วัคซีนโควิด 100 ล้านโดส บทพิสูจน์ฝีมือ ‘บิ๊กตู่’ เกมบาลานซ์อำนาจ ศบค.-สธ./บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วัคซีนโควิด 100 ล้านโดส

บทพิสูจน์ฝีมือ ‘บิ๊กตู่’

เกมบาลานซ์อำนาจ ศบค.-สธ.

 

เป็นข่าวใหญ่กระหึ่มไปทั่วสารทิศ สำหรับการ “คิกออฟ” ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการกดปุ่มเปิด “วาระแห่งชาติ” ที่จุดฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ และมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ร่วมด้วย

นี่คือการสร้างความมั่นใจเรื่องแผนการจัดการวัคซีนครั้งสำคัญ

โดยงานนี้ นายกรัฐมนตรี หรืออีกนัยหนึ่งในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะมีการปรับการจัดสรรใหม่ ยึดเป้าหมายจังหวัด พื้นที่ระบาด และพื้นที่ทางเศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และจะปรับแผนแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์

ที่สำคัญ ศบค.ยืนยันว่า มีวัคซีนเตรียมให้บริการประชาชน 3 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า (เดิมตามแผน 6 ล้านโดส จะเริ่มฉีดในเดือนมิถุนายน) และซิโนฟาร์ม ที่นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งวัคซีนทางเลือก จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (แจนเซ่น-ซีแลก) และโมเดอร์นา (ซิลลิค ฟาร์มา)

 

ท่ามกลางความสับสน ความขลุกขลัก รวมถึงกระแสข่าววัคซีนไม่พอ สำหรับการจะเริ่มคิกออฟฉีดในช่วงวันแรกๆ เนื่องจากแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนหลักในการสู้กับโควิด ที่จะทยอยส่งมอบเป็นล็อตๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงธันวาคม “มาไม่ตามนัด” และทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องวิ่งแก้ปัญหาด้วยการสั่งซื้อซิโนแวคมาเสริมในระยะแรกๆ

นอกจากนี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ส่งมอบและมีจำนวนจำกัด ทำให้การจัดสรรไปยังจังหวัดและโรงพยาบาลต่างๆ มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนฉีด ทำให้มีภาพของโรงพยาบาลหลายๆ แห่งที่ประกาศการเลื่อนนัดหมายฉีดวัคซีน โรงพยาบาลไหนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าหมดแล้วก็จะมีซิโนแวคเข้าไปเป็นตัวเสริมสำหรับการฉีดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ รอจนกว่าแอสตร้าเซนเนก้าล็อตใหม่จะส่งไปถึง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำนโยบายการเพิ่มวัคซีนของประเทศให้ครบ 100 ล้านโดสว่า เตรียมจะลงนามเพื่อซื้อวัคซีนเพิ่มอีกมากกว่า 25 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส และยังจะมีซิโนแวคเพิ่มมาอีก 8 ล้านโดส

ขณะที่นายอนุทินยืนยันว่า ภายในเดือนมิถุนายน แอสตร้าเซนเนก้าจะทยอยส่งมอบวัคซีนตามแผน และยังมีวัคซีนอีกหนึ่งยี่ห้อร่วมด้วย

“เราไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียวในเรื่องวัคซีน โดยม้าคือวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ม้าตัวแรก แอสตร้าเซนเนก้า ตัวที่สอง ซิโนแวค ตัวที่สาม จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ตัวที่สี่ โมเดอร์นา ตัวที่ห้า ซิโนฟาร์ม และจะมีม้าตัวที่หกและเจ็ดต่อไป”

ล่าสุด บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความเคลื่อนไหวในการเตรียมจะนำเอกสารมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยภายใต้ภาวะฉุกเฉิน หากเรียบร้อยดี อย.ยืนยันว่าสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 เดือน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โควิดระลอก 3” ที่กลับมาโจมตีอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะในแง่ของการบริหารการจัดการ “วัคซีนโควิด-19 ” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศเพิ่มจำนวนวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มียอดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าอยู่แล้วราวๆ 65 ล้านโดส และนิ่งนอนใจว่ามีปริมาณเพียงพอที่จะฉีดให้คนไทย

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการประกาศแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา (คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2564) จากนั้น ปลายเดือนเมษายน คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนฯ ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงาน ได้มีการประชุมเพื่อเสนอแนวทางต่อนายกรัฐมนตรี

โดยคณะทำงานได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยควรเพิ่มจำนวนการนำเข้าวัคซีนอีกประมาณ 35 ล้านโดส เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนครบ 100 ล้านโดส

เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายในธันวาคม 2564 นี้

 

ถัดมาเพียง 1 สัปดาห์ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศเรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย จำนวน 31 ฉบับ โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน

เป็นการรวบอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับ แก้ปัญหาโควิด มาไว้ที่นายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งการรวบอำนาจเรื่องวัคซีนจาก สธ.มาอยู่ในมือ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ถือโอกาสชี้แจงเรื่องนี้ ในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

“…ที่ว่าผมไปรวบอำนาจมา เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรงและอันตรายให้กรอบอำนาจเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถไปสั่งการหน่วยงานอื่นได้ ผมจำเป็นต้องเอากฎหมาย 31 ฉบับมาดูว่า ถ้าจะให้ทหาร ตำรวจ มหาดไทยทำจะทำอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจ นั่นแหละคืออำนาจในการบูรณาการของผม แค่นั้น ไม่ใช่ผมนึกว่าจะสั่งโน่นสั่งนี่ แต่ต้องเสนอและเป็นอำนาจของ ศบค.”

“คำว่าที่ปรึกษา ไม่ใช่ที่ปรึกษาต้องไปนั่งใน ศบค. แต่หมายถึงที่ปรึกษากับผม เพื่อให้ผมไปสั่ง ศบค. ไปพิจารณาโดยฟังบุคลากรในที่ประชุม ศบค. ซึ่งมีหลายสิบคน ประชุมกันเช้า-บ่าย แทบไม่มีวันหยุด และนำไปสู่การปฏิบัติ โดยฟังเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งมาจากกระทรวงสาธารณสุขแน่นอน”

 

ขณะที่ทั้ง ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ต่างต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องวัคซีน ทั้งการกระจาย การฉีด การหาวัคซีนเข้ามาเพิ่ม ในส่วนของ “วัคซีนทางเลือก” ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจัดหาเข้ามา โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลาง

ล่าสุดมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ข้อสรุปว่า จากยอดจองจากสมาชิกเกือบๆ 400 โรงที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นสมาคมจะสั่ง “โมเดอร์นา” เข้ามา 10 ล้านโดส โดยฉีดให้ประชาชนในราคาประมาณ 1,900 บาท/โดส (รวมค่าบริการ ค่าประกัน) และคาดว่าจะเข้ามาถึงไทยได้ประมาณเดือนตุลาคมนี้ หรืออาจจะเร็วกว่านี้เล็กน้อย

หรือในส่วนของซิโนฟาร์ม ที่ดำเนินการโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้รับความสนใจจากองค์กรนิติบุคคลหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้อง และมียอดจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก ล่าสุด เคาะราคาแล้วเพียง 888 บาท/โดส รวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา ค่าประกัน ยังไม่รวมค่าบริการของโรงพยาบาล และคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในปลายเดือนมิถุนายนนี้

ที่สำคัญ หลายๆ ฝ่ายเชื่อว่า จากความไม่ชัดเจนของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาและยังเป็นเรื่องที่ฝากความหวังไว้กับอนาคต จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ทั้งโมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

ต้องยอมรับว่า นาทีนี้ วัคซีนโควิด-19 มีค่ายิ่งกว่าทองคำ มีค่ายิ่งกว่าเพชร

วัคซีนโควิด-19 เป็นของล้ำเลอค่า…แม้จะมีเงินทองมากมายก็ซื้อหาไม่ได้

แต่อีกด้านหนึ่ง…ใครที่มีวัคซีนอยู่ในมือจึงย่อมมีอำนาจเป็นธรรมดา