วิบากซ้ำกรรมซัด ตอนภูมิรัฐศาสตร์แบบฮุนเซน/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

วิบากซ้ำกรรมซัด

ตอนภูมิรัฐศาสตร์แบบฮุนเซน

 

ก็ใครกันล่ะที่บดขยี้มาแล้วทุกรูปแบบ เอาเข้าจริงอาจยิ่งกว่าไวรัสโคโรนาเชื้อร้ายนั่นเสียอีก

ในรอบ 35 ปี ที่ผู้เหยื่อบริสุทธิ์และศัตรูของเขาถูกกระทำอย่างเลวร้ายและทารุณ ตั้งแต่เหตุการณ์ปาระเบิด (1997) การลอบยิงผู้นำสหภาพแรงงาน (1999-2016) การจองจำอิสรภาพในเรือนจำและบ้านพัก (2003-ปัจจุบัน) กดดันเนรเทศทั้งชาวเขมรและต่างชาติออกนอกประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง (1997-2019)

ยังไม่นับก่อนนั้น สมัยที่ยังเป็นแค่ทหารในกองทัพประชาชนที่รบจนเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง และเบื้องหลังของความเป็นนักฆ่านั่น ก็ทำให้เขากลายเป็นมือสังหารที่ฆ่าได้อย่างหมดจดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี (จัน ซี) และจองจำในที่พัก (เปญ โสวัน)

มองไปข้างหลังก็ไม่มีใครเหลือ มองไปข้างหน้าก็ตายกันหมด

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ทักษะการรวบอำนาจของเขาจะแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะจดจำถึงเหยื่อรายต่างๆ ทั้งวิธีตุลาการและกฎหมายพิเศษ ล้มพรรคการเมือง เปลี่ยนรัฐสภาเป็นระบบพรรคเดียว อัปเปหิฝ่ายเห็นต่างออกนอกวงโคจร ก็นั่นล่ะ สำหรับชนะแห่งอำนาจ

ทว่าในที่สุด โมเมนตัมแห่งคำทำนายก็กลับมาทักทายเขาราวกับพวกไล่ล่า

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โชคชะตาของชายผู้นี้ดูจะฝ้ารอคอยการพังทลายในวาสนา

เคยถูกทำนายโชคชะตาว่าเขากำลังจะแพ้ภัยบางอย่าง “สิ่งนั้นเองที่จับต้องไม่ได้ มองมันไม่เห็น และมันวิบากเฉกเช่นกับมฤตยูร้าย” เป็นสิ่งที่เขาต้องผจญเหมือนผู้ถูกไล่ล่า สำหรับการจู่โจมที่รวดเร็วแต่มีผลทำลายมาก จนแม้แต่ผู้นำแข็งกร้าวอย่างเขาก็ยังอับจนปัญญาและล้าหลังทั้งทักษะและการรับมือ

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ดุดัน คำบงการที่แข็งกร้าว หรืออำนาจบารมีที่มากมาย ก็ไม่อาจจะต้านทานเช่นทางใดทางหนึ่งที่ผ่านมา

ซุกหีบชีวิตตนไว้ด้วยการ “ซ่อน” ชาตะชีวิต-วันเดือนปีเกิด เพื่อปิดบังการนำไปเผยแพร่และทำนายโชคชะตาราศี สำหรับสมเด็จฮุน เซน แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าระหว่างสิงห์กับเมษ ราศีใดกันแน่ที่ฮุน นาล (ชื่อเดิม) ถือกำเนิดมา

เว้นเสียแต่ว่า เขาจะตั้งใจเพื่อให้เป็นชะตากรรมเดียวกันในการค้ำจุนอำนาจระหว่าง “ดวงตน” กับ “ดวงเมือง” และนั่นเชื่อไหมว่า ในวันที่พนมเปญยังเป็นเมืองร้าง (1979) ฮุน เซน เพิ่งเดินทางกลับมาและจุดตั้งแห่งการครองเมืองอย่างช้าๆ ก็มาถึงจนกลายพนมเปญดังที่เห็นในวันนี้

แต่ทันทีที่ประเทศถูกจู่โจมด้วยเชื้อโรคระบาด ทั้งดวงตนของผู้นำและดวงเมืองที่ตกกาลวิโยคความวิบากร้ายแรงพอๆ กัน เริ่มจากเมษายนชาวพนมเปญหลายเขตต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ ตามมาด้วยการระบาดจากกาสิโน ตลาดสด และชุมชน

แม้จะปิดพื้นที่ทั้งหมดเพื่อสกัดการระบาด แต่เดือนถัดมาภาพกลุ่มเมฆเหนือกรุงพนมเปญแบบเฟรมต่อเฟรมเหมือนภาพยนตร์ “วันสิ้นโลก” (the day after tomorrow) ที่เขย่าขวัญชาวเขมรในคำทำนายอดีตถึงพนมเปญที่ล่มสลาย (ซึ่งกลุ่มเมืองเหล่านั้นยังมีกรุงเทพฯ ด้วยนะ)

สมเด็จฮุน เซน ไม่เคยอดทนต่อการรับรู้เชิงสาธารณะ ในโหมดอันคุ้นเคยคือการออกคำสั่ง แต่กรณีการแต่งตัวเลขผู้ติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขที่ค่าเฉลี่ย 500 คนต่อวันก็ยังไม่น่าพอใจ แม้ความจริงอีกด้านจะย้อนแย้งกว่านั้น ตัวเลขในเรือนจำและชุมชนก่อสร้าง สถานบันเทิง กาสิโนทั่วประเทศทั้งหมดคือมวลรวมของโควิด-19 กัมพูชา แต่ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะรับทราบ

หมดคราบการต่อสู้ ทั้งสวดบทพระรัตนสูตร ฉีดวัคซินจีน-อินเดีย ชิโนฟาร์ม-ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งบริจาคและสั่งซื้อตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่นับวันประชาชนกลับต่อต้านจนแทบจะกลายเป็น “แรงบดขยี้” ที่ไม่ลดราต่อรัฐบาลกัมพูชา

ทำลายสุขภาพจิตสมเด็จฮุน เซน เกินกว่าประทังได้ แม้แต่สมาชิกตระกูลฮุนก็ติดเชื้อโรคนี้ ในจำนวนนั้นคลับคลา คือลูกของฮุน มานา

แต่สำหรับสมเด็จฮุน เซน และคนอื่นๆ ที่เหลือรอดนั้น ช่างปิดข่าวได้สนิทศิษย์ส่ายหน้า!

ถึงตอนนี้ผู้นำสูงสุดกัมพูชา เริ่มรู้ตัวว่า “มฤตยู” ตัวนั้นช่างเข้าใกล้เขานัก แม้แต่ชะตาชีวิตที่แบ่งเป็นสองของเขาก็ยังเอาไม่อยู่ โควิด-19 ได้เผยให้เห็นว่า การโคลนนิ่งทายาทการเมืองคนต่อไปคือใครแน่ โลกสมัยใหม่ที่รับมือเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงนั่น และ “ฮุน มานี” ที่ทำท่าจะแซงหน้าพี่ชายฮุน มาเนต

เขาอาจขึ้นมาเป็นฮุน เซน คนที่สองในทันที? หรือไม่ ความน่าเกรงขามจนน่าขนหัวลุกกว่านั้น คือการที่เขาถอดแบบมาจากฮุน เซน…แม้แต่น้ำเสียงก็ยังโคลนนิ่งกันได้ชนิดคำต่อคำ “ยังกับถอดพิมพ์กันมา” หรือมิฉะนั้นก็สายพันธุ์ใหม่แบบเดียวกับโควิด-19 นั่น!

และเช่นกัน ในความทรงจำของฮุน เซน ภาคชรา เขามักหวนหามิตรภาพจากอดีตที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ซึ่งพบในช่วงปี ’90 รวมทั้งการพลิกฟื้นประเทศที่เขารำลึกว่า

“ตั้งแต่ทศวรรษที่ ’90 มานั้น ญี่ปุ่นคือประเทศที่ทุ่มเทช่วยเหลือตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้กัมพูชาไม่น้อย ตัวอย่างคือสะพาน 2 แห่งที่จังหวัดกำปงจามและจังหวัดกันดาลกับไปรแวง”

ถ้าไม่เกรงใจจีนอย่างลนลาน สมเด็จฮุน เซน และราชสกุลนโรดมดูจะชื่นชมญี่ปุ่นยิ่งนัก การจดจำความช่วยเหลือนานาที่ปราศจากเงื่อนไขทั้งด้านดีและด้านร้ายที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศอื่นคือ กดดันยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการค้าทั้งการทูตและการเมืองตลอดมา

ทว่า เมื่อป่วยด้วยโรคร้ายคราวนี้ กัมพูชากลับสูญเสียมิตรที่ดีไปด้วย แต่ใครเล่าที่ทำลายมิตรภาพนั้น?

เพื่อเคลียร์คำถามอย่างในวันพบนักข่าวต่างประเทศ เขาถามนำนักข่าวว่า

“ทำไมกัมพูชาพึ่งพาแต่จีน? ถ้าไม่พึ่งจีนแล้ว (เรา) จะพึ่งใคร? คุณก็เห็นแล้วนี่ สะพานข้ามแม่น้ำเกือบทุกสายในเขมร ก็มาจากทุนจีน อย่าว่าแต่สะพานเลย แม้แต่เส้นทางขนส่งและถนนทุกสายเป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ก็จีนนั่นเองที่สร้างให้”

และหยอกเอินมิตรประเทศผู้บริจาค อย่างตรงไปตรงมา

“อเมริกาที่เคยสัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือเราสิบล้าน (?) แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน? ส่วนวัคซินแอสตร้าเซนเนก้าก็เหมือนกัน ผมขอไป 4 ล้านโดส อเมริกันตีข่าวจะบริจาคให้เรา 1 ล้าน 1 แสนโดส แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นมีอะไร?”

มันคือสไตล์การเมืองที่ล้าหลังของโลกเก่าที่สมเด็จฮุน เซน เพิ่งตระหนักรู้ได้จากกรณีโควิด-19 นับแต่ที่เขารู้จักมาขวบปี มันได้ให้บทเรียนที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองและสุขภาพกายใจแก่เขาอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว

ราวกับปีศาจมฤตยูที่กล่าวไว้ในคำทำนาย

เจ็บปวดนักที่รับรู้ว่า ในตรรกะทั้งหมดของการพัฒนาประเทศของตน มันคือความล้มเหลว!

ไม่มีความสำเร็จที่แท้จริง นอกจากการทำให้พลเมืองของตนเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษาสมัยใหม่อย่างทั่วถึงซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นของการพัฒนาประเทศ แต่มันช้าไปแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น แบบเดียวกับเขมรแดงในวันสิ้นอำนาจ ต้องทิ้งกรุงพนมเปญไปกับรถไฟเที่ยวสุดท้ายแล้วไม่กลับมาอีกเลย (1979)

และจนกว่ารถไฟเที่ยวสุดท้ายขบวนใหม่จะกลับมา

เครดิตภาพ : fb@hun manet; ig@mani_hun