เมื่อข้าศึกไม่มีตัวตน! อาวุธกับสงครามโควิด/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

เมื่อข้าศึกไม่มีตัวตน!

อาวุธกับสงครามโควิด

 

“วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดขอบเขตและกำหนดรูปของการปรับตัวทางทหาร วัฒนธรรมจึงทำให้ทางเลือกบางชุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางทหารเป็นสิ่งที่พึงประสงค์มากกว่า และทำให้ทางเลือกบางชุดกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างนึกไม่ถึง”

Theo Farrell

Military Adaptation in Afghanistan (2013)

 

ในทฤษฎีทางทหาร เราถูกสอนเสมอว่าสงครามเป็นปัจจัยหลักที่จะบีบบังคับให้องค์กรทหารเกิดการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะความพยายามที่จะคงทุกอย่างไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลงในท่ามกลางสงครามนั้น มีราคาที่ต้องจ่ายที่อาจหมายถึงความพ่ายแพ้ทางทหารขนาดใหญ่ และตามมาด้วยการพ่ายแพ้สงครามของรัฐ

ดังได้กล่าวแล้วว่าสงครามเป็นแรงกดดันที่ดีที่สุดในการบังคับให้รัฐและกองทัพต้อง “ปรับตัวทางทหาร” (military adaptation) แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในอีกมุมหนึ่งคือ กองทัพจะสามารถปรับตัวในยามสันติได้หรือไม่ เมื่อไม่มีแรงกดดันโดยตรงเช่นที่เป็นภาวะสงคราม

แต่ความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบันคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกับรัฐและกองทัพทั่วโลกอย่างมาก

แม้สถานการณ์การระบาดครั้งนี้จะไม่ใช่เงื่อนไขสงคราม

แต่ก็อาจเทียบเคียงได้กับสงคราม เพราะเกิดการความสูญเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากในวงกว้างอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

จนเห็นได้ชัดว่าไม่มีรัฐและสังคมใดรอดพ้นจากการโจมตีของข้าศึกใหม่ที่เป็น “เชื้อโควิด”

เสมือนหนึ่งเรากำลังเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด” ที่มิได้มีนัยของ “สงครามเชื้อโรค” (germ warfare) ที่เกิดจากการโจมตีของรัฐฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธชีวภาพ

 

ปฏิรูปทหาร-ปฏิรูปงบทหาร!

ในสถานการณ์ด้านความมั่นคงไทยในปัจจุบันที่ภัยคุกคามทางทหารไม่มีความชัดเจนเช่นในยุคสงครามเย็น

ขณะเดียวกันสังคมไทยต้องเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่จากเชื้อไวรัสโควิด-19 อันทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากภาคสังคมมากขึ้นที่ต้องการเห็นการปรับตัวทางทหาร เช่น จำกัดการใช้งบประมาณทหาร โดยเฉพาะให้ลดงบฯ ในการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ลง

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในภาวะเช่นนี้ ยิ่งมีการระบาดของเชื้อโรคมากขึ้นเท่าใด คนก็ยิ่งเรียกร้องให้ยุติการซื้ออาวุธมากขึ้นเท่านั้น

และอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยต้องการเห็นการปรับตัวของ “สถาบันทหาร”

ทัศนะเช่นนี้เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 แต่กองทัพยังคงมีการจัดซื้ออาวุธอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาจากกรณีเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ “ปัญหากองทัพ” จะถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทย

เพราะในด้านหนึ่งคนในสังคมที่กำลังเผชิญการโรคระบาดย่อมไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้ออาวุธ

และในอีกด้านหนึ่งผู้คนต้องการเห็นกระบวนการทำงบประมาณทหารที่มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันต้องการมีการทำงบประมาณทหารที่สอดรับกับสถานการณ์จริงของประเทศ ที่วันนี้คนเป็นจำนวนมากในสังคมไม่เห็นด้วยพ้องไปในทิศทางเดียวกับผู้นำทหาร เพราะมองว่าโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยไม่ใช่ปัญหาทางทหารในแบบที่สังคมเคยเผชิญมาแล้วในยุคสงครามเย็น

สังคมจึงไม่คิดถึงความจำเป็นในการคงงบประมาณทหารไว้เป็นจำนวนมาก และอยากเห็นการ “ปรับลด” งบฯ ทหารลง เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของสังคม

ฉะนั้น เราคงต้องยอมรับในสถานการณ์ปัจจุบันว่า การระบาดของโควิดมีส่วนโดยตรงที่ทำให้หลายฝ่ายในสังคมมีความเห็นร่วมกันว่าถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปกองทัพ และเสียงเรียกร้องในอีกส่วนคือ ต้องปฏิรูป “กระบวนการทำงบประมาณทหาร” ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศอย่างไร เพราะภัยคุกคามในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้น่าจะเป็นสัญญาณให้กองทัพต้องคิดถึงการปรับตัวเอง ซึ่งไม่ชัดเจนว่า “วัฒนธรรมทหารไทย” จะทำให้เกิดการปรับตัวได้เพียงใด

 

ข้าศึกใหม่-สงครามใหม่?

ดังจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศไทยจากปี 2563 ต่อเนื่องเข้าปี 2564 เป็นความท้าทายอย่างที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน

เราเห็นการระบาดใหญ่ของเชื้อโรคที่เกิดระลอกหนึ่งในตอนต้นปี 2563 และเห็นระลอกสองในต้นปี 2564 และตามมาด้วยระลอกสามจากช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา

ซึ่งถ้ามองในมิติด้านความมั่นคงแล้ว ไทยไม่ต่างกับหลายประเทศทั่วโลกที่เผชิญกับ “ภัยคุกคามด้านสาธารณสุข” ซึ่งมีนัยโดยตรงที่หมายถึงการระบาดใหญ่ของเชื้อโรคในสังคม หรือกล่าวได้ว่าโลกในปัจจุบันถูกคุกคามจากปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” (health security) และ “ข้าศึกใหม่” ชุดนี้น่ากลัวและรุนแรงกว่าที่คิด

ดังที่กล่าวแล้วถ้าเปรียบเทียบในแบบวิชาทหาร สังคมกำลังเผชิญกับ “ข้าศึกที่มองไม่เห็น” (บางคนอาจจะเปรียบเชื้อโรคว่าเป็น “ข้าศึกที่ไม่มีตัวตน”) การรบในสงครามโรคระบาดจึงเป็นความใหม่และความท้าทายที่รัฐและสังคมต้องรับมือให้ได้… ความไม่สามารถในการรับมือกับ “สงครามโควิด” ในครั้งนี้จึงมีคำตอบแต่เพียงประการเดียวคือ การเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมากดังเช่นที่เกิดในสหรัฐอเมริกา (ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) ในอินเดีย หรือในบราซิล เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อร่างงบประมาณปี 2565 เข้าสู่กระบวนการการพิจารณาของรัฐสภา จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในส่วนของงบประมาณทหาร โดยเฉพาะในเรื่องของงบฯ จัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เสียงเรียกร้องดังกล่าวปรากฏชัดมากขึ้น เมื่อมีการอภิปรายงบประมาณในรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ถึงแม้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พยายามจะแถลงในรัฐสภาเพื่อชี้ให้เห็นว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมถูกตัดลดลงอย่างต่อเนื่อง

กล่าวคือ งบฯ กลาโหมในปี 2562 มีจำนวน 227,126 ล้านบาท ในปี 2563 เพิ่มเป็น 231,745 ล้านบาท ในปี 2564 ลดเหลือ 214,530 ล้านบาท และในปี 2565 ลดเหลือ 203,281 ล้านบาท (งบฯ ในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 เป็นจำนวน 11,249 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.24)

แม้ผู้นำทหารพยายามจะนำเสนอให้สังคมเห็นถึงการปรับลดงบฯ ของกระทรวงกลาโหม แต่เมื่อถูกนำไปเทียบกับงบประมาณในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับเพียง 153,940.5 ล้านบาท ย่อมทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า “งบฯ กลาโหมมากกว่างบสาธารณสุข” หรือ “งบฯ ทหารมากกว่างบฯ หมอ”

และที่สำคัญยังมีการตัดงบฯ ของกระทรวงสาธารณสุขลงอีกด้วย

ผู้นำรัฐบาลพยายามจะโต้แย้งในอีกมุมหนึ่งว่า หากคิดถึงงบฯ สาธารณสุขในภาพรวม ที่รวมงบฯ กระทรวงสาธารณสุข กับงบระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และงบฯ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน งบฯ ทั้งสามส่วนนี้จะมีจำนวนเงินถึง 295,673.9 ล้านบาท

ผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารจึงพยายามชี้ให้เห็นว่าในภาพรวมนั้น “งบฯ สาธารณสุขมากกว่างบฯ กลาโหม”

แต่ดูเหมือนประชาชนในสังคมไม่ได้คล้อยตามไปกับตัวเลขในภาพรวมเช่นนั้น เพราะสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดกับสังคมไทยเป็นปัญหาการระบาดใหญ่ของเชื้อโรค ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีเสียงวิจารณ์อย่างมากว่า ถึงแม้กระทรวงกลาโหมจะปรับลดงบประมาณลง และก็ลดลงเพียงร้อยละ 5.2 เท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง แม้งบฯ รวมของทางด้านสาธารณสุขทั้งหมดจะสูงกว่าของกลาโหมก็จริง แต่ในส่วนของระดับกระทรวงแล้วต่ำกว่า ดังนั้น ต่อให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารจะยกตัวเลขอะไรมาอ้างอิง แต่ผู้คนกลับยังรู้สึกว่า ถึงอย่างไรก็ควรปรับลดงบทหารให้ลงมามากกว่านี้อีก

เพราะความต้องการที่แท้จริงของประเทศอยู่กับกิจการทางด้านสาธารณสุข ไม่ใช่ด้านการทหาร

ทั้งมองไม่เห็นความจำเป็นในการซื้ออาวุธในขณะนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ไม่ใช่ปัญหา “ความมั่นคงทางทหาร”

นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีการอภิปรายเรื่องงบประมาณทหารในรัฐสภา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามเสนอขอจัดซื้อวัคซีนด้วยงบประมาณของตัวเอง อีกทั้งสังคมกำลังมีปัญหาอย่างมากกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลนั้น

รถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบกของจีนแบบ วีเอ็น-16 (VN-16) ของกองทัพเรือ จำนวน 3 คัน ได้ถูกส่งถึงประเทศไทย เพื่อเข้าประจำการกับกองพลนาวิกโยธินที่สัตหีบ และรถดังกล่าวมีมูลค่าคันละ 125 ล้านบาท

ซึ่งการจัดซื้อรถถังเบาของ นย.ไทยครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกที่ได้จัดซื้อจากจีนมาก่อนหน้านี้แล้ว

มโนทัศน์เก่า!

 

ประเด็นที่คนในสังคมมีความรู้สึกร่วมกันว่า ในยามนี้ “วัคซีนน่าจะจำเป็นกว่าอาวุธ” หรือที่มีการโพสต์กันว่า “รถถังมาเร็วกว่าวัคซีน” ซึ่งข้อความเช่นนี้สะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนได้เป็นอย่างดี…

สังคมไม่ได้มีความเห็นหรือมีความรู้สึกร่วมไปกับผู้นำทหาร แม้ผู้นำรัฐบาลที่พยายามสร้าง “มโนทัศน์เก่า” ว่า อาวุธยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย แม้ยังมีโควิด-19 ระบาดอยู่ก็จำเป็นต้องซื้อ

ผู้นำทหารพยายามเสนอมาโดยตลอดว่า กองทัพยังมีความจำเป็น “ต้องเตรียมกำลังไว้ส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ”

แต่สำหรับสังคมในยามต้องเผชิญกับวิกฤตจากโรคระบาดนั้น ผลประโยชน์แห่งชาติมีประการเดียว คือการปกป้องประเทศจากเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่ป้องกันประเทศจากการรุกรานของข้าศึก เพราะข้าศึกที่น่ากลัวที่สุดในวันนี้คือ “เชื้อโรค” ซึ่งเป็นข้าศึกที่มองไม่เห็น และอาวุธที่สำคัญที่สุดที่จะใช้ป้องกันข้าศึกชุดนี้คือ “วัคซีน”

และดัชนีชี้วัดความมั่นคงที่ชัดเจนที่สุดคือ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการฉีดวัคซีน และมีภูมิคุ้มกันโรค และ “ข้าศึกใหม่” ชุดนี้ไม่ได้ถูกทำลายลงด้วย “อาวุธเก่า” ของทหาร

ฉะนั้น ผลจากการต้องเผชิญกับการระบาดถึงสามระลอกแล้ว ทำให้คนในสังคมไทยไม่รู้สึกคล้อยตามไปกับการโฆษณาถึงความจำเป็นในการเตรียมยุทโธปกรณ์ และเห็นแย้งว่ารัฐบาลไม่ควรลงทุนมากในทางทหารด้วยการซื้ออาวุธ แต่เห็นว่ารัฐบาลควรจะเอางบประมาณมาซื้อวัคซีน และช่วยเหลือคนในสังคมที่กำลังประสบปัญหาการตกงานและความยากจน

เพราะสัจธรรมที่ต้องยอมรับในสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ กองทัพไทยจะเข้มแข็งไม่ได้เลย ถ้าสังคมไทยยัง “อ่อนแอและอ่อนแรง” อยู่กับโรคระบาด ความยากจน และเศรษฐกิจที่ถดถอย

ดังนั้น นับจากการจัดซื้อเรือดำน้ำและรถถังจากจีน จนถึงรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก เสียงคัดค้านการซื้ออาวุธพร้อมกับการเรียกร้องให้ลดงบประมาณทหารดังขึ้นไม่หยุด

และเสียงเรียกร้องนี้มีข้อสรุปประการเดียวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปกองทัพไทย และปฏิรูปความคิดของบรรดา “นักช้อปอาวุธ” ในกองทัพไทย

และในอีกด้านเสียงเรียกร้องเช่นนี้คือ สัญญาณว่าผู้นำทหารไทยควรต้องคิดถึงการปรับตัวของสถาบันทหารเองด้วย!