เข้าใจก่อนทิ้ง! โลกน่าอยู่เมื่อรู้จักแยกขยะ

โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ชวนทำความรู้จักการแยกขยะตามสีของถัง โดยถังขยะที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตา มีทั้งหมด 4 สี นั่นก็คือ เขียว น้ำเงิน เหลือง แดง ซึ่งแต่ละสีก็มีความหมายที่แตกต่างกันไป ดังนี้

·      สีเขียวขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษผัก เนื้อสัตว์ เศษใบไม้แห้ง

·      สีน้ำเงิน ขยะทั่วไป หรือ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้หรือย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ และไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล จำเป็นต้องหาวิธีกำจัดอย่างถูกต้อง เช่น ซองขนม กล่องโฟม ภาชนะปนเปื้อนอาหาร กระดาษชานอ้อย เป็นต้น

·     สีเหลือง ขยะรีไซเคิล หรือ ขยะที่สามารถนำกลับมาอีกครั้งได้ ผ่านกระบวนการรีไซเคิล เช่น วัสดุ ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวด แก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ กระดาษ เป็นต้น

·     สีแดง ขยะอันตราย หรือ ขยะที่มีสารอันตรายปนเปื้อนชนิดต่าง ๆ เช่น วัตถุติดเชื้อ วัตถุกัดกร่อน ยาหมดอายุ ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น

เมื่อรู้จักความหมายของสีถังขยะแต่ละสีแล้ว ก็อย่าลืมแยกขยะให้ถูกต้อง เพราะการทิ้งขยะให้ถูกถังจะช่วยให้การแยกขยะและการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่นั้นเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นเมื่อขยะถูกนำมาจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณขยะที่เหลือทิ้งก็จะลดลงไปด้วยนั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวโครงการก่อนใครได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/

###

 เกี่ยวกับโครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โรงเรียนมัธยมศึกษา 50 แห่งในกรุงเทพ-ปริมณฑล จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดขอนแก่น บริษัทเอกชนชั้นนำด้านนวัตกรรมไฟฟ้า บริษัทสตาร์ทอัพและมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง รวมกว่า 60 หน่วยงาน ร่วมกันจัด โครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground)” เพื่อเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและประลองไอเดียเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) จากนักเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่เป้าหมาย  (กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภูเก็ต และขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ) โดยใช้แนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ที่เรียกว่า STEAM4INNOVATOR ที่ออกแบบโดย สนช. มาใช้กระตุ้นการเรียนรู้สาระด้านพลังงานและกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM อันได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ศิลปศาสตร์ (Arts) คณิตศาสตร์ (Mathematic) และเพิ่มเติมด้วยแนวคิดทางด้านธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างชิ้นงานนวัตกรรมหรือดำเนินกระบวนการทางสังคมเพื่อการจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้าได้