สิ่งแวดล้อม : ขยะ ‘หน้ากาก’ ล้นโลก / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

ขยะ ‘หน้ากาก’ ล้นโลก

 

เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อินเดีย “B.1.617” ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรง คร่าชีวิตชาวอินเดียวันละ 4 พันคน ติดเชื้อเฉียดๆ 4 แสนราย สร้างความหวาดหวั่นขวัญผวาให้กับประเทศเพื่อนบ้านเรือนเคียง เพราะอินเดียตกอยู่ในสภาวะวิกฤตทางการแพทย์ เครื่องมือรักษาขาดแคลน โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย คนอินเดียหนีตายข้ามชายแดน อาจจะพาเชื้อร้ายเข้าไปด้วย

นักวิทยาศาสตร์พบว่า เชื้อ B.1.617 กลายพันธุ์ในอินเดียตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เชื้อมีความแรงเพิ่มขึ้น ติดง่ายขึ้น ใครติดเชื้อแล้วจะมีอัตราเสี่ยงตายสูง ที่น่าแปลกใจ เชื้อตัวนี้ไม่กลัวสภาพอากาศของอินเดียที่ร้อนจัด บางวันอุณหภูมิพุ่งเกือบ 40 องศาเซลเซียส พอๆ กับบ้านเรา

ถ้าชาวอินเดียหนีตายข้ามแดนมายังฝั่งตะวันออก เชื้อร้ายอาจแพร่ระบาดเข้าไปในพม่าลามมายังไทยด้วย

จึงมีเสียงเตือนดังๆ จากหลายฝ่ายให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุมเข้มชายแดน เพราะมีข่าวเจ้าหน้าที่เห็นแก่เศษเงินปล่อยให้แรงงานเถื่อน คนต่างด้าวทะลักข้ามแดนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สภาพอย่างนี้โอกาสที่ไทยจะเจอ “โควิด-19” ถล่มซ้ำเป็นระลอกที่ 4

ระลอก 3 ขณะนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วันละเป็นพันคน เสียชีวิตเป็นหลักสิบต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว เจอระลอก 4 เมื่อไหร่ คำว่าวินาศสันตะโรเหมือนอินเดียไม่ไกลเกินจริง อย่าประมาทเป็นอันขาด

 

การควบคุมแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต้องให้คนทั้งประเทศฉีดวัคซีนให้ครบหรือให้ได้อย่างน้อย 60-70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ส่วนการบังคับให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ ยังเป็นเรื่องจำเป็นตราบเท่าที่เชื้อยังมีฤทธิ์ร้าย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าวันนี้หน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์สำคัญของโลกไปแล้ว ใครไม่ใส่ นอกจากจะโดนจับปรับแล้วยังเป็นที่รังเกียจของผู้คนรอบข้างอีกด้วย

หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งส่วนใหญ่และกลายเป็นขยะเกลื่อนไปทั่ว เป็นปัญหาของทั้งโลก เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้และใช้แล้วก็ต้องทิ้ง บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องใส่ชุดป้องกันเชื้อ ถุงมือ ใช้แล้วก็ต้องทิ้งเช่นเดียวกัน

หน้ากากอนามัย ถุงมือ ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกไฟเบอร์ หรือโพลิพรอพิลีน (polypropylene) เมื่อเป็นขยะแล้ว แสงแดด รังสีย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจายไปทั่วกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ถือเป็น “ขยะติดเชื้อ” เนื่องจากหลังการใช้งาน ทุกชิ้นจะปนเปื้อนสารคัดหลั่งในร่างกาย อาจจะมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วย การทิ้ง การจัดเก็บ และการทำลาย ต้องใช้ขั้นตอนเดียวกับการจัดเก็บขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล

นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจประเด็นขยะหน้ากากอนามัย ถุงมือและชุดป้องกันเชื้อ กำลังศึกษาหาวิธีควบคุมไม่ให้ขยะเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างไร

 

ขณะนี้มีผลการศึกษาไปแล้วกว่า 40 เรื่อง ในผลศึกษาบางชิ้นประเมินกันว่า ทั่วโลกใช้หน้ากากอนามัยราว 129,000 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือวันละ 4,300 ล้านชิ้น เฉลี่ยนาทีละ 3 ล้านชิ้น

บางรายงานระบุว่า หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งทั่วโลกในแต่ละวันมีราว 3,400 ล้านชิ้น เฉพาะในภูมิภาคเอเชียมีหน้ากากอนามัยทิ้งวันละ 1,800 ล้านชิ้น จีนทิ้งมากสุดวันละ 702 ล้านชิ้น หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรจีนซึ่งมีกว่า 1,400 ล้านคน

ผลการศึกษาของวารสารสิ่งแวดล้อมชื่อ “เอ็นไวรอนเมนทัล แอดวานซ์” ระบุว่า เฉพาะหน้ากากอนามัยเพียงชิ้นเดียว สามารถย่อยเป็นไมโครไฟเบอร์ 173,000 ชิ้น กระจายลงสู่แม่น้ำลำคลอง หรือท้องทะเล และไม่รู้ว่าคลื่นซัดไปจบลงตรงไหน

บรรดาปลาหรือสัตว์น้ำจะกลืนกินไมโครไฟเบอร์เหล่านี้โดยคิดว่าเป็นเหยื่อ

ปัญหาขยะหน้ากากอนามัยเจอทุกมุมโลก

นักประดาน้ำในประเทศฟิลิปปินส์พบขยะหน้ากากอนามัยติดอยู่ในหมู่ปะการังเป็นจำนวนมาก เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมดเพราะมีมาเพิ่มทุกวัน

ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นอกจากจะเจอขยะหน้ากากอนามัยแล้ว ยังเจอชุดป้องกันเชื้อ อุดท่อน้ำกลางเมือง เช่นเดียวกับที่ชายฝั่งประเทศเคนยา แคนาดา หรือเกาะฮ่องกง พบกับปัญหาขยะหน้ากากอนามัยเกลื่อนทะเล

 

ในเมืองไทย ปัญหาขยะหน้ากากอนามัยก็เป็นเรื่องใหญ่ หลายฝ่ายเรียกร้องให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหานี้

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประเมินว่าในแต่ละเดือนคนไทยใช้หน้ากากอนามัยราว 1,800 ล้านชิ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รายงานว่าช่วงการแพร่ระบาดระลอก 3 มีขยะติดเชื้อเฉลี่ย 15 ตันต่อวัน มากกว่าช่วงแพร่ระบาดระลอก 2 ระหว่างเดือนธันวาคม 2563-เมษายน 2564 มีปริมาณเฉลี่ย 12 ตันต่อวัน

ระลอก 3 ขยะติดเชื้อทั้งหน้ากากอนามัย ถุงมือ กระดาษชำระ กล่อง ขวดพลาสติกและชุดป้องกันเชื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มขึ้น 3 ตันต่อวัน

กทม.บอกว่าขยะติดเชื้อเหล่านี้ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ต้องส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขมเท่านั้น และต้องเตรียมพร้อมเพื่อจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิดที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบัน กทม.ตั้งวางถังสีส้มรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ พร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ 1,000 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร

ส่วนในภูมิภาค ไม่รู้ว่ามีจังหวัดไหนบ้างใช้ระบบจัดเก็บและกำจัดอย่าง กทม.

 

ขณะที่การรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนจัดเก็บขยะหน้ากากอนามัยหรือขยะติดเชื้ออย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และหน้ากากอนามัยที่สามารถรีไซเคิลหรือทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่เช่น หน้ากากผ้า น่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหานี้

นอกจากหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อ ถุงมือ จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในวิกฤต “โควิด-19” ผู้คนส่วนใหญ่หวาดผวากับการติดเชื้อ พยายามอยู่กับบ้านให้มากที่สุด การสั่งอาหาร ผัก ปลา หรือเครื่องใช้จำเป็นผ่านทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องฮิตฮอต ผลที่ตามมาก็คือการบรรจุอาหารหรือสินค้าด้วยการห่อหุ้มพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย นั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกไปโดยปริยาย

ผู้คนทั้งโลกอยู่ในวิกฤตโควิด-19 วิกฤตสิ่งแวดล้อม การหาวิธีให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด