ความสำคัญของฉัน/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ความสำคัญของฉัน

 

สมัยเรียนวิชาพื้นฐานองค์ประกอบศิลปะ ผมกับเพื่อนเรียนรู้สามองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญคือ จุด เส้น ระนาบ สามสิ่งนี้เสมือนธาตุสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ในงานศิลปะ ไม่ว่ารูปภาพหรือสถาปัตยกรรมล้วนประกอบร่างขึ้นจากสามสิ่งนี้

หากลองจุดลงไปบนกระดาษสามจุดย่อมเกิดพื้นที่ ‘สามเหลี่ยม’ ขึ้นมาระหว่างสามจุดนั้น ไม่ต่างจากพื้นที่ซึ่งเกิดจากการลากเส้นสามเส้นเข้าหากัน จุดและเส้นก่อให้เกิดระนาบ ซึ่งระนาบพื้นฐานอย่างสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี ก็เป็นพื้นฐานของเรขาคณิต

เรื่องศิลปะมาสนุกมากขึ้นเมื่อได้อ่านหนังสือ ‘อันเนื่องกับทางไท’ ของอาจารย์เขมานันทะซึ่งอธิบายความต่างระหว่างงานศิลปะตะวันออกกับตะวันตกไว้อย่างน่าคิดตาม

อาจารย์บอกว่า “ในโลกนี้ไม่มีจุด เส้นตรงก็ไม่มีในโลกนี้ หลับตานึกถึงโลกที่เป็นจริงในกระแสธารที่ไม่รู้จบของธรรมชาติจะไม่มีจุดเลย ดังนั้นจุดเป็นเพียงสิ่งสมมุติ ในโลกนี้หาจุดไม่ได้”

Space หรือที่ว่างก็เช่นกัน มันไม่มีอยู่จริง หากเรายกมือสองมือขึ้นกลางอากาศจะมี ‘ที่ว่าง’ เกิดขึ้น แต่พอเอามือลง ‘ที่ว่าง’ นั้นก็หายไป

ในวิชาองค์ประกอบศิลปะมีการอธิบายที่ว่างด้วยจุด เส้น ระนาบ อาจารย์เขมานันทะชวนคิดว่าตามอารยธรรมกรีกโบราณซึ่งเป็นแม่บทของตะวันตกนั้น เวลาจะถูกแบ่งเป็นช่วงๆ ภาพเขียนหนึ่งจึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งๆ เหมือนการ์ตูนที่เล่าเรื่องเป็นช่อง ขณะที่ภาพไทยโบราณนั้นอยู่ในห้วงเวลาที่ Space เป็นสิ่งไม่รู้จบสิ้น คือระบุไม่ได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลง

ตะวันตกเป็น ‘ที่ว่าง’ ที่จำลองมาจากความจริง

ตะวันออกสร้าง ‘ที่ว่าง’ ทางความรู้สึกขึ้นมา

เหมือนภาพวาดพู่กันจีนซึ่งให้อารมณ์เหมือนบทกวี หรือภาพตามผนังวัดซึ่งสะท้อนถึงโลกในอีกมิติหนึ่ง-เป็นมิติทางใจ หากวาดมารก็คือมารในใจ

จึงมีความแตกต่างทางมิติ (Dimension) โดยตะวันตกให้ความสำคัญกับสาระทางสามมิติ กว้างยาวสูงที่จับต้องได้จริง

ขณะที่งานแบบตะวันออกเสนอ ‘มิติที่สี่’ คือสภาพไร้กาลเวลา (อกาลิโก) จึงไม่เน้นการวาดภาพให้เหมือน ใส่แสงเงาให้เป็นเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น หรือกลางคืน

หากคืออุดมคติที่สะท้อนสภาพจิตใจของผู้สร้างสรรค์ออกมา

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการลอกเลียน

ฝั่งตะวันตกนั้นคัดค้านการลอกเลียน ขณะที่ตะวันออกเรียนรู้ผ่านการทำตามแบบอย่างของบรรพชนโดยนับเป็นการสืบทอดสติปัญญา อาจารย์เขมานันทะชี้ให้เห็นว่าช่อฟ้าใบระกาทั้งหลายที่เห็น เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนแรกที่สร้างสรรค์ขึ้น แต่ก็รับต่อกันมาเป็นทอดๆ

สิ่งแตกต่างคือการให้ความสำคัญกับตัวศิลปินผู้สร้าง

ความสำคัญของ ‘ตัวข้า’

เพราะในโลกตะวันตกนั้นมีความคิดที่มองปัจเจกเป็นศูนย์กลางมากกว่า

ตัวอย่างตลกๆ ซึ่งน่าคิดคือประโยคที่ท่านอาจารย์ถูกเพื่อนออสเตรเลียถามว่า “Are you going to grow your beard?” (คุณกำลังจะไว้หนวดใช่ไหม)

ซึ่งอาจารย์ตอบว่า “ไม่ ผมไม่ได้ปลูก ผมเพียงแค่หยุดโกนมัน”

ฟังเผินๆ เป็นเรื่องขำขัน แต่ก็สะท้อนวิธีคิดที่แตกต่างชัดเจนในภาษา

อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าภาษาฝรั่งมักสวนทางกับกระบวนการทางธรรมชาติเพราะมันคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ขัดขืนกับธรรมชาติ

ลองดูภาษาไทยอย่างคำว่า ‘ไว้หนวด’ นั้นก็คือปล่อยให้ยาวไปโดยไม่ตัด มันต้องยาวอยู่แล้วตามธรรมชาติ

ขณะที่ภาษาอังกฤษคือหนวดจะยาวได้เมื่อมนุษย์ ‘ปลูก’ ซึ่งก็คืออนุญาตให้มันยาว กลายเป็นมนุษย์เลือก ‘กระทำ’ มิใช่ธรรมชาติ ‘เป็นไป’

ตะวันตกเน้นการกระทำ การสร้าง ความสำเร็จ ผู้ที่ทำสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาทั้งสิ่งของ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วีรกรรม ก็จะกลายเป็นวีรบุรุษ ทุกคนจึงแข่งขันกันเพื่อเอาชนะ ดีกว่า เก่งกว่า สวยกว่า เพื่อโดดเด่นกว่าคนอื่น

ขณะที่ตะวันออกอย่างจีนเน้นการไม่ทำ ดังที่มีคำสอนเรื่อง ‘อู๋เว่ย’ หรือการไม่กระทำซึ่งเป็นไปตามคำสอนของเต๋า อันหมายถึงความไร้เจตนา เป็นธรรมชาติ เรียบง่าย ซึ่งสะท้อนถึงความเมตตา มัธยัสถ์ ถ่อมตน

หากมองไปทางญี่ปุ่นย่อมได้รับความรู้สึกทำนองเดียวกันจากปัญญาแบบ ‘วะบิ ซะบิ’ ซึ่งแสดงถึงความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ

ส่วนในอินเดียสมัยอุปนิษัทมีประโยคอธิบายฐานะของมนุษย์ในจักรวาลว่า “อหํ พรหฺมสฺมิ ตตฺถ ตวํ อสิ” แปลว่าข้าคือพรหมและท่านด้วยคือพรหม โดยมองว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดเป็นสิ่งเดียวกับตัวเรา ทุกสิ่งเป็นการแสดงออกของพรหม เรากับพรหมนั้นไม่แยกแตกต่างกัน

จะเห็นได้ว่าฝั่งตะวันออกให้ความสำคัญกับ ‘ตัวข้า’ น้อยกว่าหรือกระทั่งแทบไม่ให้ความสำคัญเลย

จึงมีคำอธิบายว่าตะวันตก (โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์) สร้างศิลปะเพื่อให้มีศิลปะและแสดงความสามารถของศิลปิน

ขณะที่ตะวันออกสร้างศิลปะเพื่อหลอมรวมเข้ากับสิ่งยิ่งใหญ่อย่างเต๋า พรหมัน สวรรค์ สัจธรรม หรือธรรมชาติ

ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อโลกเชื่อมต่อกันรวดเร็วอย่างในปัจจุบันตะวันออกก็ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมาไม่น้อยแล้ว

 

ความคิดแบบมนุษยนิยมที่ค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นจนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในยุคเรอเนสซองส์ซึ่งศิลปินอย่างเลโอนาร์โด ดา วินชี, มิเกลันเจโล, ราฟาเอล, ฯลฯ กลายมาเป็นฮีโร่ของยุคสมัยค่อยๆ บ่มเพาะค่านิยมในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อแสดงความเก่งกาจของผู้สร้าง

เมื่อบวกรวมไปกับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ฝั่งตะวันตกก็ค่อยๆ มีแนวความคิดที่จะควบคุมจัดการธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างแนวความคิดเรื่อง Park ก็เป็นความพยายามในการจัดการธรรมชาติให้สวยงามตามที่มนุษย์ชื่นชอบ

ศิลปะแบบตะวันตกจึงเป็นดังที่อาจารย์เขมานันทะบอกไว้คือ มันส่งเสียงเรียก “จงหันมาดูข้า” ขณะที่ตะวันออกตามแบบโบราณเพียงปล่อยให้เกิดขึ้น

เมื่อครั้งเดินทางไปสัมภาษณ์ภิกษุณีอาวุโสในนิกายเซนที่ญี่ปุ่น ท่านชอบจัดดอกไม้และมีกระถางดอกไม้ฝีมือท่านวางไว้ในห้องด้วย ก่อนแสดงความเคารพเพื่ออำลา ผมเอ่ยปากชมดอกไม้ในแจกันที่มุมห้อง

ท่านตอบว่า “ฉันไม่ได้จัด ดอกไม้มันสวยอยู่แล้ว”

ซึ่งตรงกันกับตอนที่ผมได้เรียนจัดดอกไม้แบบสั้นๆ ที่กรุงเกียวโต อาจารย์บอกว่าให้หยิบดอกไม้หรือกิ่งไม้ขึ้นมาดูแล้วพิจารณาว่าสีสันและเส้นสายของมันควรจัดเรียงแบบไหน แล้วปักลงไปตามธรรมชาติของมัน

เช่นนี้แล้วการจัดดอกไม้จึงมิได้เป็นการจัดของเรา หากเป็นเพราะดอกไม้บอกเราว่ามันสวยงามในทิศทางนั้น การจัดเช่นนี้ไม่มีความอหังการ์ของตัวผู้จัด

เราเพียงจัดวางดอกไม้ตามธรรมชาติความงามที่มีอยู่แล้วของมันเท่านั้นเอง

 

มิติของการสร้างสรรค์ที่แตกต่างจึงมีความต่างที่น่าสนใจ ข้อดีของฝั่งตะวันตกที่มุ่งหมายเอาชนะและโค่นกันเพื่อเก่งกว่าดีกว่าย่อมทำให้ได้พัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ดีกว่าเดิม

กระนั้นก็อาจนำมาซึ่งบรรยากาศของการแข่งขัน เอาชนะคะคาน ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างคนกับธรรมชาติหากขาดสมดุล

หันกลับมามองค่านิยมแบบตะวันออกก็มีแง่งามในเรื่องความถ่อมตัว ใช้กระบวนการสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนจิตใจเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุด ยอมรับในความกระจิริดของมนุษย์ รักษาสัมพันธ์ระหว่างศิษย์และครูอาจารย์ซึ่งสืบทอดส่งต่อกันมาเป็นลำดับ

แต่กระนั้นก็อาจทำให้ยอมรับมากเกินไป กระทั่งยอมรับในสิ่งที่ควรต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

การสลับแว่นมองไปมาระหว่างโลกสองฝั่ง (ซึ่งที่จริงยังมีอีกหลายฝั่ง) ย่อมทำให้ไม่ยึดมั่นกับค่านิยมแบบใดแบบหนึ่งจนชาชินกระทั่งมองไม่เห็นทางเลือกที่จะคิดหรือรู้สึกแตกต่างไป

หากเรามองโลกด้วยแว่นตะวันตกมากเกินไปก็อาจทำให้เหน็ดเหนื่อยจากที่ต้องเก่งกว่าคนอื่นตลอดเวลา และพยายามเอาชนะ โดดเด่น เป็นที่หนึ่ง ทั้งยังแยกตัวเองออกจากคนอื่นจนหมดไฟและเปลี่ยวเหงา เพราะโลกที่ใช้ระบบคัดหาคนเก่งและแพ้คัดออกนั้นย่อมมีคนเจ็บปวดมากมาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น

อาจารย์เขมานันทะกล่าวว่า “เสน่ห์หมายถึงบางสิ่งบางอย่างซึ่งดูแล้วไม่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าชื่นใจ” นี่คือความรู้สึกที่สัมผัสด้วยใจโดยไม่ต้องเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร แต่ละคนมีเสน่ห์ในแบบตัวเองเมื่อเป็นธรรมชาติของตัวเองเหมือนดอกไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม

เช่นกันกับคติฝั่งอินเดียที่เชื่อว่าทุกคนคือพรหม

 

มองเช่นนี้การสร้างสรรค์จึงมีเป้าประสงค์ที่มากไปกว่าเอาชนะกัน บางครั้งเราอาจสร้างงานศิลปะเพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน สร้างสถาปัตยกรรมเพื่อเกื้อกูลธรรมชาติ วาดภาพเพื่อเรียนรู้จากครูอาจารย์ หรือร้องเพลงเพื่อให้ใครบางคนยิ้มได้โดยไม่ต้องประกวดประชันเพื่อ ‘ชนะ’ หรือ ‘ดีกว่า’ ใคร

การพลิกแพลงคุณค่าในจิตใจช่วยเปิดกว้างตั้งแต่จุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ไปจนถึงผลลัพธ์ของการสร้างสรรค์ว่ามีทิศทางหลากหลาย ทั้งตะวันตก-ตะวันออก เหนือ-ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ฯลฯ อีกมากมายเต็มไปหมด

เราน่าจะมีพื้นที่มากขึ้นหากสามารถปลดตัวเองออกจากค่านิยมใดค่านิยมหนึ่ง เมื่อเป็นอิสระจึงงดงาม เพราะนอกจากยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นแล้วยังยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น โดยไม่ต้องข่มกันว่าใครงามกว่าใคร

เหมือนดอกไม้หลายชนิดในแจกัน

แต่ละดอกเป็นตัวเอง

เมื่อรวมกันจึงเกิดความงามอีกแบบ