อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : MemOyoU ศิลปะแห่งการบันทึกความเข้าใจ ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

MemOyoU

ศิลปะแห่งการบันทึกความเข้าใจ

ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต

 

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

ที่น่าสนใจก็คือ นิทรรศการที่ว่านี้ไม่ใช่การแสดงผลงานของศิลปินในความหมายทั่วๆ ไป อย่างที่เราเคยนำเสนอไปในตอนที่ผ่านมา

หากแต่เป็นผลงานของคนทำงานออกแบบในเชิงสื่อสาร หรือเรียกกันง่ายๆ ว่ากราฟิกดีไซน์นั่นเอง

คนทำงานออกแบบผู้นี้มีชื่อว่า สันติ ลอรัชวี

เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ สตูดิโอกราฟิกดีไซน์ที่สร้างความเคลื่อนไหวในวงการออกแบบอย่างมากมายทั้งในและต่างประเทศ

สันติยังเป็นนักออกแบบที่สร้างสรรค์ผลงานคาบเกี่ยวระหว่างพรมแดนของงานออกแบบและงานศิลปะ ด้วยการใช้ภาษาทางการออกแบบในการสื่อสารและแสดงออกทางความคิดของเขาผ่านกระบวนการทำงานศิลปะ ทั้งในฐานะผู้แสดงงานและภัณฑารักษ์

เขาได้รับเชิญให้แสดงผลงานทั้งในประเทศไทยและในหลายประเทศทั่วโลก

ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาครั้งนี้ อย่าง MemOyoU (Memorandum Of Understanding) นำเสนอชุดผลงานที่เกิดจากการพิจารณาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างการดำเนินชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งๆ ตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปีที่ผ่านมาของสันติ

ทั้งในรูปแบบของหนังสือบันทึกความเข้าใจ MemOyoU

ผลงานศิลปะในรูปเล่มหนังสือที่เป็นเสมือนหนึ่งก้อนความทรงจำที่ถูกบรรจุในกล่องไม้ที่ทำขึ้นอย่างประณีต

เนื้อหาภายในเล่มรวบรวมจากบันทึกส่วนตัวที่เขาจดไว้ รวมถึงนิทานขนาดสั้น ซึ่งเขียนจากเหตุการณ์และความรู้สึกที่เขาประสบพบเจอหรือผ่านเข้ามาในชีวิต

ทั้งหมดถูกบันทึกในรูปของวลีและประโยคสั้นๆ โดยไม่ระบุชื่อคน สถานที่ เวลา จัดเรียงอย่างปะติดปะต่อกันบนหน้ากระดาษในหนังสือจำนวน 992 หน้า

“สิ่งที่อยู่ในหนังสือเป็นบันทึกของผมที่เก็บเอาไว้เรื่อยๆ มาโดยตลอด ผมเอาบันทึกเหล่านั้นมาปะติดปะต่อกันใหม่ โดยเก็บเรียบเรียงไว้ในแบบที่เราคิดว่าเรายังโอเคกับมันอยู่ ด้วยความที่ความทรงจำบางเรื่อง เราไม่ได้อยากเก็บเอาไว้ทั้งหมด วิธีบันทึกของผมโดยส่วนใหญ่ก็คือ ผมจะตัดชื่อคน สถานที่ และเวลาออก เหลือแต่เรื่องราวให้เราพอจำได้ในสิ่งที่เราอยากจำ บางครั้งผมก็บันทึกความทรงจำเอาไว้เป็นเรื่องสั้นที่สั้นมากๆ แค่ย่อหน้าเดียว และเรียกมันว่า ‘นิทานสั้นมาก’ เขียนไว้เกือบ 50 เรื่อง ผมก็เอามารวบรวมไว้ด้วยกัน”

“ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้าใครตามดูงานของผมมาตลอดก็จะรู้ว่าเนื้อหาของงานทั้งหมดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ที่ผ่านมาผมจะกลับเข้าไปค้นหาและหยิบฉวยความทรงจำเหล่านี้จากบันทึกที่เราเก็บเอาไว้มาใช้งานทีละเล็กทีละน้อยมาโดยตลอดเหมือนเป็นคลังวัตถุดิบ พอปีนี้ผมอายุจะครบ 50 ปีแล้ว ก็มีปณิธานเล็กๆ ว่าไม่อยากจะหยิบความทรงจำตรงนี้มาใช้ประโยชน์แล้ว คิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการทำงานในลักษณะนี้เสียที”

“ผลงานชุดนี้เป็นความพยายามในการหยิบเอาชุดความทรงจำเหล่านี้มาดัดแปลงให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมในรูปของวัตถุที่มีลักษณะต่างๆ กัน อย่างหนังสือนั้นมีลักษณะของการบีบอัดความทรงจำเหล่านี้เก็บเข้าไปเป็นก้อน และไม่เน้นการอ่าน เท่ากับการเก็บรักษา หนังสือจึงถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสันหนังสือที่มีความหนามากกว่าความกว้างของปก และอยู่ในลักษณะที่เก็บอยู่ในกล่องมีฝาปิดเรียบร้อย หน้าปกของหนังสือเป็นภาพของแม่น้ำที่ผมถ่ายจากสถานที่ที่แตกต่างกัน โดยมีปกทั้งหมด 12 แบบ แต่ละแบบมีจำนวน 4 เล่ม”

“ตัวหนังสือที่อยู่ในเล่มก็จะพิมพ์ในขนาดที่เล็กมากจนตัวผมเองก็ยังอ่านไม่ชัด”

นอกจากบนปกหนังสือแต่ละแบบแล้ว ภาพของแม่น้ำมากมายที่สันติถ่ายภาพเก็บสะสมจากการเดินทางในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมายังถูกนำเสนอออกมาในรูปของภาพถ่ายขาว-ดำจัดแสดงในนิทรรศการนี้ในลักษณะแตกต่างกัน

“ที่ผมผูกพันกับแม่น้ำ เพราะผมอ่านหนังสือสิทธารถะของเฮอร์มานน์ เฮสเส ตั้งแต่เด็ก ผมอ่านตรงที่ตัวละครวาสุเทพ ชายแจวเรือจ้างบอกสิทธารถะว่า ‘ให้ฟังเสียงแม่น้ำ ถ้าเธอได้ยิน มันก็จะบอกเรื่องราว’ ก่อนหน้านี้ผมไม่เข้าใจหรอก จนกระทั่งมีครั้งหนึ่งผมไปดูงานที่หอศิลป์เทตโมเดิร์น เห็นงานของโรนี ฮอร์น (Roni Horn) เป็นภาพพิมพ์ออพเซ็ตรูปแม่น้ำเทมส์ ผมรู้สึกว่างานชุดนี้สอนให้ผมฟังเสียงของแม่น้ำเหมือนที่วาสุเทพบอกสิทธารถะ หลังจากนั้นผมก็เริ่มประทับใจกับภาพแม่น้ำมากขึ้น พอผมออกจากเทตโมเดิร์นผมก็ขึ้นสะพานมิลเลนเนียมไปถ่ายภาพแม่น้ำเทมส์เป็นภาพแรก แล้วก็เดินทางไปยังที่ต่างๆ ในสหราชอาณาจักร ทั้งยอร์ก, นิวคาสเซิล, ลีดส์, สกอตแลนด์ ไปจนถึงทะเลสาบล็อกเนสส์เพื่อถ่ายภาพแม่น้ำ”

“ผมพยายามสร้างบทสนทนากับตัวเองว่าทุกครั้งที่เราถ่ายภาพแม่น้ำ พอถ่ายไปสักพักเราจะรู้สึกว่าภาพเหมือนๆ กันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำอะไร ยิ่งถ่ายขาว-ดำด้วยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญคือต้องสังเกตว่าเราคิดอะไรอยู่หรือรู้สึกอะไรอยู่ตอนนั้น และพยายามหาวิธีการให้ภาพแม่น้ำที่เราถ่ายแสดงความคิดและความรู้สึกนั้นออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการครอปภาพบางส่วนของแม่น้ำ เปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์หรือเลนส์กล้อง หรือการสะบัดกล้องถ่าย ซึ่งทำให้ผมสามารถสร้างบทสนทนากับแม่น้ำในแต่ละที่ที่เราไปได้ตามความรู้สึก ที่เราเก็บบันทึกเป็นความทรงจำกลับมา”

“อย่างภาพชุดหนึ่งที่ถ่ายตอนนั่งเรือข้ามฟากจากย่านจิมซาจุ่ยไปฝั่งฮ่องกงนั้นมีลักษณะเป็นคลื่นที่ผมรู้สึกว่ามีความเกรี้ยวกราดบางอย่างแฝงอยู่ ในขณะที่ภาพของทะเลสาบล็อกเนสส์ ผมรู้สึกถึงความดำเหนียวหนืดจนดูไม่เหมือนเป็นของเหลว ผมก็พยายามถ่ายภาพออกมาให้ได้ตามความรู้สึกในช่วงเวลานั้น”

นอกจากหนังสือและภาพถ่าย ในนิทรรศการยังมีผลงานศิลปะเชิงโต้ตอบซุกซ่อนอยู่ในรูเล็กๆ บนผนังหลายจุดของห้องแสดงงานที่เป็นพื้นที่คาเฟ่ด้วยในตัว โดยในรูบรรจุกระดาษแผ่นเล็กๆ ตีพิมพ์คิวอาร์โค้ดให้ผู้ชมสามารถหยิบออกมาสแกนด้วยสมาร์ตโฟน เพื่อรับชมผลงานภาพเคลื่อนไหว พร้อมๆ กับฟังดนตรีประกอบ ราวกับเป็นซาวด์แทร็กประกอบนิทรรศการยังไงยังงั้น (เข้าไปฟังได้ที่นี่ https://bit.ly/2Td0yrz สวมหูฟังเวลาชมงานจะช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมยิ่งขึ้น)

“ชื่อนิทรรศการ MemOyoU นอกจากจะประกอบขึ้นจากคำว่า ‘Memo’ กับ ‘You’ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นคำที่สวยดีแล้ว ยังมีที่มาจากคำว่า Memorandum Of Understanding (MOU) หรือบันทึกความเข้าใจ เหมือนผมกำลังทำบันทึกความเข้าใจเป็นข้อตกลงกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกับตัวเราเอง กับผู้คน หรือแม้แต่กับความคาดหวังและความฝันของเรา เหมือนเราทำบันทึกความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ เป็นพันธสัญญาเต็มไปหมด สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ตามประสา ก็ค่อยๆ ทำไปเท่าที่จะทำได้”

เรียกว่าเป็นนิทรรศการศิลปะรสชาติแปลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายแฝงความละเมียดละไมจนไม่อยากให้คนรักศิลปะและงานออกแบบทั้งหลายพลาดที่จะไปชมกัน

นิทรรศการ MemOyoU (Memorandum Of Understanding) โดยสันติ ลอรัชวี ภัณฑารักษ์โดยมณิภา ไชยวัณณ์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2564 ที่ Broccoli Revolution (บรอกโคลี เรฟโวลูชั่น) เจริญกรุง 42/1, บางรัก (เปิดให้เข้าชมงานได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น.)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้าชมงานได้ที่ +66 (0) 8 5492 6422, อีเมล [email protected], เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/casespacerevolution/

ขอบคุณข้อมูลจาก CASE Space Revolution ภาพถ่ายโดยปรีชา ภัทรอัมพรชัย