รัฐฮึดสู้ เดินหน้าปั๊มหัวใจการลงทุน เดิมพัน 1 ปี หวังฟื้นชีพเศรษฐกิจ ทำได้จริงหรือแค่ฝันเฟื่อง/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

รัฐฮึดสู้ เดินหน้าปั๊มหัวใจการลงทุน

เดิมพัน 1 ปี หวังฟื้นชีพเศรษฐกิจ

ทำได้จริงหรือแค่ฝันเฟื่อง

 

แม้ทุกฝ่ายจะยืนยันว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการฟื้นเศรษฐกิจ คือการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด หรือเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ คือฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้

แต่ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปัจจัยที่ยังเป็นตัวสนับสนุนให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อไปได้ คือภาคการส่งออก ที่ยังมีแนวโน้มเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง แต่อีกปัจจัยที่รัฐกำลังเข็นให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือภาคการลงทุน

ถึงจะมีความเป็นไปได้ที่การลงทุนจะเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย เป็นอุปสรรคหลักในการขับเคลื่อนภาคลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถเดินทางเข้ามาพูดคุยหรือเข้ามาดูสถานที่ที่อยากลงทุนได้

ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้พยายามดึงการลงทุนอย่างเต็มที่แต่ก็ยังไม่เป็นผล

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในปัจจุบันไว้ว่า ตอนนี้ความต้องการเรื่องการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีเข้ามา แต่ยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเดินทาง และติดเรื่องสภาวะตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่มีสัญญาณแล้วว่าบางประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับคนหมู่มากได้ ก็เริ่มขาดสินค้าบางอย่าง สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระตุ้นบางอย่าง คือในเรื่องของการลงทุนในประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มกลับมาแล้วถึงแม้จะยังไม่มากก็ตาม

อีกทั้งต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต หรือคู่กับโมเดลภูเก็ต แซนด์บอกซ์เพราะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญไม่ใช่เพียง แค่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นในเรื่องของการเดินทางของนักธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ หรือแม้แต่นักลงทุนไทยเอง ถ้าโมเดลนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือทำได้สำเร็จ เรื่องของการเดินทางของนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยก็จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องความสะดวกในการเดินทางยังส่งผลต่อการตัดสินใจในโครงการสำคัญต่างๆ ของภาครัฐอีกด้วย

 

ด้านสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้า และสภาหอการค้าไทย เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สำหรับการลงทุนก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว หลายประเทศฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วถึงมากขึ้น อาทิ สหรัฐ และจีน หวังว่าประเทศไทยก็คงจะเช่นเดียวกันหากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวก็จะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เกิดการลงทุนใหม่และเปิดกิจกรรมในภาคบริการได้อย่างเต็มที่

รวมทั้งอยากจะเห็นถึงความสำเร็จของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญที่สุด แม้การลงทุนของไทยในส่วนนี้ที่ดูเหมือนจะได้น้อย แต่จะเป็นแรงที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างมากเพราะได้เตรียมความพร้อมระบบสาธารณูปโภคหลายๆ อย่างไว้แล้ว

ดังนั้น ขอให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศโดยเร็วต่อไป

 

ส่วนมุมมองเรื่องการลงทุนจากฟากนักวิชาการอย่างนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ โดยพื้นฐานประเทศไทยก็มีปัญหาอยู่แล้ว อาทิ ปัญหาสังคมสูงวัยสุ่มเสี่ยงในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไทยพยายามหาวิธีทีปรับโครงสร้างอยู่ โดยการสร้างโครงการต่างๆ ขึ้นมา

อย่างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แผนที่วางไว้ต่างๆ เกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น

อาทิ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือเอ็มอาร์โอ ที่ไทยเคยคาดหวังไว้ว่าจะเอาเครื่องบินนานาชาติเข้ามาส่งผู้โดยสารและสามารถมาซ่อม หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้ จากเดิมที่คาดหวังไว้ตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้แล้วซึ่งผลกระทบหลักเกิดจากโควิด-19 กระทบภาคการท่องเที่ยว จนส่งผลให้เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ดังนั้น โจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งทำหลังจากนี้ คือต้องปรับปรุงและพัฒนาอุสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น ท้ายที่สุดต้องดูถ้าอุตสาหกรรมไหนเก่ามันไม่ไหวหรือไม่เกิดในไทย ก็ต้องเพิ่มการพัฒนาให้มากขึ้น

ส่วนเรื่องระเบียบในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น มองว่าปัจจัยหลักที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้อยู่ที่เรื่องกฎระเบียบ หรือสิทธิประโยชน์มากนัก สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจคือในเรื่องของการจัดหาแรงงาน ซึ่งไทยยังด้อยในเรื่องนี้ อย่างหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องการวิศวะกรที่เรียนจบ ปวช. หรือ ปวส. แต่เราไม่สามารถหาให้ได้ เพราะในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแต่เด็กที่จบปริญญาตรี ในเรื่องนี้จึงทำให้การลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นในไทยน้อยลง และทำให้ไทยเป็นรองต่างชาติ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะสามารถเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ คือการอัดฉีดมาตรการภาครัฐ ที่ตอนนี้รัฐได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อไม่นานนี้ ก็ต้องนำไปอัดฉีดให้ตรงจุด แต่ก็อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับปานกลาง

ส่วนเรื่องการลงทุนที่หวังว่าจะให้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจคู่กับภาคการส่งออกนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ง่ายๆ หรือสามารถทำได้ภายใน 1 ปีอย่างที่รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดหวังไว้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ก่อนจะต้องส่งไม้ต่อให้กับรัฐบาลชุดใหม่ได้แน่นอน

เข้าใจว่าการที่จะเกิดการลงทุนต้องขายของได้ก่อน เพราะฉะนั้น ดีมานด์จะต้องฟื้นก่อน การที่ภาครัฐกระตุ้นมันจึงไม่ใช่ดีมานด์จริง จึงคาดว่าการลงทุนกว่าจะกลับมาเป็นปกติน่าจะช่วงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ดังนั้น ในช่วงนี้ไทยควรทำตัวให้เซ็กซี่ก่อน ปรับโครงสร้างพื้นฐานวางกลยุทธ์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เม็ดเงินเริ่มกลับเข้ามา ถ้าไทยมีความพร้อมทั้งเรื่องแรงงานและนโยบายต่างๆ ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ แต่คงไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น

เห็นทีจะเป็นงานหนักขอรัฐบาลอีกแล้ว คงต้องลุ้นต่อไปว่าทั้งแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเข็นการลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐว่าไว้ไหม หรือจะเป็นเพียงฝันเฟื่องที่รอโควิดมาเขย่าให้ตื่น

ต้องติดตามต่อไป