มนต์รัก หนองผัก ‘ขยะแขยง’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

มนต์รัก

หนองผัก ‘ขยะแขยง’

มนต์รักหนองผักกะแยง ทางช่อง 3 กำลังเรตติ้งดี

ส่วนมนต์รักหนองผัก “ขยะแขยง” ก็กำลังฮือฮาในสภาตู้กระจก

เมื่อนายชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย “ผู้มากบารมีแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง” อภิปรายงบประมาณปี 2565 ผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

โจมตีการจัดสรรงบประมาณ ที่ตัดงบฯ กระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่เหมาะสม ทั้งที่กำลังแก้ปัญหาโรคระบาดของชาติ

พร้อมกับโพล่งประโยคตัดพ้อ “หัวหน้า ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเถอะ”

แน่นอน หัวหน้าก็จะเป็นใครอื่นไม่ได้ นอกจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล

ส่วนเขานั้น ก็ย่อมจะหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไม่ต้องสงสัย

และหากตีความคำพูดของนายชาดาขณะนี้ คงจะมองเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจาก มนต์รักกำลังเสื่อมคลาย

เพราะอีกด้าน พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้กล่าวในเชิงตัดพ้อในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนเช่นกัน กรณีมี ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยรุมโจมตีการจัดสรรงบปีระมาณของรัฐบาล ว่า “ขอให้ช่วยๆ กัน ตรงไหนเกี่ยวข้องก็ให้ช่วยเร่งตอบ ปากก็ว่าโอเค แต่ปล่อยให้ลูกพรรคซัดโครมๆ”

ต่างฝ่ายต่างตัดพ้อ ต่อว่า

จากที่ “รัก” กลับกลายเป็น “ขยะแขยง” กันเสียแล้วหรือ

 

ตรงกันข้าม “หน้าฉาก” ดูเหมือนทั้งนายอนุทิน และทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามแสดงออกถึงความรักความสามัคคีระหว่างกันอย่างไร้ปัญหา

อย่างเมื่อวันที่ 28พฤษภาคม ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ไปตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกสถานพยาบาล ที่ศูนย์การค้า เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ว่า ไม่อยากให้ใครทะเลาะกันทั้งสิ้นไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม เราต้องไปด้วยกัน การทำสิ่งดีๆ เพื่อสิ่งดีๆ ถือเป็นกุศลต่อตนเอง ทำให้ประเทศชาติฟื้นตัวขึ้น

พร้อมกับหันหน้าไปมองนายอนุทินที่ร่วมขบวน และยืนอยู่ข้างๆ พร้อมกล่าวว่า “ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เข้าใจกันหมด ผมยืนยันต่อหน้านายอนุทินและเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ผมคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาแล้ว ไม่เห็นมีปัญหาอะไร จะมีปัญหาก็เพราะมีคนยุแยงตะแคงรั่วอยู่แถวนี้นั่นแหละ”

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทินกล่าวถึงกระแสกดดันพรรคภูมิใจไทยให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ว่า “ตัวผมเอง ผมอยากจะถอนตัวออกจากรัฐบาล ก็ถอนเองไม่ได้ ผมก็ต้องประชุมพรรค หรือผมไม่อยากถอน ไม่ยอมไปไหน แต่ถ้าพรรคมีมติต้องถอน ผมก็ต้องถอน ทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไกทุกอย่าง”

“แต่ไม่มีเหตุอะไรในตอนนี้ที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องถอนตัว ก็ทำงานกันมาก็ 2 ปีแล้ว แล้วก็รับนโยบายซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี นายกฯ ก็รับในส่วนภาพรวมของประเทศ ถ้าว่ากันในเรื่องสถานการณ์โควิด-19 นายกฯ แบ่งเบาช่วยกระทรวงสาธารณสุขไปได้เยอะเลย เอาไปมอบให้ กทม. เอาไปมอบให้จังหวัดแต่ละจังหวัด เอานโยบายต่างๆ ไปบริหารที่ ศบค. ขออย่างเดียว สธ.ต้องบริหารจัดการไปตาม ศบค.โดยที่ไม่มีอุปสรรคอะไร… ผมไม่รู้สึกว่าไม่มีอำนาจตรงไหน ผมทำงานไม่เคยใช้อำนาจทำ ผมใช้ใจทำ”

 

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางบทบาทที่นายอนุทินพยายาม “ประนีประนอม” ประโยชน์ในรัฐบาล

โอภาปราศัยอย่างชื่นบานทุกครั้งเมื่อยืนอยู่เรียงเคียงข้างกับ พล.อ.ประยุทธ์

ไม่มีปัญหากรณี “วอล์กอิน” ถูกยกเลิก โดย “ออนไซต์” ตามการบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาแทนที่

ไม่คัดค้านเมื่อมีการผุดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ขึ้นมากลบทับ “หมอพร้อม”

แถมยังพร้อมทำงานในตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ไม่แปรเปลี่ยนแม้จะมีจำนวน ส.ส.มากกว่า 60 อยู่ในมือซึ่งสามารถคว่ำรัฐบาลลงได้ทุกเมื่อ

ภาพของนายอนุทินจึงแนบแน่นอย่างยิ่งกับรัฐบาล

และเป็นมิตรอย่างยิ่งกับ “พี่ตู่”

แต่กระนั้น ก็ไม่วายที่จะมีคำถาม ไฉนจึงมีประโยค “หัวหน้า ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเถอะ” ออกมาจากปากนายชาดา

หรือภาพ “ภายใน” พรรคภูมิใจไทยเห็น แตกต่างจากสิ่งที่เราเห็นผ่านบทบาทของนายอนุทิน

 

ซึ่งก็น่าเป็นเช่นนั้น

เพราะอย่างนายชาดา มิได้สะท้อนความรู้สึกตรงไปตรงมา เฉพาะตอนพิจารณางบประมาณเท่านั้น

หากแต่ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ย่อมจำได้ดี กรณีการพิจารณาวาระที่ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อนายชาดาทิ้งบอบม์กลางที่ประชุม

“ผมคงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหก ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก”

แล้วจากนั้นนายชาดาและ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยทั้งพรรค พากันเดินออกจากห้องประชุมสภาไป เพื่อแสดงความไม่พอใจที่พรรค พปชร.ใช้แท็กติกชิงลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้การแก้ไขดังกล่าว “ล่ม” อย่างไม่เป็นท่า

ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการแก้ไขในบางประเด็นที่รับได้ ไม่ใช่การมาหักกลางสภาอย่างที่ พปชร.ทำ

นายชาดายังสื่อความซ้ำผ่านทางเฟซบุ๊กไปถึง พปชร.และรัฐบาลว่า

“คุณไม่ต้องมาพูดหรือลงโซเชียลว่าคนอย่างผมเล่นละคร คุณน่ะก็เคยเล่น…ก่อนจะถึงวันนัดลงมติ ผมทราบดีว่าผลโหวตจะออกมาอัปลักษณ์ในสายตาของประชาชน ผมอัดอั้นตันใจจึงระเบิดคำพูดออกมาในขณะนั้น ไม่ได้นัดแนะเตรียมการกับผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้แต่ ส.ส.ต่างพรรคก็ยังเดินตามออกมา…ใครจริงใจ ใครตระบัดสัตย์ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองเมื่อถึงเวลาครับ”

 

สะท้อนให้เห็น “ปมขัดแย้ง” ฝังลึกในรัฐบาลมาระยะหนึ่งแล้ว

เพียงแต่ไม่ได้แสดงผ่านนายอนุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรค หรือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะเลขาธิการพรรค

หากเล่นผ่าน “สงครามตัวแทน” อยู่ตลอดเวลา

อย่างเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษตั้ง ศบค. ตัดการมีส่วนร่วมของ “ภาคการเมือง” ออกไป

ซึ่งกระทบกับนายอนุทินที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง

เราก็ได้เห็นการปรากฏตัวขึ้นมาของนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวทันที

โดยระบุข้อความที่อ้างว่านำมาจากสื่อมวลชน ว่า การใช้อํานาจพิเศษเป็นสิ่งที่นายกฯ ประยุทธ์ถนัดที่สุด จึงไม่แปลกที่มีการเลือกใช้อํานาจพิเศษในการจัดการกับ “โรคระบาด” ซึ่งโครงสร้างของ ศบค.ได้ตัดการมีส่วนร่วมของภาคการเมืองออก รวมถึงได้ตัดคณะรัฐมนตรีออกจากการทํางานใน ศบค.

“หน่วยงานที่นั่งหัวโต๊ะกําหนดทิศทางของ ศบค.กลับเป็นหน่วยงานความมั่นคง นําโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ แทนที่จะเป็นสาธารณสุข เราจึงเห็นการมองโรคระบาดเป็นภัยความมั่นคง เป็นอริราชศัตรู ต่างจากการแก้ปัญหาโรคระบาดในรอบที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ประสบความสําเร็จ”

 

และต่อมา เมื่อโครงการฉีดวัคซีน “วอล์กอิน” ซึ่งเสนอโดยนายอนุทิน ถูกเบรกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในที่ประชุม ครม.

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.หลายสมัยจากจังหวัดอ่างทอง และยังดำรงตำแหน่ง “โฆษก” ของพรรคภูมิใจไทย ก็มีปฏิกิริยา

เป็นปฏิกริยาที่แสดงผ่านโพสต์เฟซบุ๊กถึงการบริหารจัดการวัคซีนว่า “หากยังมัวแต่ยึดติดกับไอ้หมอพ้ง-หมอพร้อม ประชาชนจะติดโควิดกันหมด เข้าใจมั้ยยยย ลุ้งงงงงงง คนเขาบอกยังไม่รู้ฟัง ดื้อรั้น ถูลู่ถูกัง ทิฐิมานะสูง เป้า 50 ล้านคน หากไม่อยากให้เป็นแค่ลมปาก ลุงหาวิธีอื่นมาอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านเถอะ”

“แทนที่จะช่วยทำให้มันไว คนเข้าถึงง่าย กลับเป็นตัวถ่วง และสร้างกำแพงให้คนเข้าถึงวัคซีนยากกกกก แล้วแบบนี้เป้า 50 ล้านคนลุง จะเสร็จเมื่อไร??? รึว่าให้คนเขาสร้างภูมิกันเองด้วยการรับเชื้อโควิดกันทั้งประเทศเห้ออออ #เพลียด่า”

 

ปฏิกิริยาแบบผ่าน “สงครามตัวแทน” มีออกมาจากพรรคภูมิใจไทยโดยตลอด

ซึ่งจะทุบโต๊ะลงไปว่า นี่คือความรู้เห็นเป็นใจของคนในพรรคก็คงไม่ได้

เช่นเดียวกันจะบอกว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ ส.ส.เหล่านั้นก็ไม่ได้เช่นกัน

ด้วยมันมีผล “เกี่ยวเนื่อง” และ “สืบต่อ” ออกไปให้ชวนตั้งข้อสังเกต

เพราะคนอย่างนายอนุทิน นายศักดิ์สยาม ที่มีคนอย่างเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้บารมีนอกพรรค ที่แม้จะมีการแสดงออกอย่างมากด้วยมารยาทในทางการเมือง

แต่ก็คงไม่ยอมอยู่ในสภาพ “หงอ-หงิม” เป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว

ต้องมีการตอบโต้เพื่อแสดงตัวตน ว่าไม่ใช่เพียงลูกไล่ หากแต่มีศักยภาพที่จะสร้างปรากฏการณ์เขย่ารัฐบาลได้

นี่จึงอาจเป็นคำตอบว่า ไฉนขณะที่นายอนุทินจะยืนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จึงเกิดสงครามตัวแทนขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงให้นายอนุทินอย่างแหลมคม

คมพอที่จะทำให้คนในทำเนียบรู้เช่นกันว่า นี่ไม่ใช่ไก่ในกำมือของใคร

พร้อมจะ “กลับบ้าน” ตามการเรียกร้องของลูกพรรค

 

เพียงแต่ตอนนี้ อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่จะแตกหัก

ยังสามารถ “ประนีประนอม” ประโยชน์ในรัฐบาลได้

อย่างน้อย การต่อรองผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565

การต่อรองผ่านเงินกู้อีก 5 แสนล้าน ที่จะฟื้นฟูประเทศ ผ่านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการกีฬาและท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม

หรือแม้กระทั่งสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลขนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่ยังได้ข้อสรุปสุดท้าย

เหล่านี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่พรรคภูมิใจไทยต้องอดทน “หวานอม ขมกลืน” อยู่ต่อไป

เพราะถือว่า ได้มากกว่าเสีย

เวลาที่รัฐบาลนี้เหลืออยู่กว่า 2 ปี ยังเหลือเฟือที่จะสามารถทำอะไรได้มากอยู่

 

ดังนั้น การแตกหักถึงขนาดแยกตัวออกจากรัฐบาล หรือบีบให้มีการยุบสภา คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

ต่างฝ่ายยังคง “สงวนจุดต่าง” เอาให้นานที่สุด

กระทั่ง “ร้าวลึก” จนถึงช่วงปีสุดท้ายนั่นแหละค่อยตัดสินใจ

แต่แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ย่อมไม่หวานชื่นเหมือนเดิม

“มนต์รัก” ที่มีต่อกัน ย่อมเสื่อมสลายลงเรื่อยๆ

ไม่หอมเหมือน “ผักกะแยง” ในแกงอ่อม เมนูเด็ดคนอีสาน รวมถึงคนบุรีรัมย์

แต่เพิ่มดีกรี “ความขยะแขยง” ในเกมแห่งการชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกัน มากยิ่งขึ้นทุกทีๆ