จอมพล ป. : เผด็จการฟาสซิสต์ ผู้นำชาตินิยม หรือนักประชาธิปไตย (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

จอมพล ป.

: เผด็จการฟาสซิสต์ ผู้นำชาตินิยม

หรือนักประชาธิปไตย (จบ)

 

การส่งผ่านแนวคิดอะไรก็ตามที่ถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีกาละ+เทศะ (space+time) แบบหนึ่ง ไปยังอีกพื้นที่ที่มีกาละ+เทศะ อีกแบบหนึ่ง เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยการเลือกรับและปรับใช้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีทางที่แนวคิดแบบใดแบบหนึ่งของสังคมหนึ่งจะมีลักษณะหยุดนิ่งและคงความหมายในแบบเดิมได้ทั้งหมดเมื่อตัวมันถูกส่งผ่านไปสู่สังคมอื่น (แม้กระทั่งในสังคมเดียวกันก็ตาม หากเวลาเปลี่ยนแนวคิดก็เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน)

การรับแนวคิดว่าด้วย “ความเป็นสมัยใหม่” ของสังคมไทย รวมถึงสังคมนอกอารยธรรมตะวันตกเกือบทั้งหมด ก็เช่นกัน ย่อมไม่มีทางเป็นไปในลักษณะสูตรสำเร็จตามขั้นตอนพัฒนาการในแบบที่สังคมตะวันตกเป็น

ที่เป็นเช่นนั้น มิใช่เพราะสังคมไทยมีเอกลักษณ์อันเข้มแข็ง พิเศษ ไม่เหมือนใคร แบบที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมชอบยกมาพูดนะครับ แต่เป็นเพราะข้อจำกัดอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ต่างหาก

กระบวนการในสมองและจิตใจของมนุษย์ไม่ใช่การส่งพัสดุไปรษณีย์จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งที่จะได้รับสิ่งของสมบูรณ์แบบจากต้นทางนะครับ มนุษย์มีกระบวนการอ่าน ทำความเข้าใจ และตีความบนเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของตนเอง จนการส่งผ่านแนวคิดอะไรก็ตามย่อมไม่อาจคงสภาพเหมือนต้นทางได้

ผลลัพธ์ของกระบวนการก้าวสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” จึงเป็นบางอย่างที่นักวิชาการบางคนเรียกว่าสภาวะของ “ลูกผสม” (Hybrid) อันเป็นสภาวะของความพยายามเข้าครอบงำจากแนวคิดใหม่กับการต่อสู่ขัดขืนเพื่อความอยู่รอดของแนวคิดเดิม

ภายใต้กระบวนการนี้ ไม่มีฝ่ายใดชนะหรือแพ้โดยสมบูรณ์ และดังนั้น จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเข้าแทนที่อย่างเบ็ดเสร็จ หรือพ่ายแพ้อย่างหมดรูป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สภาวะอย่างใหม่ที่แนวคิดทั้งสองปรากฏอยู่ด้วยกันภายใต้รูปแบบใหม่ที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังคงต่อสู้แข่งขันกันอยู่ตลอดไป

กระบวนการก้าวเข้าสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” ของไทยจวบจนกระทั่งปัจจุบัน จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวะระหว่าง “ความเป็นสมัยใหม่” (แบบตะวันตก) ที่ไม่มีวันไปถึง กับ “จารีตประเพณี” ที่ไม่มีวันสูญหาย แต่ก็ไม่มีวันกลับมาครอบงำสังคมได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

ภายใต้กรอบความคิดนี้ ผมคิดว่าเราสามารถนำมาใช้มองปฏิบัติการทางสังคมและการเมืองของชนชั้นนำไทยได้เช่นกัน

และจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือตัวแบบที่น่าสนใจที่นักเรียนประวัติศาสตร์น่าทดลองนำมาใช้ดู

 

ภายใต้ “ป้ายชื่อ” ที่ จอมพล ป.ถูกแขวนให้จากนักประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์, ผู้นำชาตินิยม, ทหารที่ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร, นักประชาธิปไตย, นักการเมืองล้มเจ้า ฯลฯ ผมคิดว่า ป้ายทั้งหมดอาจไม่มีป้ายใดที่สามารถอธิบายความเป็นจอมพล ป.ได้

เราควรมองการรับแนวคิดแบบฟาสซิสต์ ไม่ต่างจากการรับแนวคิดว่าด้วย “ความเป็นสมัยใหม่” อะไรนะครับ แน่นอน ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธเลยว่า จอมพล ป.มีความนิยมชมชอบแนวคิดนี้ นโยบายรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายอย่างได้แรงบันดาลใจมาจากฟาสซิสต์และนาซีอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ประเด็นคือ แน่ใจจริงหรือ ว่าเราสามารถเทียบเคียงสิ่งที่จอมพล ป.ทำไปในลักษณะที่เท่ากันกับสิ่งที่ฟาสซิสต์ในยุคมุสโสลินีทำ หรือนาซีในยุคฮิตเลอร์ทำ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าไม่

ป้ายแขวนว่าด้วยนักประชาธิปไตยก็เช่นกัน ผมเองเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยนะครับว่ามีนโยบายหลายอย่างของจอมพล ป.ที่ทำขึ้นอย่างสอคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ใครเคยอ่านงานผมย่อมมองเห็นประเด็นนี้อย่างเด่นชัด

แต่เราสามารถนำป้ายนักประชาธิปไตยแขวนให้ได้ไหม ผมก็ยังลังเลอยู่มาก เพราะในช่วงเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน จอมพล ป.ก็มีปฏิบัติการที่สอดรับกับฟาสซิสต์ไม่น้อย โดยเฉพาะแนวคิดว่าด้วยเชื้อชาตินิยม

ยิ่งภายหลังการรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้จอมพล ป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายใต้บริบทสงครามเย็น ยิ่งเห็นชัดว่านโยบายหลายอย่างห่างไกลจากคำว่าประชาธิปไตย กรณีสังหาร 4 รัฐมนตรีอีสาน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ในช่วงเวลาเดียวกัน จอมพล ป.ก็ดำเนินนโยบายที่พยายามไม่ให้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมือง หรือในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ก็มีการเปิดพื้นที่ไฮด์ปาร์กทางการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกๆ

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

 

ขอออกนอกเรื่องนิดนะครับ บางคนชอบแย้งว่า ที่ทำไปรู้ได้ไงว่าเพราะหลักการประชาธิปไตย ก็แค่ทำไปเพราะรักษาอำนาจทางการเมืองเท่านั้นแหละ ซึ่งก็อาจจะจริงนะครับ

แต่ประเด็นคือ มนุษย์ทุกคน นักการเมืองทุกฝ่าย และชนชั้นนำทุกระดับ ก็เป็นเช่นนี้ คือเราไม่มีทางรู้ได้จริงๆ ว่าเขาทำไปเพราะเชื่อในสิ่งที่ทำ หรือเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว

ดังนั้น ทำไมเราจึงมองเพียงจอมพล ป. (รวมถึงนักการเมืองที่เราไม่ชอบเท่านั้น) ว่าอาจกระทำสิ่งที่หน้าไว้หลังหลอก

ทั้งๆ ที่เราควรใช้กรอบวิธีมองแบบนี้กับคนที่ถืออำนาจทุกคนเลยต่างหาก

 

กลับมาที่ประเด็นอีกครั้ง ข้อเสนอของผมก็คือ จอมพล ป.อาจเป็นทุกอย่างดังกล่าวในเวลาเดียวกัน และการแขวนป้ายนิยามใดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งการจะทำความเข้าใจให้ได้อย่างแท้จริงอาจต้องมองด้วยกรอบแนวคิด “ลูกผสม” ที่อธิบายไปตอนต้น

เพื่อความชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างที่เคยทำเรื่อง “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” นะครับ

ในแวดวงวิชาการทางสถาปัตยกรรมในอดีต (จริงๆ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่) มองงานกลุ่มนี้ภายใต้นิยามและคำเรียกที่อ้างอิงจากงานสถาปัตยกรรมตะวันตกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่”, “สถาปัตยกรรมฟาสซิสต์”, “สถาปัตยกรรมอาร์เดโค”, “สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค” ฯลฯ

แต่ในทัศนะผม คำเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายงานที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยช่วงดังกล่าวได้เลย เพราะคำนิยามทั้งหลายที่กล่าวมาล้วนมีความหมายที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสถาปัตยกรรม สภาพสังคม เศษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่เป็นต้นกำเนิดของนิยามนั้นๆ ซึ่งหลายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยเลย

นอกจากนี้ รูปแบบที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หลายอย่างก็ไม่เคยปรากฏในรูปแบบต้นทาง เช่น การแทรกสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญลงไปในอาคาร และการออกแบบที่เล่นกับเลขหก เพื่อสื่อถึง “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร เป็นต้น

ที่สำคัญ ในอาคารบางประเภท ก็ผสมผสานกันระหว่างเส้นสายสมัยใหม่ของศิลปะอาร์ตเดโคเข้ากับทรวดทรงแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างความเป็นสมัยใหม่และความเป็นจารีตประเพณี หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่เป็นทั้งสมัยใหม่และประเพณี

 

สภาวะลูกผสมทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ไม่อาจนิยามได้ว่าคือสิ่งใดกันแน่ดังกล่าว เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมสร้างคำนิยาม “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ขึ้นมา เพื่อเป็นป้ายชื่อที่ครอบคลุมสภาวะลูกผสมที่เกิดขึ้นจริงภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของสังคมไทยเอง

กรอบแนวคิดเช่นนี้ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์เพื่อศึกษาและอธิบายจอมพล ป.ในทิศทางใหม่ได้นะครับ ผลการศึกษาที่ได้จะนำไปสู่จอมพล ป.ในสภาวะระหว่างเผด็จการฟาสซิสต์, ทหารนิยม, นักประชาธิปไตย, นักรัฐประหาร และนักการเมืองล้มเจ้า หรือพูดให้ตรงกว่าก็คือ เป็นจอมพล ป.ที่ไม่ใช่ทั้งเผด็จการฟาสซิสต์, ทหารนิยม, นักประชาธิปไตย, นักรัฐประหาร และนักการเมืองล้มเจ้า

สภาวะที่ทั้งเป็นได้ทุกอย่างและไม่เป็นอะไรสักอย่างเช่นนี้เองที่รอคอยนักประวัติศาสตร์เข้ามานิยามลักษณะเฉพาะ ที่เหมาะสมและครอบคลุมทุกปฏิบัติการทางการเมืองและวัฒนธรรมของจอมพล ป.อย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม คำว่า “รอบด้าน” ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงสัจธรรมที่ลอยพ้นกาลเวลาแต่อย่างใดนะครับ ข้อค้นพบดังกล่าว หากมีคนสนใจศึกษาจริง ก็คงเป็นได้แค่เพียงข้อเสนอใหม่ที่มีช่วงชีวิตของมัน ไม่ต่างจากงานเขียนทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่นๆ

แต่อย่างน้อย ภายใต้บรรยากาศ “การเกิดใหม่ของคณะราษฎร” ที่ทำให้จอมพล ป.กลับมามีสถานะฝุ่นตลบทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ ตลอดจนถูกผลักให้มายืนในพื้นที่สปอตไลต์ทางการเมืองอีกครั้ง

ผมคิดว่า ในพื้นที่ทางวิชาการก็ควรถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันกลับมาทำสังคายนาเรื่องจอมพล ป.กันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง