ปริศนาโบราณคดี : ‘หลวงพ่อเพชร’ หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย) พระพุทธรูปยุคคุปตะของอินเดีย นั่งขัดสมาธิเพชร (ขวา) พระพุทธรูปยุคอนุราธปุระของลังกา นั่งขัดสมาธิราบ

 

‘หลวงพ่อเพชร’

หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (3)

 

สองฉบับที่ผ่านมา ดิฉันได้นำเสนอเรื่องประวัติความเป็นมาอันสับสนทับซ้อนของ “หลวงพ่อเพชร” 3 องค์ที่มีชื่อเสียงระดับชาติไปแล้วคือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร และกำแพงเพชร ซึ่งน่าจะได้ความชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่ง มากกว่าข้อมูลที่เคยเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในเว็บต่างๆ

กล่าวคือ องค์แรกนั้นหล่อขึ้นที่เมืองลับแล เมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนาราวสมัยพระเจ้าติโลกราช

ส่วนสององค์หลังนั้นอัญเชิญมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง อายุการสร้างราวช่วง พ.ศ.2022 ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชเช่นกัน โดยองค์ด้านในขององค์ใดองค์หนึ่ง หรืออาจทั้งสององค์ เคยมีการก่อปูนมาก่อนแล้ว อาจเก่าไปถึงสมัยหริภุญไชย

ดังนั้น เราจึงยังค้างอยู่อีกหลายประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กันต่อ

หนึ่งในนั้นคือประเด็นที่ว่า ที่มาแห่งการสร้างพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ต่างจากประทับขัดสมาธิราบอย่างไร

ท่านั่งแบบไหนเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ธรรมกันแน่?

 

วัชรอาสนะ vs วีราสนะ

ทำไมต้องนั่งสองแบบ ?

คําว่า “ขัดสมาธิเพชร” มีรากมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต (หมายความว่าทั้งบาลีและสันสกฤตใช้คำเดียวกัน) ว่า “วัชระ” + “อาสนะ” วัชระ = เพชร, อาสนะ = ที่ตั้ง ที่ประทับ ท่านั่ง เอนพัก ดังนั้น วัชรอาสน์/วัชรอาสนะ/วัชราสนะ จึงแปลเป็นไทยว่า “ท่านั่งขัดสมาธิเพชร”

“เพชร” หรือ “วัชระ” ในที่นี้ หมายถึงนั่งขัดซ้อนแบบช้อนขารัดแน่นจนแข็ง

ท่านั่งของพระพุทธรูปมี 3 ท่า 1.ขัดสมาธิเพชร 2.ขัดสมาธิราบ 3.ท่านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ ซึ่งท่าหลังนี้จะไม่ขอนำมาเปรียบเทียบในบทความนี้ เพราะมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาวิเคราะห์แยกออกไปอีกมาก

ท่านั่งขัดสมาธิราบ หมายถึงการทำพระชงฆ์ (เข่า) ทับซ้อนกัน แบบท่านั่งปฏิบัติธรรม “ขวาทับซ้าย” (มองจากสายตาเราผู้ดูจะเห็น “ซ้ายทับขวา”)

ภาษาบาลี-สันสกฤตเรียกท่านั่งขัดสมาธิราบไว้สองชื่อ ชื่อแรก “ปรยังกาสนะ” (ปรยังก + อาสนะ) ปรยังกัส ใช้เรียกท่าปฏิบัติธรรมของพวกนักบวชหรือโยคี ที่เน้นท่านั่ง-ท่านอนบนบัลลังก์ที่แบนราบ

กับอีกชื่อหนึ่งเป็นคำที่นิยมมากในหมู่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยคือ “วีราสนะ” มาจาก “วีระ+อาสนะ” ปกติ “วีระ” แปลว่าผู้กล้า อาจหาญ หากพิจารณาคำศัพท์แบบตรงตัวทีละคำแล้ว ดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับท่านั่งขัดสมาธิราบเท่าใดนัก น่าจะเป็นความหมายเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรม

เราพบการทำพระพุทธรูปนั่งแบบขัดสมาธิเพชร (วัชรอาสนะ) ตีคู่ขนานกันมากับท่านั่งแบบขัดสมาธิราบ (วีราสนะ/ปรยังกาสนะ) ตั้งแต่ศิลปะในอินเดียยุคแรกๆ โดยมีข้อสังเกตดังนี้ว่า

ฝ่ายพุทธมหายานทางตอนเหนือของอินเดียนิยมทำขัดสมาธิเพชร เช่น สมัยราชวงศ์มถุรา คุปตะ ปาละ ตลอดจนถึงศิลปะพุกามในพม่า ทิเบต เนปาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เรากำลังวิเคราะห์กันอยู่คือกลุ่มของพระสิงห์ 1 ล้านนา

ในขณะที่ศาสนาพุทธแบบเถรวาททางตอนใต้ของอินเดีย เช่นที่แคว้นอมราวดี ลงไปสู่เกาะลังกา และเข้ามายังศิลปะสุโขทัย กลับนิยมท่านั่งแบบขัดสมาธิราบ

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมศาสนาพุทธสองนิกายจึงต้องทำท่านั่งขัดสมาธิที่แตกต่างกัน การทำขัดสมาธิเพชรก็ดี ขัดสมาธิราบก็ดี ต่างยึดถือคัมภีร์เล่มใดเป็นต้นแบบในการตีความ?

 

ตอนใกล้ตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้า

นั่งขัดสมาธิเพชรหรือขัดสมาธิราบ?

ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างละเอียดมากที่สุดคือ ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร เคยวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ในบทความชื่อ “อาสนะของพระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้” ตีพิมพ์ในจุลสารชื่อ “พิพิธภัณฑสาร” (Museum Newsletter) ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2552

ดร.อมราตั้งคำถามว่า “เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น ทราบกันว่าประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ แต่พระพุทธองค์มีท่านั่งอย่างไร นั่งขัดสมาธิราบ หรือนั่งขัดสมาธิเพชร หรือนั่งห้อยพระบาท?”

ถือว่าเป็นประเด็นที่ไม่เคยมีใครวิเคราะห์มาก่อน ดร.อมราอธิบายต่อไปว่า

“พระไตรปิฎกภาษาบาลีมิได้กล่าวเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่จากข้อความที่ว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตระหนักถึงการกระทำทุกรกิริยาว่ามิใช่ทางหลุดพ้นแล้ว ต่อมาพระพุทธองค์ได้สั่งสอนให้ภิกษุทั้งหลายว่า ควรบำเพ็ญตนให้เหมือนกับที่พระองค์กระทำก่อนตรัสรู้ นั่นคือ…

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในกรณีนี้ไปสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนร่างก็ตามแล้ว นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นหายใจเข้ามีสติ หายใจออกมีสติ (บาลีมหาวัคค์ สังยุตตนิกาย 19/399, 4012324, 1329) และ…

“เราหลุดมาได้แล้วจากการกระทำทุกรกิริยานั่นแหละ ดีนักเราหลุดมาเสียแล้วจากการกระทำทุกรกิริยา อันไม่ประกอบด้วยประโยชน์นั่นแหละ (บาลีสคาวัคค์ สังยุตตนิกาย 15/150, 418)…

“ดังนี้แล้วจึงควรสันนิษฐานว่า พระพุทธองค์ไม่น่าจะประทับนั่งเข้าสมาธิโดยการขัดสมาธิเพชร ซึ่งลำบากต่อพระวรกาย และอาจเกิดทุกขเวทนาได้ ดังความตอนหนึ่งที่พระพุทธองค์เล่าให้ภิกษุทั้งหลายเวลาต่อมาว่า…

“เพราะเราคิดเห็นว่า เมื่อเราตรึกตาม ตรองตาม นานเกินไปนัก กายจะเมื่อยล้า เมื่อกายเมื่อยล้าจิตจะอ่อนเพลีย เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ (เทวธาวิตักกสูตร สีหนาทวัคค์ มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย 12/232/252)…

“ดังนั้น จึงน่าจะเป็นเค้ามูลชวนให้คิดว่า พระพุทธองค์เมื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า น่าจะทรงเลือกท่านั่งที่ไม่ทรมานพระวรกายอีกต่อไปคือท่าปรยังกาสนะ หรือขัดสมาธิราบ แทนที่จะเป็นท่าวัชราสนะ หรือขัดสมาธิเพชร”

ดร.อมรา ศรีสุชาติ เคยกล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการโครงการ 25 ปีมรดกโลกกำแพงเพชร ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 30 มีนาคม- 1 เมษายน 2559 โดยดิฉันได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรร่วมเวทีนั้นว่า

“เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระพุทธรูปสุโขทัยได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เนื่องมาจากการยืนหยัดทำพระพุทธรูปปางมารวิชัย ท่านั่งแบบขัดสมาธิราบ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจต่อ ‘ทางสายกลาง’ อย่างแท้จริง ไม่หย่อนไม่ตึง ไม่ทรมานตัวเอง อันสอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในพุทธประวัติ ที่พระพุทธองค์ระบุว่า ให้หลีกเลี่ยงการทรมานตนแบบทุกรกิริยา”

อย่างไรก็ดี ความเข้าใจของช่างที่สร้างงานพุทธศิลป์ตั้งแต่ในอินเดีย พม่า ชวา และอีกหลายสกุลช่างในประเทศไทยกลับมิได้เห็นด้วยต่อข้อความดังกล่าวเป็นหนึ่งเดียว เราจึงยังคงเห็นงานพุทธศิลป์ในสกุลช่างต่างๆ ของโลกที่ทำพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ธรรม มีทั้งท่านั่งขัดสมาธิราบและขัดสมาธิเพชรควบคู่ขนานกันไปเสมอ

แม้แต่งานพุทธศิลป์ล้านนาในกลุ่มพระสิงห์หนึ่งที่คนภาคกลางเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” ที่เรากำลังวิเคราะห์กันอยู่นี้ ซึ่งเป็นสกุลช่างที่นิยมทำพระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุเป็นปม พระเกตุบัวตูม ก็มิใช่ว่าจะทำท่านั่งขัดสมาธิเพชรหมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ กลับยังมีการทำแบบขัดสมาธิราบ แทรกปนกันมาอีกด้วยในสัดส่วนที่ไม่น้อยเลย

“มีความเป็นไปได้ว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานภาษาสันสกฤตคือ ‘ลลิตวิสตระ’ ในพุทธศตวรรษที่ 6 ให้อิทธิพลสำคัญต่อการตีความเพื่อสร้างรูปเคารพพระพุทธเจ้าในท่าประทับนั่งขัดสมาธิเพชร”

ดร.อมรา ศรีสุชาติ เสนอความเห็นดังกล่าว เราจึงต้องศึกษากันต่อไปอีกว่า “คัมภีร์ลลิตวิสตระ” นั้นมีเนื้อหาอย่างไร?

 

บัลลังก์เถาวัลย์อันแข็ง

ทำลายอวิชชาด้วย “วัชรอาสนะ”

คัมภีร์ลลิตวิสตระ แปลเป็นภาษาไทยกลางโดยศาสตราจารย์แสง มนวิทูร ตีพิมพ์โดยกรมศิลปากรเมื่อปี 2512

ในอัธยายที่ 22 ชื่อ ‘อภิสมโพธนะปริวรรต’ (ว่าด้วยการตรัสรู้) ตอนกล่าวว่า พระพุทธองค์หลังจากทรงชนะมารแล้ว ทรงประทับนั่งสมาธิเพื่อเข้าสู่ฌานขั้นต่างๆ นั้น

“ตถาคตทำลาย ‘อวิทยา’ ด้วย ‘วัชระอันแข็ง’ คือ ‘ชญานอันรุ่งโรจน์’ และถึงเป็นผู้มีกำลัง 10 จากนั้นจึงทำลายบัลลังก์ ประตูแห่งนิวรณ์ 5 ตถาคตทำลายหมดแล้วที่ง้วนแห่งแผ่นดินนี้ ‘เถาวัลย์’ คือตฤษณา ตถาคตตัดขาดแล้ว…

“ดังนั้น ตถาคตจึงทำลายบัลลังก์ที่ง้วนแห่งแผ่นดินนี้ ครั้นแล้วพระมนุษยจันทร์ (พระพุทธเจ้า) นั้นเสด็จลุกจากอาสนะด้วยพระอาการชดช้อย ประทับนั่งบน ‘ภัทราสนะ’ อันเป็นมหาอภิเษกที่ถูกปิดบัง (ใครมองไม่เห็น)”

ข้อความที่ยกมา มีคำสำคัญดังนี้ “วัชระอันแข็ง” “เถาวัลย์” “ชญาน” “ภัทราสนะ”

“วัชระอันแข็ง” กับ “เถาวัลย์” สองคำนี้สะท้อนให้เห็นถึงท่านั่งขัดสมาธิเพชร ด้วยการช้อนพระชงฆ์เกี่ยวกระหวัดไขว้ซ้อนขัดขึ้นมาเหมือนเถาวัลย์จนแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง

ท่านั่งขัดสมาธิแบบซ้อนขัดเหมือนเถาวัลย์เช่นนี้ เปรียบเสมือนเพชรหรือวัชระอันแข็งที่ใช้ตัดกิเลส

“ชญาน” แปลว่าปัญญารู้แจ้ง

ส่วนคำว่า “ภัทราสนะ” นั้น ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร กล่าวไว้ในคำอธิบายว่า น่าจะหมายถึงอีกชื่อหนึ่งของท่านั่งแบบขัดสมาธิราบ (คือมีความหมายเดียวกันกับปรยังกาสนะ และวีราสนะ)

ทว่านักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ “หลุยส์ เฟรเดริก” กลับเห็นแย้งว่า “ภัทราสนะ” คือท่านั่งบนบัลลังก์แบบห้อยพระบาทมากกว่า เนื่องจากประโยคที่ตามมาคือ “มหาอภิเษกที่ถูกปิดบัง” ก็คือบัลลังก์ที่นั่งนั้นถูกทับมองไม่เห็น เพราะขาที่ห้อยลงมานั่นเอง

ดิฉันเห็นด้วยกับความเห็นของคุณหลุยส์ เฟรเดริก เพราะเคยพบคำว่า “ภัทรบิฐ” ที่แปลว่าบัลลังก์

แม้แต่ “คัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา” รจนาด้วยภาษาบาลีในดินแดนล้านนายุครุ่งเรือง และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยกลางในสมัยอยุธยากับรัตนโกสินทร์ โดยฉบับแปลของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นฉบับที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะพระพุทธองค์ทรงพิชิตมารจนตรัสรู้นั้น ทรงประทับบน “วชิรอาสน์” หรือ “วชิรบัลลังก์” ดังคำพูดของพญามารตอนหนึ่งว่า

“ดูราพระสิทธัตถะกุมาร จงเร่งอุฏฐากรไปจากรัตนบัลลังก์ ไฉนจึงขึ้นนั่งบน ‘วชิรอาสน์’ วชิรอาสน์นี้มิใช่เป็นที่สถิตควรจะถึงแก่ท่าน และ ‘วชิรบัลลังก์’ สถานที่นี้ควรจะถึงแก่อาตมา”

เห็นได้ว่า อิทธิพลของคัมภีร์ “ลลิตวิสตระ” มีบทบาทต่อวงการพุทธศาสนาในประเทศไทยตีคู่ขนานมากับคัมภีร์พระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทอย่างมากทีเดียว ทำให้บางสกุลช่างเกิดการตีความในการสร้างงานพุทธศิลป์ปางตรัสรู้ธรรมด้วยการทำท่านั่งขัดสมาธิเพชรแทนที่จะทำท่าขัดสมาธิราบ โดยเฉพาะสกุลช่างล้านนา

แม้จะไม่ทั้งหมด เหตุที่ท่านั่งแบบสมาธิราบเป็นการรับอิทธิพลจากสุโขทัยลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาปะปนนั่นเอง