วิถีชนบทที่ปรับเปลี่ยน : โอกาสที่มาพร้อมวิกฤตโควิด/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

วิถีชนบทที่ปรับเปลี่ยน

: โอกาสที่มาพร้อมวิกฤตโควิด

 

สัปดาห์ก่อนผมเขียนถึงความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนในชนบทหลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ตามที่ผมได้สัมผัสมาในการไปพูดคุยมาหลายปี

ด้วยการทำรายการ “ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน” ให้กับ ThaiPBS ที่ต้องการจะให้เสียงของคนเล็กคนน้อยในชนบทได้เข้าถึงหูของคนไทยในภาคส่วนอื่นๆ อย่างมีความหมายในแง่การแบ่งปันและหวังว่าจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในระดับนโยบาย

และเมื่อได้อ่านรายงานภายใต้หัวข้อ “แรงงานอีสานคืนถิ่น… ปรับตัวอย่างไรในวิกฤตโควิด-19” ในนิตยสาร “พระสยาม” (BOT Magazine) ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยิ่งมีความเชื่อว่าเรากำลังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในชนบทที่มีนัยสำคัญยิ่ง

รายงานนี้เกิดจากการที่ทีมงานของแบงก์ชาติลงไปสอบถามคนในชนบทด้วยตนเอง

ทำให้มีประเด็นว่าคนต่างจังหวัดเมื่อเจอภัยคุกคามจากโควิด-19 ก็ตัดสินใจคืนสู่อาชีพเกษตร เพิ่มพูนทักษะ โดยมี “อาวุธ” ที่ครบมือ

รายงานนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในการตั้งวงคุยกับคนในชนบทหลายจังหวัดในทุกภาคตลอดเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา ทั้งก่อนโควิดและระหว่างโควิด…โดยไม่รอว่าหลังโควิดจะเป็นเช่นไร

 

รายงานนี้เน้นว่าโควิด-19 ทำให้เห็นบริบทและความท้าทายเชิงโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าเดิม

ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เช่น ยกระดับทักษะเดิม (upskill) และเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) หรือการพัฒนาทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับลักษณะของงานประจำให้มากขึ้น

การย้ายออกจากเมืองใหญ่กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แรงงานอีสานคืนถิ่นจะได้นำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมากลับมาพัฒนา หรือต่อยอดธุรกิจในชุมชน

หากภาครัฐมีนโยบายที่เข้ามาช่วยเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพใหม่หรือยกระดับอาชีพเดิม จะช่วยให้การพัฒนายั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว

เช่น การยกระดับภาคเกษตรโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน

และการส่งเสริมสตาร์ตอัพในท้องถิ่น

โดยแรงงานกลุ่มที่มีทักษะเฉพาะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่บ้านเกิดมาตลอด หรือเคยสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานในเมืองใหญ่จะสามารถปรับตัวและเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว

รวมทั้งยังมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าแรงงานกลุ่มที่ไม่มีทักษะเฉพาะ

 

รายงานนี้มีตัวอย่างการปรับตัวของแรงงานอีสานคืนถิ่นที่กลับมาพึ่งพาภาคเกษตร เช่น คุณแม้ว-เพียงพิศ ลิวงษ์ ที่ไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟบนเกาะสมุย

เมื่อธุรกิจถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเจ้าของร้านอาหารจำเป็นต้องปิดกิจการ ทำให้คุณแม้วตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว

เธอจึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น และถือโอกาสกลับมาดูแลคุณพ่อที่ป่วยติดเตียง

เมื่อกลับมาคุณแม้วได้ช่วยคุณแม่เลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัว แต่รายได้ยังคงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องมองหางานอื่นๆ ทำเพิ่มเติม

แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจประกอบกับข้อจำกัดด้านอายุและการศึกษา ทำให้การหางานไม่ง่ายนัก

เมื่อได้มารู้จักกับโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรออนไลน์และพัฒนาทักษะต่างๆ

อาทิ หลักสูตรเกษตรพอเพียง การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนเกษียณอายุ และการวางแผนทางการเงิน

การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเพื่อนบ้านและการเข้าร่วมอบรมโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ทำให้คุณแม้วเกิดแรงบันดาลใจและมีความมั่นใจในการทำการเกษตรมากขึ้น

เกิดความคิดในการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่บ้านบนที่ดินของตัวเอง ซึ่งเป็นการต่อยอดประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงไก่อยู่เดิมและมีตลาดรองรับที่แน่นอน

แต่แนวคิดการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ของคุณแม้วจะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านองค์ความรู้และเงินทุน

หลังจากที่ห่างบ้านไปทำงานที่เกาะสมุยมาหลายปี การกลับบ้านครั้งนี้ทำให้คุณแม้วตระหนักว่าการทำงานที่บ้านและได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวนั้นมีความสุขเพียงใด

จึงตัดสินใจว่า หากเป็นไปได้จะไม่กลับไปทำงานในเมืองใหญ่อีก และจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่จังหวัดขอนแก่น

 

อีกกรณีหนึ่งตอกย้ำถึงการประยุกต์ทักษะ สร้างรายได้ และขยายกิจการ

คุณแพร-นภนันท์ บุญญศาสตร์พันธุ์ อีกหนึ่งแรงงานอีสานคืนถิ่นที่ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น

หลังเรียนจบปริญญาตรี คุณแพรได้ออกไปตามหาความฝันในเมืองใหญ่ โดยเริ่มจากการเรียนเป็นครูสอนทำอาหารที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะเริ่มสอนทำอาหาร และเบเกอรี่ให้กับนักท่องเที่ยวในโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ต

หลังจากทำงานได้ 3 ปี โรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด แรงงานในจังหวัดภูเก็ตไม่มีทางเลือกจึงต้องกลับภูมิลำเนา เพื่อไปตั้งหลักใหม่

ในช่วงแรกที่คุณแพรกลับมาอยู่จังหวัดขอนแก่น ยังไม่มีงานใหม่ทำจึงทำขนมไปแจกเพื่อนๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาล เพื่อให้กำลังใจในการต่อสู้กับโควิด-19

โดยเริ่มจากโดนัท เพราะเป็นขนมที่ทำง่าย เมื่อเพื่อนๆ ได้ลองรับประทาน ก็มีเสียงตอบรับที่ดีมากและช่วยบอกต่อกัน จนทำให้คุณแพรได้รับออเดอร์ขนมเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนจุดประกายให้คุณแพรเห็นช่องทางในการทำธุรกิจสร้างรายได้

ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่และทักษะการทำขนมที่สะสมมาหลายปี จึงได้เริ่มพัฒนาขนมอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ทั้งทอฟฟี่เค้ก และมาการอง

บทเรียนจากโควิด-19 ได้สอนให้คุณแพรลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ จึงเลือกทำขนมตามที่ลูกค้าสั่งไว้เท่านั้น

ธุรกิจของคุณแพรนอกจากจะสร้างรายได้ให้ตนเองแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอื่นๆ ในท้องถิ่นจากการเลือกใช้วัตถุดิบ อาทิ ดอกไม้ แป้ง และส่วนผสมต่างๆ ในพื้นที่

นอกจากนี้ คุณแพรยังได้เริ่มทำการตลาดผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก

และด้วยการโต้ตอบอย่างเป็นกันเองจึงสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน ธุรกิจขายขนมกำลังไปได้ดี คุณแพรจึงเริ่มวางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจด้วยการเปิดหน้าร้านของตัวเองควบคู่ไปกับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ คือ โรงเรียนสอนกิจกรรม เช่น วาดรูปและทำขนม ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแพรทำแล้วมีความสุข

นับเป็นการนำทักษะติดตัวมาประยุกต์ใช้ ขยายกิจการ และสร้างรายได้ ให้ธุรกิจอื่นในบ้านเกิดได้อีกด้วย

 

ตัวอย่างสองกรณีนี้ตรงกับที่ผมได้พบปะพูดคุยกับผู้คนในต่างจังหวัดเกือบทุกภาค

คนรุ่นใหม่และรุ่นกลางกลับบ้านเดิมทั้งก่อนโควิดและระหว่างเกิดโควิดเริ่มจะเห็นลู่ทางของวิถีใหม่ที่ “ทำงานที่ไหนก็ได้”

และหากฝึกฝนสร้างทักษะใหม่ที่มีเทคโนโลยีช่วยด้วยก็สามารถจะต่อยอดจากทุนเดิมทางการเกษตรและชีวิตแบบชนบท

เป็นความสุขและความภาคภูมิใจของคนในยุคที่ต้องปรับและเปลี่ยนเพราะวิกฤตที่คาดไม่ถึง

เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าในทุก “วิกฤต” นั้น “โอกาส” รออยู่ตรงหัวมุมถนนข้างหน้าเท่านั้น