สงครามไซเบอร์ของจีน : 2) ปรับโครงสร้างจัดตั้ง เปิดฉากรุกทางยุทธการ/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามไซเบอร์ของจีน

: 2) ปรับโครงสร้างจัดตั้ง เปิดฉากรุกทางยุทธการ

 

ช่วงที่สหายสีจิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศยุทธศาสตร์ยุทธวิธีสงครามไซเบอร์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อและช่วงชิงมติมหาชนต่อที่ประชุมงานโฆษณาและอุดมการณ์แห่งชาติเมื่อปี 2013 นั้น สถานการณ์แผ่นดินใหญ่ไซเบอร์ของจีนอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง

ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตเข้าถึงจีนแล้วร่วม 20 ปี มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนกว่า 600 ล้านคน ซึ่งกว่า 80% ของจำนวนนี้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนที่ มีชื่อโดเมน 18.44 ล้านชื่อ และเว็บไซต์เกือบ 4 ล้านแห่ง ซึ่งสามเว็บไซต์ในจำนวนนั้นติดอันดับสิบเว็บไซต์ใหญ่ที่สุดในโลก

พลเมืองเน็ตจีนพากันช้อปของออนไลน์ถึง 300 ล้านคน ขนาดของอีคอมเมิร์ซเบ็ดเสร็จแล้วใหญ่ถึง 10 ล้านล้านหยวน

ทว่าแม้แผ่นดินใหญ่ไซเบอร์ของจีนจะมโหฬาร แต่ไม่แข็งแกร่ง ขาดแคลนสารสนเทศพื้นถิ่นของจีนเอง มีช่องว่างดิจิตอลมหาศาลระหว่างเมืองกับชนบท ระดับการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ก็ยังต่ำ

และตอนนั้นจีนยังตกเป็นเหยื่อการโจมตีออนไลน์ โดยม้าโทรจันและบอตเน็ตคุมโฮสต์ไอพีได้เกือบ 9 แสนแห่ง

ทำให้ความเป็นส่วนตัว สิทธิและผลประโยชน์ของพลเมืองจีนถูกล่วงละเมิดเป็นประจำ

(http://news.xinhuanet.com/politics/2014-02/27/c_119538719.htm)

ห้ามเข้า! มหากำแพงไฟเมืองจีนสำหรับเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต

ฉะนั้น หลังสหายสีประกาศยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแล้ว การสถาปนาโครงสร้างความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติของจีน โดยปรับโครงสร้างการจัดตั้งเพื่อสร้างองค์กรนำรวมศูนย์ที่เป็นเอกภาพของรัฐ-พรรคในกิจการด้านนี้ก็ตามมา :

– ปี 2014 ประกาศจัดตั้งกลุ่มนำกลางสำหรับความมั่นคงไซเบอร์และกิจการสารสนเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นเพื่อชี้นำกำกับงานด้านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ประกอบด้วยสมาชิก 22 คน

มีเลขาธิการพรรคสีจิ้นผิงเป็นประธานกลุ่ม

นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงและอดีตหัวหน้ากรมโฆษณากลางของพรรคหลิวหยุนซานเป็นรองผู้อำนวยการสองคน

สมาชิกอีก 8 คนเป็นสมาชิกกรมการเมืองและผู้นำอาวุโสของพรรคคนอื่นๆ

ส่วน 11 คนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับกระทรวงผู้เป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการสารสนเทศและความมั่นคงไซเบอร์

เอาเข้าจริงส่วนใหญ่แล้วนี่เป็นการยุบรวมสมาชิกขององค์กรที่บริหารปกครองกิจการออนไลน์ของจีนก่อนหน้านี้เข้าด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มนำกิจการสารสนเทศของรัฐ กับกลุ่มย่อยประสานงานความมั่นคงแห่งเครือข่ายและสารสนเทศของรัฐ ทั้งนี้เพราะเดิมทีโครงสร้างอำนาจบริหารจัดการอินเตอร์เน็ตของจีนแบ่งแยกแตกกระจายกันด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ อนึ่ง จุดน่าสนใจคือกลุ่มนำกลางฯ ใหม่นี้ได้เพิ่มโจวเสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติจีน (ระหว่างปี 2002-2018) เข้ามาเป็นสมาชิกด้วย

(http://www.guancha.cn/politics/2014_02_28_209672.shtml)

– ปี 2018 ยกระดับฐานะกลุ่มนำกลางสำหรับความมั่นคงไซเบอร์และกิจการสารสนเทศขึ้นเป็นคณะกรรมาธิการสังกัดคณะกรรมการกลางของพรรคโดยสมบูรณ์

(https://chinacopyrightandmedia.wordpress.com/2018/04/22/xi-jinpings-speech-at-the-national-cybersecurity-and-informatization-work-conference/)

 

เมื่อโครงสร้างการจัดตั้งเข้าที่เข้าทาง จีนก็เปิดฉากรุกทางยุทธการในสงครามไซเบอร์ทันทีด้วยการเป็นโต้โผจัดประชุมอินเตอร์เน็ตโลก (World Internet Conference) ขี้นที่จีนในปี 2014 และ 2015 โดยเชิญผู้นำจากบรรดาประเทศพันธมิตรอำนาจนิยม ได้แก่ รัสเซีย ปากีสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าร่วม

สีจิ้นผิงขึ้นกล่าวปราศรัยหลักในที่ประชุม เสนอว่าทุกประเทศควรได้กำหนดกฎระเบียบกำกับควบคุมอินเตอร์เน็ตของตนเองตามหลักการอธิปไตยไซเบอร์ (cyber sovereignty) จีนหวังใช้การประชุมอินเตอร์เน็ตโลกที่ว่านี้มาสร้างแรงหนุนสากลแก่ทรรศนะข้อเสนอของตนดังกล่าว

ทว่าการประชุมนี้ถูกบอยคอตจากเอ็นจีโอที่คัดค้านระบอบเซ็นเซอร์อย่างกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ค่าที่จีนตอนนั้นคุมขังผู้สื่อข่าวไว้เกือบ 40 คนในความผิดข้อหาโพสต์ข่าวข้อมูลต้องห้ามออนไลน์

แผ่นดินใหญ่ไซเบอร์ของจีนเป็นที่ตั้งบริษัทอินเตอร์เน็ตใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่งและมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก (ถึง 650 ล้านคนในปี 2015) แต่จีนกลับบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศหลายร้อยแห่ง อาทิ BBC, Bloomberg, The New York Times, YouTube, Twitter, Facebook, Google, Instagram, Dropbox, Amnesty International, Human Rights Watch, etc.

จีนยังได้สร้างระบบเซ็นเซอร์ออนไลน์ที่กว้างขวางครอบคลุมและประณีตพิสดารที่สุดระบบหนึ่งของโลกขึ้นใช้ที่เรียกว่า “มหากำแพงไฟเมืองจีน” (The Great Firewall of China www.wired.com/1997/06/china-3/ ) ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990

นอกจากนี้ โพสต์บนเว็บไซต์ที่ทางการจีนอนุมัติ เช่น Weibo, WeChat, Youku ก็ถูกทางการลบทิ้ง (?) เป็นประจำ และข้อหาการเผยแพร่ข่าวลือออนไลน์ก็อาจทำให้พลเมืองเน็ตจีนต้องโทษจำคุกถึง 7 ปีได้

และแน่นอนว่าภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพสีจิ้นผิง การกำกับควบคุมอินเตอร์เน็ตจีนก็ยิ่งกระชับเข้มงวดขึ้นไปอีก (https://www.bbc.com/news/world-asia-china-35109453)

(ตอนต่อไป “นักรบหมาป่าไซเบอร์ของจีน” สัปดาห์หน้า)

ใต้ภาพ

ห้ามเข้า! มหากำแพงไฟเมืองจีนสำหรับเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต