คำ ผกา : คนจนก็แบกโลกใบนี้ไว้ครึ่งหนึ่ง

คำ ผกา

ฉันเป็นคนที่พูดมาโดยตลอดว่าประชาชนไม่ควรจะแพนิกกับโควิดมากเกินไป เมื่อครั้งที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ เพราะตอนนั้นมันเป็นสถานการณ์ที่เรา “เอาอยู่” ตามสมควรแม้จะพบคลัสเตอร์สนามมวย แต่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม และจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยมาก และโดยสถิติผู้เสียชีวิตจากโควิดดันชัดเจนว่าคือผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว หรือน้ำหนักเกินมาตรฐานจนเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน ซึ่งใช้วิธีเฝ้าระวังจำเพาะกลุ่มไปได้

เหตุที่บอกว่าเราไม่ควรกลัวหรือแพนิกจนเกินกว่าเหตุนั้นเพราะรู้ว่าสันดานรัฐเผด็จการไทยพร้อมจะใช้ความกลัวนี้เรียกค่าไถ่แลกเอาเสรีภาพของประชาชนไปอย่างง่ายดาย

พูดให้เข้าใจง่ายคือ ประชาชนจะกลัวตายจากโควิดเสียจนยินยอมให้รัฐพรากเอาสิทธิและเสรีภาพของเราไปอย่างเต็มอกเต็มใจ

สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ยามที่โควิดไม่ได้ระบาดรุนแรงในประเทศไทยคือ รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นอยู่มายาวนานจนถึงวันนี้ มีการยึดอำนาจบริหารไปจาก ครม. โดยใช้ชื่อว่าศูนย์บริหารโควิด ที่คล้ายเป็น “บอร์ด” บริหารประเทศทั้งซ้อนทับและเหลื่อมทับกับ ครม.

ที่สำคัญการทำงานของ ศบค.ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภาที่จะตรวจสอบ ถ่วงดุลได้เลยแม้แต่น้อย

และที่ชัดเจนคือ แม้แต่ รมต.สาธารณสุขก็ไม่ได้นั่งในคณะกรรมการบริหารวัคซีน

แต่ประชาชนไทยก็ไม่นำพากับการมี “บอร์ด” ขึ้นมาบริหารประเทศโดยเอาโควิดบังหน้า ปล่อยให้เขาพรากอำนาจการถ่วงดุล ตรวจสอบไปจากสภาที่อย่างน้อยที่สุด ยังมีตัวแทนของประชาชนที่พยายามจะทำงานอยู่บ้างในนั้น

และโดยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ณ ยามที่โควิดไม่ได้ระบาดหนัก อยู่ๆ ก็มีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศในห้วงเวลาที่แฟลชม็อบไล่รัฐบาลปะทุขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

ณ วันนั้น ประชาชนที่หวงแหนเสรีภาพก็ตั้งคำถามกันยกใหญ่ว่า จะล็อกดาวน์ทั้งประเทศทำไม ในเมื่อหลายๆ จังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดแม้แต่คนเดียว

พร้อมๆ กันก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ความสะอาด

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คนไทยจำนวนมากฉุกคิดว่านี่คือความผิดปกติ เพราะสาละวนอยู่กับความกลัวตายและกลัวโควิด พากันออกมาสนับสนุนบอกว่ารัฐบาลทำถูกต้องแล้ว

ผลจากการปิดเมือง ล็อกดาวน์แบบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม ส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจขนาดหนัก

รัฐบาลอ้างว่าหลายประเทศในโลกนี้ก็ปิดเมือง ล็อกดาวน์เข้มข้นยิ่งกว่าเมืองไทย ทำไมเขาไม่โวย

แต่รัฐบาลไม่ได้เปรียบเทียบว่าประเทศที่ล็อกดาวน์เข้มข้นทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นนั้นจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนอย่างสมน้ำสมเนื้อโดยที่ไม่ต้องร้องขอ ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย ไม่ต้องพิสูจน์ความจนใดๆ ทั้งสิ้น

เช่น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่ต้องหยุดงาน รัฐบาลก็จ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือน ในระหว่างที่ร้านอาหารต้องปิด

เจ้าของกิจการได้ค่าชดเชย ได้รับความช่วยเหลือ-ภาระทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องแบกรับนี้ถือเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา ควบคุมโรคระบาดให้ได้เร็วที่สุด เพราะตัวเองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอยู่

และค่าใช้จ่ายนี้ก็เป็นเงินภาษีประชาชนด้วย

ตรงกันข้ามรัฐบาลไทยจ่ายเงินชดเชยเยียวยาแบบกะปริบกะปรอย ขั้นตอนยุ่งยาก เยียวยาไม่ตรงจุด ใช้เงินเป็นเบี้ยหัวแตก

สุดท้ายภาระทางการเงินกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับกันไปตามลำพัง

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมบริหาร ร้านอาหาร โรงแรม ร้านนวด ผับ บาร์ นักร้อง นักดนตรี โดนไปก่อนใคร ถัดมาเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ก่อนจะซดเซใส่กันเป็นโดมิโนตามห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทานที่กระเทือนถึงกันหมด

แต่ไม่มีใครฉุกคิดสักเท่าไหร่ว่าเราเองนั่นแหละถูกรัฐบาลใช้ความกลัวจากโควิดมาเรียกค่าไถ่เราเพื่อให้เขาได้นั่งในอำนาจไปโดยปราศจากการท้าทาย ตั้งคำถาม

และประโยคคลาสสิคที่ผู้สนับสนุนรัฐฐาลใช้คือ “อย่าเปลี่ยนม้ากลางศึก”

จริงๆ แล้วประเทศไทยควรจะเป็นประเทศที่มีจังหวะและโอกาสที่ดีกว่าใครในสถานการณ์โควิด

เนื่องจากในช่วงแรกของการระบาด เราไม่พบสถานการณ์ที่รุนแรงเมื่อเทียบกับอังกฤษ อเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรป หากเรามีรัฐบาลที่ทำงานเป็น ควรจะฉวยใช้จุดแข็งตรงนี้เป็นโอกาสแห่งการเตรียมประเทศให้พร้อมสำหรับการแข่งขันและการทำมาหากิน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เช่น ระดมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ใช้โอกาสที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ให้โรงแรมขนาดเล็ก ขนาดกลางได้รีแบรนด์ ซ่อมแซมตึก รีโนเวต ตกแต่ง จัดสวนใหม่ รื้อเมนูอาหาร ออกแบบอาหาร ขนม เครื่องดื่มใหม่ๆ เปิดโอกาสให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ออกมาแสดงตัว และ “ทดลอง” อย่างเต็มที่ในช่วงที่เราว่างเว้นจาก “ลูกค้า”

และทั้งหมดนี้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้ นั่นแปลว่าในอีกทางหนึ่ง มันเกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ เมืองไม่เหี่ยวเฉา มีความหวัง

เงินกู้หนึ่งล้านล้าน ถือโอกาสเอามาปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบสุขาภิบาล ความสะอาด ปรับปรุงรถสาธารณะให้สะอาด ปลอดภัย เพราะเรามีโจทย์เรื่องโรคระบาดจากไวรัสเพิ่มเข้ามา

ควรริเริ่มโครงการสร้างสวนสาธารณะ เพิ่มห้องน้ำสาธารณะตามสวนหย่อม สวนสาธารณะ เพื่อให้คนขับแท็กซี่ ผู้ประกอบอาชีพ “ไรเดอร์” ทั้งหลาย ไม่ต้องมายืนฉี่กันริมถนน ทั้งนี้ก็เพื่อสุขอนามัยด้วย มีส้วมสาธารณะเพิ่มก็เท่ากับว่ามีที่ล้างมือเพิ่ม และนี่คือสิ่งที่โฆษก ศบค.บอกว่าคือวัคซีนที่ดีที่สุดไม่ใช่หรือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย

นี่คือสิ่งที่เราควรจะทำในยามที่โลกเขาวิจัยวัคซีน คือเตรียมประเทศให้พร้อมค้าขายอีกครั้งเมื่อมีวัคซีนโควิด (ประเมินศักยภาพตัวเอง ฉันจะไม่พยายามไปวิจัยวัคซีนแข่งกับเขา เว้นแต่จะวิจัยเพื่อวิจัยเป็นองค์ความรู้ แต่จะพยายามหาเงินมาซื้อวัคซีนดีกว่า)

ระหว่างนี้ควรพัฒนาระบบการตรวจโควิดแบบรวดเร็ว เพื่อผลของการคัดกรองเบื้องต้น ให้ประชาชนสามารถตรวจได้โดยง่ายไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกๆ สองสัปดาห์ และสร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลจากการคัดกรองไปสู่การตรวจจริง

หลังตรวจจริงแยกผู้ติดเชื้อมีอาการ ไม่มีอาการ พัฒนาระบบดูแลติดตามผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการเพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนผู้ติดเชื้อมีอาการ หนัก-เบา ให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลโรงพยาบาล ยาต้านไวรัส เครื่องช่วยหายใจ ห้องไอซียู

ระบบเหล่านี้หากพัฒนาให้นิ่งให้อยู่ตัว ตั้งแต่ปีที่แล้ว ป่านนี้ประเทศไทยไม่ต้องมาซัฟเฟอร์กับการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างที่เป็นอยู่

สุดท้ายถ้าหากปีที่แล้วฟังเสียงประชาชนบ้าง ก็ควรจะเวิร์กเรื่องวัคซีนไว้หลายๆ ทางเผื่อเหลือเผื่อขาด ควรจะเข้าโครงการ COVAX ควรดีลวัคซีนไว้ทุกยี่ห้อ ตั้งแต่ไฟเซอร์ยันซิโนแวค ไปจนถึงเปิดโรงงานรับผลิตวัคซีนให้แอสตร้าเซนเนก้า

คำถามของฉันที่เรียบง่ายที่สุดคือ วัคซีนมีมากดีกว่ามีน้อย มีหลากหลายดีกว่ามีแค่หนึ่งหรือสองยี่ห้อ มีทั้งโรงงานผลิต และวัคซีนที่นำเข้า มีมันทั้งหมดเนี่ย มันดีน้อยกว่าไม่มีอย่างไร?

ทำไมตอนนั้นต้องพยายามออกมาแก้ตัวกันเป็นพัลวัน ทั้งเรื่องแทงม้าตัวเต็ง ทั้งเรื่องไม่ต้องการให้คนไทยเป็นหนูทดลองวัคซีน ทั้งเรื่องที่เราจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางวัคซีน ใครมาทักท้วงก็ไปแจ้งความดำเนินคดีเขา

แบบนี้หรือที่เรียกว่าการบริหารประเทศโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ไม่นับสลิ่มที่พากันออกมาขอบคุณโควิด ป่านนี้ไม่รู้มีญาติมิตรพ่อ-แม่ใครตายเพราะโควิดไปบ้างหรือยัง?

ในห้วงเวลาที่โลกนี้ไม่มีวัคซีนแต่ประเทศไทยจัดอยู่ลิสต์ “ประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด” เรากลับไม่ได้ใช้โอกาสนั้นเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้พร้อมสำหรับการเป็นประเทศที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ณ ยามที่วัคซีนออกสู่ตลาด แต่ใช้พลังงานทั้งหมดไปกับการทำให้ประชาชนอ่อนแอทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และใช้ภาวะโควิดเป็นโอกาสในการรวบอำนาจไว้กับตนเองและพวกพ้องในแบบที่หนักข้อกว่าเดิม

น่ารังเกียจกว่านั้น บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งๆ ที่ถูกชิงอำนาจไปจากมือจนเกือบหมด ถูกเหยียบหัว เหยียดหยาม จนไร้บทบาท ก็ยังหน้าทนอยู่เป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์และพวกนั่งกินเมืองต่อไปเรื่อยๆ

ตลกกว่านั้นคือเวลาสลิมด่า สลิ่มจะด่านักการเมือง เช่น ด่าอนุทินว่า ผู้รับเหมาที่มาคุมหมอ จากนั้นสลิ่มก็ไปปกป้องประยุทธ์และพวก

สรุปคือ ทั้งภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ต้องกลายเป็นหมาแทนประยุทธ์ในสายตาสลิ่ม มีขี้อยู่ที่ไหน โยนให้นักการเมือง ส่วนลุงตู่นั้นดีที่สุด รักชาติที่สุด ทำงานที่สุด

จากวันนั้นถึงวันนี้

วันที่ทุกประเทศเขาเข้าถึงวัคซีนกันในทางใดทางหนึ่งและกระหน่ำฉีดวัคซีนกันอย่างไม่คิดชีวิตเพราะหวังผลเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

สวนทางกับชาวโลก ประเทศไทยกลับเจอคลัสเตอร์ใหม่ ใหญ่กว่าเดิมทุกวันๆ พร้อมๆ กับที่ถูก “เท” ทางวัคซีนอย่างที่ไม่มีใครสามารถอธิบายปรากฏการณ์ “เท” นี้ได้อย่างสมเหตุสมผล

ไวรัสมันไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ ไม่เลือกว่าจนหรือรวย อย่าคิดว่ามีเงินบินไปฉีดวัคซีนเมืองนอกแล้วจะรอด เพราะมันจะมีประโยชน์อะไรที่ “รอด” ชีวิตขึ้นมาท่ามกลางซากศพและซากปรักหักพังของประเทศชาติ

จะมีประโยชน์อะไรที่จะรอดตายจากโควิดแล้วนั่งหายใจไปท่ามกลางเสียงสาปแช่ง และความเกลียดชังของผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน และรู้ได้อย่างไรว่า วันหนึ่งออกไปกินข้าวนอกบ้านแล้วคนล้างจานในครัวนั้นจะไม่แอบถุยน้ำลายพร้อมขากเสลดใส่ข้าวมาให้กิน เพราะเขาเกลียดคุณเพียงเพราะคุณรอดมาบนซากศพของคนอื่น

อย่าคิดว่ามีแค่เงินแล้วฉันจะรู้สึกดีกับโควิดอย่างไรก็ได้ เพราะครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้มีคนจนแบกไว้อยู่