แนวรบตะวันตก/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

แนวรบตะวันตก

 

แทนที่แนวรบตะวันตกของไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงดังในนิยายดัง

ตรงกันข้าม แนวรบตะวันตกของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนตลอดเวลา

เพียงแค่ 100 กว่าวันที่ทหารเมียนมาทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งมีทั้งอาวุธและกำลังพลก็ตาม แต่ไม่มีความชอบธรรม ยึดอำนาจง่ายดายแต่กลับบริหารไม่ได้

หากจัดวางภูมิภาคอาเซียนเป็นแนวตะวันออกของเมียนมา ดูเหมือนว่า แม้อาเซียนทำงานหนัก จัดประชุมฉุกเฉิน รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เคลื่อนไหวผลักดันและกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างมาก

แต่ดูเหมือนว่า พลังจากภูมิภาคอาเซียนไม่ได้ส่งผลต่อความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมามากนัก

น่าสนใจ แนวรบตะวันตก กลับปรับเปลี่ยนอย่างฉับไวและดูเหมือนว่ามีพลังต่อสถานะของความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาอย่างมาก

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า แนวรบตะวันตกมีแนวโน้มไปในทิศทางใด

ยิ่งไปกว่านั้น จะเป็นผลดีหรือไม่ต่อภูมิภาคเอเชีย ตอบยาก

จุดยืนของอินเดียต่อเมียนมา

 

อินเดียในฐานะมหาอำนาจของโลกนั้นมีนโยบายภูมิภาคครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เมียนมาเป็นแกนหนึ่งในนโยบายของอินเดียที่ว่านี้เลยทีเดียว

นโยบายอินเดียได้แก่ Look East policy และต่อมาคือ Act East policy อันหมายถึงนโยบายเชิงรุกของอินเดียทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากปล่อยให้มหาอำนาจภายนอกเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆ จนเป็นพื้นที่กลายๆ ของชาติมหาอำนาจภายนอกไปแล้ว

ในขณะที่รากฐานทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และผู้คนของอินเดียที่เป็นรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แทบไม่ก่อประโยชน์อะไรมากนัก

สำหรับเมียนมา เมียนมาในเนื้อแท้เป็นอะไรที่มากไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย

กล่าวคือ เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพื้นที่ราบหิมาลายาในเชิงสังคมและวัฒนธรรม แต่ก็เป็นส่วนแปลกแยกต่ออินเดียทั้งทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะศาสนาและภาษา รวมทั้งเป็นส่วนที่ไกลโพ้นจากศูนย์กลางการปกครองของอินเดีย

ในขณะเดียวกัน รัฐเล็กๆ ของเมียนมาที่อยู่ติดอินเดียกลับสัมพันธ์เข้าใกล้ชาติตะวันตกตั้งแต่ยุคอาณานิคม นโยบายการเมืองและความมั่นคงร่วมสมัย และเป็นพื้นที่แห่งการปฏิบัติงานอย่างแข็งขันของหน่วยงานราชการลับของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

รัฐประหารเมียนมา จุดยืนใหม่ของอินเดีย

 

ไม่ว่าใครจะอธิบายรัฐประหารในเมียนมาและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นอะไรก็ตาม สำหรับอินเดีย ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาเป็น สัญลักษณ์ ของการปฏิวัติแห่งสี (Color Revolution) ที่ปั่นป่วนและวุ่นวายอย่างมากต่ออินเดีย

น่าสนใจ แค่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ความพลิกผันทางการเมืองในแนวทางที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาไม่เพียงประท้วงต่อเนื่อง แต่การประท้วงโดยปราศจากอาวุธของพวกเขาได้ดึงเอาความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาใหญ่คือ พุทธ คริสต์ และมุสลิมให้เข้ามารวมกัน

แล้วค่อยๆ ละลายความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาที่เคยเป็นอุปสรรคแห่งชาติของเมียนมามายาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายมาเป็นอาวุธการเมืองที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังอย่างมากของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารได้อย่างเหลือเชื่อ

ภูมิทัศน์ของแนวรบตะวันตก

 

ขอให้พิจารณาเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เมืองฮัคคา (Hakha) เมืองหลักของรัฐชิน (Chin State) ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนติดอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีการโจมตีกองกำลังทหารเมียนมา ปรากฏว่า ทหารเมียนมาเสียชีวิตไป 9 นาย

ในแง่จำนวนการเสียชีวิตอาจไม่มาก แต่นี่เป็น สัญญาณเตือน รัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลอินเดียพร้อมกันให้ทำความเข้าใจ ภูมิทัศน์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียหรือภาคตะวันตกของเมียนมา

ในส่วนของอินเดีย บริเวณนั้นประกอบด้วยรัฐคือ รัฐอรุณจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) รัฐนาคาแลนด์ (Nagaland) รัฐมณีปุระ (Manipur) และรัฐมิโซรัม (Mizoram)

ส่วนเมียนมาประกอบด้วยรัฐคะฉิ่น (Kachin State) รัฐสะกาย (Sagaing State) รัฐชิน (Chin State)

รัฐทั้ง 4 รัฐด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ในแง่สังคมวัฒนธรรมและภูมิทัศน์การเมือง ผมขอสรุปว่า ไกล อ่อนไหว ต่างภาษา ต่างศาสนาและต้องการเป็นเอกราช

ขยายความได้ว่า รัฐทั้ง 4 รัฐของอินเดียตั้งอยู่ห่างไกลศูนย์กลางการปกครอง มีความอ่อนไหวด้วยเหตุว่า รัฐเหล่านี้ไม่เคยมีสำนึกร่วมว่าเป็นอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับถือศาสนาคริสต์ เป็นชนชาติอื่นคือ ชาวมิโช (Mizo) (เป็นต้น)

ยิ่งไปกว่านั้น ธรรมชาติของชายแดน สายสัมพันธ์ ชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ความเป็นญาติพี่น้อง กิจกรรมทางศาสนา ธุรกรรมเศรษฐกิจ และน่าจะรวมสำนึกร่วมด้วย ระหว่างคนในรัฐต่างๆ ในฝั่งเมียนมาคือ รัฐคะฉิ่น รัฐสะกาย และรัฐชิน พวกเขาคือพวกเดียวกัน

ดังนั้น แนวคิดการเป็นเอกราชของรัฐเหล่านี้จึงดำเนินมาโดยตลอด

นี่เองที่อินเดียอ่อนไหวและรู้สึกไม่มั่นคงเสมอมา ครั้นเมื่อเกิดรัฐประหารเมียนมา ระเบิดที่เกิดขึ้นแล้วมีทหารเมียนมาล้มตาย จึงเป็นสัญญาณภัยต่ออินเดียเลยทีเดียว

ดังนั้น รัฐประหารในเมียนมาจึงได้ไปเปลี่ยนท่าทีของอินเดียต่อเมียนมา

พร้อมกันนั้น สิ่งที่คู่ขนานไปกับแนวรบตะวันตกคือ ยุทธศาสตร์ของชาติตะวันตกและเครื่องมือสำคัญของชาติตะวันตกในบริเวณรอยต่อระหว่างอินเดียและเมียนมา ที่ผลักดัน

ยุทธศาสตร์ใหญ่ของชาติตะวันตก

 

ชาติตะวันตกไม่ได้มองแค่เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตย ทั้งสองอย่างนี้แม้เป็นหลักการสากล แต่ก็ถูกหยิบฉวยนำมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนเรื่องที่สำคัญและเป็นผลประโยชน์หลักของชาติตะวันตกได้แก่ เมียนมา นั่นเป็นทั้งข้อต่อสำคัญของยุทธศาสตร์ใหม่ ยังเป็นกลไกสำคัญใช้ต่อต้านจีน ในช่วงเวลาที่แนวรบตะวันออก อาจกล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่อิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนไปแล้ว

เมื่อมองไปที่อาเซียน แม้จะยังมีกลิ่นอายชาติตะวันตก แต่ก็เป็นกลิ่นอายที่แสนจะเบาบาง ครั้นมีพวกอาเซียนนิส ผู้ใหลหลงกับความสำเร็จลุ่มๆ ดอนๆ ของอาเซียน ก็ปล่อยให้พวกเขาฝันและใฝ่หาอดีตอันเรืองรองของอาเซียนต่อไป เพราะในความเป็นจริง อาเซียนแบ่งได้เลยว่าพันธมิตรของจีนมีมากกว่าครึ่งภูมิภาคไปแล้ว

ยังไม่นับ ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีนที่ยึดโยงด้วยกิจกรรมและธุรกรรมของจีนในทุกย่อมหญ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้น จึงเหลือส่วนที่จีนยังเข้าไปไม่ถึงคือ ภูมิภาคเอเชียใต้ อันมีอินเดีย ผู้เป็นมากกว่า แหล่งวัฒนธรรม เราไม่ควรลืมว่า อินเดียเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ เป็นมหาอำนาจด้านการทหาร มหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่สำคัญกว่าคือ เป็นมหาอำนาจชาติตะวันตก และมหาอำนาจที่ต้านจีนโดยพื้นฐาน

ดังนั้น India’s Act East policy ซึ่งเป็นนโยบายที่กว้างไปกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ได้เชื่อมโยงไปไกลถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกอันมีญี่ปุ่นที่เป็นแกนหลัก นโยบาย Act East policy ที่ผลักดันกันมาเมื่อทศวรรษที่แล้ว ให้อินเดียใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออก เข้ากันได้ดีกับนโยบาย Pivot to Asia ของสหรัฐอเมริกา* แล้วยังบูรณาการกับระบบความสัมพันธ์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์การทหารของ QUAD อีกด้วย

แล้วเมียนมาก็เป็นด่านหน้าที่สำคัญเพื่อต่อต้านจีนโดยตรง

ความขัดแย้งในเมียนมาได้เข้าไปอยู่ในสมการการเมืองของแนวรบตะวันตกเรียบร้อย

*ดู Swaran Singh and Lilian Yamamoto, “Quads and Triangles : Locating Japan in India’s Act East Policy” Global Outlook Vol.1 No.1 Spring 2016.