ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต/อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าไทย กับแผนของภาครัฐ-เอกชน

สันติ จิรพรพนิต
Honda e and Energy Management Images

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าไทย

กับแผนของภาครัฐ-เอกชน

 

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรงและมาเร็วอย่างมาก ประเมินกันว่าภายในปี 2568 ทั่วโลกจะมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 25 ล้านคัน

ปัจจัยหลักๆ มาจากหลากเรื่อง เช่น การลดการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสีย ฝุ่นควัน รวมไปถึงน้ำมันที่หาได้ยากและลดน้อยลง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์หรือแบตเตอรี่ ที่ทนขึ้น สะสมพลังงานได้มากขึ้น

จนทุกวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าเกือบทุกรุ่นที่ชารจ์เต็ม 100% มีพิสัยการวิ่งไม่น้อยกว่ารถยนต์ที่เติมน้ำมัน 1 ถัง

แถมบางรุ่นยังวิ่งไกลกว่ารถยนต์สันดาปด้วยซ้ำ

ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์หลากหลายค่ายหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แม้แต่เดิมเหมือนจะหันเหไปพลังงานอื่น อาทิ โตโยต้า หรือฮอนด้า ที่แม้ในอดีตจะเคยวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว แต่ให้น้ำหนักไม่มากนัก เน้นไปที่กลุ่มไฮบริด หรือลูกผสมน้ำมัน+ไฟฟ้า และรถพลังงานเซลเชื้อเพลิง หรือไฮโดรเจน

แต่มาตอนนี้ทั้งโตโยต้าและฮอนด้าเริ่มผลิตและมีแผนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

 

อย่างฮอนด้า โดยนายโทชิฮิโร ไมเบะ ซีอีโอคนใหม่ของบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศตั้งเป้าเลิกผลิตรถใช้น้ำมัน เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 19 ปี

โดยเร่งเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮโดรเจนให้ได้ 40% ภายในปี 2573

80% ภายในปี 2578

และ 100% ภายในปี 2583

โดยปีที่แล้วฮอนด้าเปิดตัวรถไฟฟ้า e: Architecture ซึ่งจับมือกับเจเนอรัล มอเตอร์ หรือจีเอ็ม ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ของสหรัฐอเมริกา

โดยสหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อย

แต่ที่มากกว่าไม่พ้นจีน เพราะถือเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งมากที่สุดในโลก

ฮอนด้าประกาศเปิดตัวรถอีวี 10 รุ่นภายใน 5 ปี มีหัวหอกคือ “เอสยูวี e” รถต้นแบบที่จะผลิตและขายจริงในปี 2565

ขณะที่โตโยต้าก็ยืนยันว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มีแผนเปิดตัวถึง 15 รุ่น ภายในปี 2568 มี 7 รุ่นที่อยู่ภายใต้แบรนด์ย่อย “Beyond Zero” (bZ)

ล่าสุดอวดโฉมรถต้นแบบ Toyota bZ4X Concept รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV (Battery Electric Vehicle) ที่จะเปิดขายอย่างเป็นทางการภายในกลางปี 2565

พร้อมประกาศชัดๆ ว่าภายในปี 2568 จะมีโมเดลรถยนต์พลังงานทางเลือกมากถึง 70 รุ่น แต่ส่วนใหญ่เป็นรถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 จะมีรถยนต์ไฟฟ้ามาให้เลือกมากขึ้นจากปัจจุบันมี 4 รุ่น

 

สําหรับประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางผลิตรถยนต์ระดับต้นๆ ของโลก ประกาศนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยหวังให้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตใหญ่ของเอเชีย

จากปัจจุบันฐานการผลิตใหญ่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าคือจีน ที่มีสัดส่วนราวๆ 50% ของทั่วโลก ตามมาด้วยยุโรปที่ 26%

รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สถาบันยานยนต์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดหนักจัดเต็มกับการออกแผนสนับสนุนทั้งเรื่องภาษีและอื่นๆ

อาทิ ในปี 2561 รัฐบาลเองออกนโยบายจูงใจผู้ลงทุนด้วย 2 โปรแกรมด้านภาษี บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการรับรอง ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลและอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตั้งแต่ 5-8 ปี

ผู้ผลิตส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญมากกว่าหนึ่งรายการ อาจได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มเติม 1 ปี ตามจำนวนส่วนประกอบหลัก โดยสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดีอีวี) เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกแบบครบวงจรทั้งเก๋ง กระบะ รถโดยสาร/รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถจักรยานยนต์

มีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน

วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนรวม 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน

ส่วนในปี 2578 เพิ่มการใช้รวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน

การผลิตในปี 2578 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน

 

ขณะที่รัฐวิสาหกิจหลักๆ อย่างการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึง ปตท.-บางจาก ร่วมกับเอกชน อาทิ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เร่งขยายสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ

หัวหอกหลักไม่พ้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ที่ปัจจุบันมีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ากว่า 400 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 หัวชาร์จ ตั้งแต่ระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็ว หรือ DC Super-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที

พร้อมให้บริการแอพพลิเคชั่น “EA Anywhere” สามารถดำเนินการทั้งจอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกัน

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA บนเส้นทางหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตร สู่เมืองใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้พัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และ PEA VOLTA Platform ประกอบด้วยระบบและช่องทางการสื่อสารข้อมูลจากเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และส่วนของระบบบริหารจัดการข้อมูลที่แสดงผลผ่าน Mobile Application และ Web Service

มีแผนการขยายบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามเส้นทางหลัก เส้นทางรอง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 75 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 263 สถานี ภายในปี 2566

 

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิด “EleX by EGAT” ให้ประชาชนนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาชาร์จไฟฟ้าได้ โดย กฟผ.ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ารถ EV ภายใต้ชื่อ “EleX by EGAT” ให้ได้ 35 แห่งในปี 2564

ทำให้ กฟผ.มีสถานีชาร์จทั้งหมด 48 แห่งภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่ที่ กฟน.สำนักงานใหญ่ เพลินจิต กฟน.เขตวัดเลียบ กฟน.เขตสามเสน กฟน.เขตบางเขน กฟน.เขตบางขุนเทียน กฟน.เขตลาดกระบัง

กฟน.เขตบางใหญ่ กฟน.เขตสมุทรปราการ กฟน.เขตราษฎร์บูรณะ กฟน.เขตธนบุรี กฟน.ที่ทำการบางพูด 7-Eleven สาขาบ้านสวนลาซาล (ศรีนครินทร์) 7-Eleven สาขา สน.บางขุนนนท์

บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG แบ่งพื้นที่ก็ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT มีเป้าหมายขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ให้ได้ 13-15 สถานี และในอนาคตเพิ่มเป็น 50 สถานี หรือทุกๆ 100-150 ก.ม.

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ลงทุนสถานีชาร์จในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 30 สาขา และจะเพิ่มเป็น 100 สาขาในสิ้นปีนี้ ส่วนปี 2565-2566 จะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จอีก 300 แห่ง โดยจะใช้ตัวเมืองกรุงเทพฯ ปริมณฑลเป็นหลัก

ทั้งหมดนั้นคือภาพรวมการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแบบครบวงจร ที่ผนึกกำลังทั้งภาครัฐและเอกชน