัญหาโลกร้อน ว่าสามารถแก้ไขได้โดยไม่ยาก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงได้ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า โลกกำลังร้อนขึ้นและเร็วมาก

มิใช่โลกกำลังเย็นลง

ทำให้ปีเตอร์ กวิน ผู้เขียนบทความเรื่องโลกเย็นในปี 2014 ได้เขียนบทความใหม่

My 1975 ‘cooling world’ story doesn’t make today climate scientists wrong (ดูบทความของ Peter Gwynne ใน insidescience.org 21/05/2014)

ปฏิเสธใจความสำคัญเดิม

และไม่ต้องการใครมาอ้างอิงอีก

 

จะบอกว่าเป็นการกลับลำก็ได้

แต่ก็ถือเป็นความกล้าหาญ น่ายกย่อง ปีเตอร์ กวิน

ที่ยอมรับ “ความจริง” และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่

ไม่ดื้อดึง หลบเลี่ยง แก้ตัว

อย่างที่เราเห็นซ้ำๆ ซากๆ ในฝ่ายที่แก้ไขวิกฤตโควิดในไทยตอนนี้!