เปิดที่มาของคำว่า “กาด” ของคนล้านนา

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : กาด

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า กาด

หมายถึง ตลาด

กาดเป็นสถานที่ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ทั้งที่ตั้งในหมู่บ้าน ตำบล และเมือง

ชื่อของกาดในแต่ละแห่งมักมีชื่อตามสถานที่ตั้ง เช่น กาดป่าไผ่ กาดบ้านดู่ กาดหางดง เป็นต้น ส่วนประเภทของกาดที่พบในล้านนา อาจพบคำที่มีความหมายว่ากาดดังต่อไปนี้

กาดก้อม คือ ตลาดขนาดย่อม

กาดงัว เดิมเป็นตลาดนัดขายวัว-ควายและสินค้าทางการเกษตรเป็นหลักซึ่งมีหลายแห่งในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ปัจจุบันมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาเป็นตลาดซื้อ-ขายรถมือสอง เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องอุปโภคบริโภคครบวงจร

กาดเช้า ได้แก่ตลาดที่เปิดให้ซื้อ-ขายกันเฉพาะช่วงเช้า บางท้องที่เรียก “กาดหมั้ว”

กาดลาด เป็นตลาดที่เปิดให้มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันตลอดวัน

กาดลี อันที่จริง คำว่า “กาด” กับ “ลี” มีความหมายว่าตลาดเหมือนกัน จึงมักปรากฏในรูปคำผสมเป็น “กาดลี” “ไปกาดไปลี” แต่เฉพาะภาษาไทเขินจะหมายถึงตลาดที่มีขนาดเล็กกว่า “กาดหลวง”

กาดเลิง หมายถึงตลาดที่มีการซื้อ-ขายกันอย่างคึกคักตลอดวัน

กาดแลง คือตลาดที่มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันในเฉพาะช่วงบ่ายถึงค่ำ

กาดหมั้ว แต่เดิมหมายถึงตลาดที่เปิดให้ซื้อ-ขายกันเฉพาะช่วงเช้า แต่ปัจจุบันมีการค้าขายกันตลอดทั้งวัน

กาดหลวง เฉพาะในตัวเมืองเชียงใหม่จะหมายเอาเฉพาะ “ตลาดวโรรส” เท่านั้น

แต่ในความหมายทั่วไปจะหมายถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด เป็นศูนย์รวมของการจำหน่ายสินค้าทุกประเภท ผู้คนทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นต่างพากันทำการซื้อ-ขายอย่างเนืองแน่นตลอดทั้งวัน และบางแห่งมีการเปิดให้มีการซื้อ-ขายตลอดคืนด้วย

 

สําหรับกาดในบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่มีหลายแห่ง

เช่น กาดช้างเผือกตั้งอยู่บนถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ

กาดต้นพะยอมหรือกาดสุเทพอยู่ย่านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ ทางเข้ากองบิน 41

กาดประตูเชียงใหม่อยู่บริเวณประตูเชียงใหม่ ถนนบำรุงบุรี ตำบลพระสิงห์ กาดธานินทร์หรือกาดศิริวัฒนา อยู่ไม่ไกลจากกาดช้างเผือก บนถนนราชภาคินัย ตำบลช้างเผือก

กาดสมเพชรหรือกาดมิ่งเมืองตั้งอยู่บนถนนมูลเมือง ตำบลศรีภูมิ บริเวณฝั่งคูเมืองด้านในก่อนถึงแจ่งศรีภูมิ เลยจากประตูท่าแพไม่ไกลนัก

กาดสันป่าข่อยอยู่แถวถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกต ฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง

กาดแต่ละกาดในเมืองเชียงใหม่ดังกล่าวต่างมีความสำคัญ มีประวัติความเป็นมา

แต่ที่โดดเด่นควรกล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมในนี้คือ กาดต้นลำไย กาดวโรรส และกาดเมืองใหม่

 

กาดต้นลำไย กาดนี้ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง แต่เดิมเป็นสวนลำไยติดกับสุสานเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ที่เรียก “ข่วงเมรุ”

สวนลำไยนี้เป็นที่เลี้ยงช้างของเจ้าหลวง มีท่าน้ำที่ควาญช้างนำช้างลงอาบน้ำเหนือสวนลำไย

ฝั่งตรงข้ามน้ำแม่ปิงเป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าส่งซึ่งมีศูนย์กลางอยู่บริเวณวัดเกตการาม มีเรือหางแมงป่องจอดรับสินค้าจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

บริเวณท่าสวนลำไยจึงเริ่มมีการค้าขายแลกเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ในลักษณะ “กาดก้อม”

และพัฒนาเป็น “กาดหมั้ว” ต่อมาขยายเป็นแหล่งศูนย์กลางของสินค้าเกือบทุกชนิด

กาดหลวง หรือตลาดวโรรส กาดนี้สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเพื่อสร้างรายได้แก่วงศาคณาญาติเจ้านายฝ่ายเหนือในยุคปฏิรูปการปกครองของสยามประเทศ พระราชชายาทรงให้ย้ายเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของเจ้านายฝ่ายเหนือจาก “ข่วงเมรุ” ไปไว้ที่วัดสวนดอก แล้วสร้างตลาดสดขึ้นบริเวณนั้น โดยมีชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “กาดหลวง” และมีชื่อเป็นทางการว่า “ตลาดวโรรส”

กาดเมืองใหม่ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนวิชยานนท์ ตำบลช้างม่อย เทศบาลนครเชียงใหม่ มีความโดดเด่นในด้านความเป็นตลาดค้าส่ง เป็นตลาดสดที่เป็นศูนย์รวมของผลิตผลทางการเกษตรที่เกษตรกรนำเข้าสู่แหล่งการค้า

รวมทั้งมีการจำหน่ายอาหารสดจากทะเลและสินค้าทุกอย่างที่ตลาดอื่นหาซื้อได้ยาก

ตลาดนี้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ผู้คนทั้งไทยและเทศเข้า-ออกตลาดกันอย่างคึกคัก เพราะนอกจากจะมีสินค้าครบวงจรแล้วยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย

คำว่า “กาด” แต่เดิมคือตลาดในความหมายของสถานที่ค้าขายตามความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในยุคปัจจุบันมีการนำเอาคำนี้มาตั้งชื่อสถานการค้าแนวใหม่ เช่น กาดสวนแก้ว (ศูนย์การค้า) กาดฝรั่ง (community mall) กาดหน้ามอ (ตลาดชิม ช้อป ชิค ของนักศึกษา มช.) กาดคำเที่ยง (ตลาดขายต้นไม้) เป็นต้น

นับเป็นการปรับใช้ทางภาษาเชิงธุรกิจโดยอาศัยกลิ่นอายทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งจูงใจ

กาดลีเป๋นกาดบ่าเก่า

แปลว่า ตลาดโบราณในเชียงใหม่ที่เรียกว่ากาดลี