ร่างพรบ.งบฯ 65 : “ประยุทธ์” แจกแจงขอผ่านกว่า 3.1 ล้านล้าน ยันดูแลรอบคอบ

วันที่ 31 พ.ค.เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1ล้านล้านบาท วาระแรก โดยก่อนเข้าสู่วาระประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า

การอภิปรายงบประมาณวาระแรก ใช้เวลา 3 วัน มีเวลาทั้งหมด 47ชั่วโมง 30นาที เป็นของฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านฝ่ายละ 22ชม . ประธานในที่ประชุม 3 ชั่วโมง 30นาที การอภิปรายจะพิจารณาจนถึงเวลา 01.00น.ของทุกวัน ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้แจงว่า กังวลเรื่องประท้วงขัดจังหวะขอให้มีน้อยลง เพื่อบริหารจัดการเวลาให้ลงตัว ขอให้ประธานควบคุมด้วย

จากนั้นเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงหลักการณืและเหตุผลในการเสนอร่างพ.ร.บ.งบฯ ว่า ตั้งงบไว้ 3.1 ล้านล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,074,424,773,300 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596,666,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978,560,000 บาท ร่างพ.ร.บ.งบฯ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565

แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง และนโยบายของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของ เศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0

“เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

ภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2.51 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.26 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 111,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับงบฯ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล

ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 8,068,913.7 ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น372,784.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

นายกฯ กล่าวต่อว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6ด้าน ได้แก่1.ด้านความมั่นคง 387,909 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ 2.ด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน 338,547 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การก่อสร้างทางหลวงชนบท การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของวงเงินงบประมาณ พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 119,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว และ6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 559,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ18ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การส่งเสริมภาครัฐดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชนการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

“ยืนยันรัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ จะเข้มงวด กวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงประชาชนที่พบเห็นการทำโครงการหรือผลงานไม่สำเร็จก็แจ้งข้อมูลมาได้ จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส ผมหวังว่า ส.ส. จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะที่คือประเทศไทย ประชาชนคนไทยที่ต้องดูแล ขอใช้เวลา3 วันอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์​เพื่อวันนี้และอนาคตของลูกหลานในภายภาคหน้า”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาร่ายยาวการชี้แจงงบประมาณ กว่า 1.30 ชั่วโมง