วัดพลัง ‘ไทยไม่ทนฯ’ ชู 17 ข้อไล่ ‘ประยุทธ์’ ผนึกทนายนกเขา-คนพฤษภา ’35 ลุยอีกรอบ ’24 มิ.ย.’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

วัดพลัง ‘ไทยไม่ทนฯ’

ชู 17 ข้อไล่ ‘ประยุทธ์’

ผนึกทนายนกเขา-คนพฤษภา ’35

ลุยอีกรอบ ’24 มิ.ย.’

 

โหมโรงกันมาแรมเดือน สำหรับ “กลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” หลังนำอดีตแกนนำเสื้อสีมาร่วมตัวกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือขับไล่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่กลุ่มไทยไม่ทนฯ มองว่าเป็น ‘ศูนย์กลางปัญหา’ และเป็นเสาหลักค้ำ ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ยุค คสช. เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว

ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการตั้งเวทีไทยไม่ทนฯ ที่สวนสันติพร ถ.ราชดำเนิน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ทำให้ต้องยุติเวทีชั่วคราว

จากนั้น ‘ตู่’ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้จัดเวทีผ่านระบบช่องพีซทีวีและผ่านระบบออนไลน์แทน ทุกช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ โดยดึงบุคคลที่อยู่ขั้วต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเวทีจำนวนมาก ซึ่งหลายคนเป็นบุคคลที่เป็นแม่เหล็กทางการเมืองด้วย

เรื่อยมาถึงการจัดอีเวนต์ยาว ทั้งการจัดเวทีอภิปราย พร้อมกับการตระเวนยื่นหนังสือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ให้ถอนตัวจากการเป็น ‘พรรคร่วมรัฐบาล’

แต่ดูแล้วเป็นเพียงแค่สายลมพัดผ่าน เพราะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เกิดขึ้น รวมถึงตระเวนไปยื่นหนังสือ ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ให้ลาออกจากการเป็น ‘สมาชิก ส.ว.’ เพื่อไม่ให้ ‘กองทัพ’ มาค้ำบัลลังก์อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไร้สัญญาณตอบรับ

 

หากไล่เรียงรายชื่อแกนนำกลุ่มไทยไม่ทนฯ ทั้งจตุพร พรหมพันธุ์, อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่ตอนนี้ไปผนึกกำลังกับ ‘กลุ่มประชาชนคนไทย’ นำโดย ‘ทนายนกเขา’ นิติธร ล้ำเหลือ, ปรีดา เตียสุวรรณ์ ซึ่งคนเหล่านี้เคยร่วมเคลื่อนไหวยุค ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ โดยเฉพาะชื่อ ‘ปรีดา เตียสุวรรณ์’ ที่อยู่ในกลุ่ม ‘เพื่อนอานันท์ ปันยารชุน’ ที่ตั้งขึ้นช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

แม้ว่าในช่วง ‘ศึกสีเสื้อแดง-เสื้อเหลือง’ คนกลุ่มนี้จะมีแนวทางเดินต่างกัน

แต่ในฐานะ ‘ผองเพื่อน-พี่น้อง’ ร่วมอุดมการณ์ในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ร่วมต่อสู้กันมา ก็ยังคงมิตรภาพกันไว้ มีการพบปะกันในวงกินอาหารกัน

ครั้งหนึ่งเมื่อกันยายน 2563 เคยปรากฏภาพ ‘ตู่ จตุพร’ ร่วมกินข้าวกับ ‘อดีตแกนนำพันธมิตรฯ’ ซึ่งมี ‘อานันท์’ ร่วมโต๊ะ โดยเป็นงานวันเกิด ‘ประสาร มฤคพิทักษ์’ ที่อยู่ใน ‘กลุ่มเพื่อนอานันท์’ ด้วย

แม้ว่ากลุ่มไทยไม่ทนฯ กับกลุ่มประชาชนคนไทยจะแยกกันเดิน แต่สุดท้ายก็รวมกันตี จึงเป็นที่มาของการจะร่วมจัดชุมนุม 24 มิถุนายนนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นวันสัญลักษณ์ทางการเมือง ครบ 79 ปี เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475

อีกทั้งเป็นวันที่ ‘กลุ่มทนายนกเขา’ ได้ขีดเส้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกด้วย

 

ทั้งนี้ ‘ตู่ จตุพร’ และ ‘ทนายนกเขา’ ได้โหมโรง เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดกลุ่มไทยไม่ทนฯ ได้ส่งบันทึกความล้มเหลวของรัฐบาล 17 ข้อ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ การตระบัดสัตย์ต่อการปฏิรูป ที่ไม่มีการปฏิรูปใดๆ การสืบทอดอำนาจผ่าน 250 ส.ว. พร้อมสร้างระบอบประยุทธ์ผ่านกลไกรัฐสภา กลายเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น คุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง ทำให้เกิดการอุ้มหายหรือต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ มีการฟ้องหมิ่นประมาทประชาชน อีกทั้งได้สลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ด้วยความรุนแรงขัดหลักสากล ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคการเมืองและประชาชน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝั่งตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น

ทั้งนี้ รวมถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นคู่ขัดแย้ง ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้, สร้างระบอบเศรษฐกิจสีเทา ใช้คนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สีเทามาบริหารบ้านเมือง, สร้างเครือข่ายอิทธิพล รวมทั้งสร้าง “ระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดประชารัฐ” ที่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐีเจ้าสัวและนักธุรกิจการเมือง, มีนโยบายสุ่มเสี่ยงขายชาติขายแผ่นดิน, ใช้การระบาดของโควิดและความทุกข์ประชาชน เป็นเครื่องมือกระชับและผูกขาดอำนาจครอบจักรวาล เป็นต้น

ที่สำคัญ ข้อเรียกร้องสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 จาก 17 ข้อ โดยระบุว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แบ่งแยกประชาชนออกจากสถาบัน โดยใช้กฎหมาย ม.112 เป็นเครื่องมือคุกคามประชาชนและทำลายสถาบันทางอ้อม โดยไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาสถานะและอำนาจของตนเองไว้ และสร้างความขัดแย้งขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจ

โดย 7 ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น มากกว่า 478 คดี

 

น่าสนใจว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านจะร่วมขึ้นเวที 24 มิถุนายนนี้หรือไม่ เพราะยังสาละวนอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณากฎหมายที่ค้างวาระ ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่เบื้องต้นจะจัดประชุมช่วง 22-24 มิถุนายนนี้

หากย้อนท่าทีของพรรคฝ่ายค้านก็มีนัยยะสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มไทยไม่ทนฯ ได้นัดรวมตัวยื่นหนังสือให้พรรคฝ่ายค้าน ‘ลาออก’ เพื่อมาร่วมสู้กับประชาชน หยุดระบอบประยุทธ์ ในครั้งนั้น ‘ตู่ จตุพร’ กล่าวกับ ‘สุทิน คลังแสง’ ประธานวิปฝ่ายค้าน ว่า พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยไม่ควรปล่อยให้เผด็จการไปอย่างดีๆ แม้ว่าฝ่ายค้านจะทำหน้าที่เต็มที่ในสภา แต่สุดท้ายก็ ‘พวกมากลากไป’ ทำให้การอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งมีความชอบธรรม ฝ่ายค้านกลายเป็นเครื่องประดับว่าเป็นประชาธิปไตย นำมาซึ่งความเสื่อมต่อระบบรัฐสภา

ในครั้งนั้น ‘สุทิน’ ยอมรับว่า การทำงานที่ผ่านมา ฝ่ายค้านไม่สามารถถ่วงดุลรัฐบาลได้ เพราะมีอุปสรรคสำคัญคือองค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เข้มแข็ง และระบบรัฐสภาที่ใช้เสียงข้างมาก ไม่คำนึงถึงเสียงประชาชน

แต่อีกแง่หนึ่งถ้าฝ่ายค้านลาออก และรัฐบาลไม่สนใจ ก็จะส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสในการตรวจสอบรัฐบาล กลายเป็น ‘ปิ้งปลาประชดแมว’ เข้าทางรัฐบาล

 

อย่างไรก็ตาม หากดูเหตุผลการออกมาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านความล้มเหลว 17 ข้อ มีการมองความเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยไม่ทนฯ กับกลุ่มประชาชนคนไทย เป็นการ ‘ลดเพดาน’ ข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของ ‘กลุ่มคณะราษฎร 63’ ทำให้แนวทางของทั้ง 2 ฝ่าย จึงร่วมทางเดินกันไม่ได้ เพราะโฟกัสปัญหาและโครงสร้างการเมืองต่างกัน

อีกทั้งข้อเสนอฝั่งกลุ่มไทยไม่ทนฯ และกลุ่มประชาชนคนไทย กลับเรียกร้องการได้มาซึ่ง ‘รัฐบาล’ ที่มีลักษณะ ‘เฉพาะกาล’ ขึ้นมา โดยใช้คำว่า ‘รัฐบาลสร้างชาติ’ อีกทั้งกลุ่ม ‘ทนายนกเขา’ ก็มีความชัดเจนเรื่องให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ มาแทน

โดย ‘ทนายนกเขา’ ระบุเหตุผลว่า หากดูรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคต่างๆ ก็มี ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเห็นผลงานจากการบริหารโควิด ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนปรากฏผลงานแล้ว และบางคนก็ได้แสดงทัศนคติต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ออกมาแล้ว ก็ให้ดูว่าประเทศชาติจะไปรอดหรือไม่ แต่การได้มาซึ่ง ‘นายกฯ คนนอก’ ก็ให้เป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญเช่นเดิม

ทั้งนี้ หากมา ‘เช็กบัญชีนายกฯ’ ก็จะพบว่า ตามรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนในมาตรา 159 ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิก ส.ส.ที่มีอยู่ 500 คน ซึ่งพรรคที่ได้ ส.ส. 25 คน ขึ้นไป จึงมีสิทธิเข้าชิงนายกฯ

หากไล่เรียงบัญชีฝั่งรัฐบาล ก็จะพบว่ามี 2 คน ได้แก่ นายอนุทิน และ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ในกรณีที่ไม่นับ พล.อ.ประยุทธ์ ในซีกพรรคฝ่ายค้านเหลือเพียง 3 รายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แก่ ‘หญิงหน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ แม้จะลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว แต่ยังคงมีคุณสมบัตินี้อยู่ และ ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ ประธานคณะกรรมการการเมือง พรรคเพื่อไทย

ส่วน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

 

ทว่าแนวคิดนายกฯ คนนอกถือว่า ‘กลับตาลปัตร’ จากแนวทางที่ ‘คนยุคพฤษภาทมิฬ 2535’ เคยต่อสู้มา ในการโค่นล้มการสืบทอดอำนาจของ รสช. หลัง ‘บิ๊กสุ’ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ทำการ ‘ตระบัดสัตย์’ ขึ้นเป็นนายกฯ เสียเอง

ผ่านมาเกือบ 30 ปี กลับมีข้อเสนอ ‘นายกฯ คนนอก’ ออกมาอีกครั้ง แม้ว่ากลุ่มไทยไม่ทนฯ กับกลุ่มประชาชนคนไทย จะแยกกันเคลื่อนไหวก็ตาม แต่ก็เป็น ‘วงศาคณาญาติ’ กันทั้งสิ้น

จึงทำให้การชุมนุม 24 มิถุนายนนี้ ถูกจับตาว่าจะเป็นตามโหมโรงไว้หรือไม่ ที่สำคัญจะได้เห็นภาพมวลชนและแกนนำทั้งหมดอย่างชัดเจนด้วย

24 มิถุนายนนี้ ได้รู้กัน!!