เปิดมติ ก.ค.ศ.ฝ่าวิกฤตโควิด เลื่อนขั้นสร้างขวัญกำลังใจครู/บทความการศึกษา

บทความการศึกษา

 

เปิดมติ ก.ค.ศ.ฝ่าวิกฤตโควิด

เลื่อนขั้นสร้างขวัญกำลังใจครู

 

เป็นที่ฮือฮา หลังครูเหน่ง “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นัดแรก หลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ…

เคาะมติสำคัญหลายเรื่อง ทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการในสถานศึกษาประเภทเดียวกัน โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตในจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตรวจสอบข้อมูล ประเมินศักยภาพผู้ประสงค์ขอย้าย อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่กำหนดใหม่ รวม 1,081 อัตรา โดยไม่มีการเพิ่มอัตรากำลังและไม่เพิ่มงบประมาณ

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบปรับปรุงแนวปฏิบัติการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเป็นครู กรณีผู้สอบแข่งขันหรือผู้สมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย

โดยกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ต้องมีการศึกษาเนื้อหาวิชาที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาที่สอน ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 ปี หลักสูตรต่อเนื่อง ต้องศึกษาเนื้อหาที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาที่สอนในระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต

และในระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าได้ไม่เกิน 10 หน่วยกิต รวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต โดยให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตามทรานสคริปต์

ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคุณวุฒิ ทุกสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ.รับรอง สามารถนำหน่วยกิตมาใช้สมัครเพื่อสอบแข่งขันหรือคัดเลือกได้

ที่สำคัญยังอนุมัติ สร้างขวัญกำลังใจครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของส่วนราชการ สังกัด ศธ. สามารถนำผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมาเป็นองค์ประกอบการประเมินวิทยฐานะเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนได้

 

ประเด็นนี้สร้างความกังขาให้กับนักวิชาการอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งมีข้อห่วงใยว่า การนำประเด็นความช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเชื่อมโยงกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะอาจจะไม่เหมาะสม ขัดแย้งกับความต้องการของประชาชน ที่กำลังวิตกถึงการสอบและการเรียนของนักเรียน ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่…

“เรื่องเหล่านี้ ศธ.ควรจะระมัดระวัง คนอาจจะมองได้ว่า ศธ.ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือนร้อนของนักเรียน ขณะที่คนรอดูท่าทีว่า หลังเลื่อนเปิดเทอมจากเดิมวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน จะมีมาตรการอะไรมารองรับบ้าง แทนที่จะมานั่งประชุมเรื่องการเลื่อนเงินเดือน เพิ่มอัตรากำลังคน ผมมองว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.อาจจะถูกระบบข้าราชการกลืนกินเร็วกว่าปกติ เพราะ น.ส.ตรีนุชเข้ามารับตำแหน่งโดยที่ไม่มีความรู้ด้านการศึกษา ทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าเปิดเผยนโยบาย ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุชควรรับฟังเสียงนักเรียนและผู้ปกครองรอบด้าน เพื่อการพัฒนาที่ตรงจุด ไม่ใช่รับฟังแต่ราชการเพียงอย่างเดียว”

นายสมพงษ์กล่าว

 

ขณะที่นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ นายกสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มองว่า มติดังกล่าวสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาโดยเฉพาะการปรับปรุงการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งวางเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ไว้ 5 เรื่อง หรือ ‘5 บิ๊กร็อก’ สำคัญคือ

1. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา

2. การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ

3. การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน

4. การจัดการอาชีวศึกษา ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน

และ 5. การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

ส่วนแผนการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน นั้นมีสองส่วนคือการผลิตครู มีแผนการดำเนินการที่สำคัญ คือปรับรูปแบบ กระบวนการคัดเลือกครูและนิสิต/นักศึกษาครู ที่มีประสิทธิภาพ เที่ยงตรง และลดความเหลื่อมล้ำ ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูที่เป็นเลิศและปรับปรุงรูปแบบกระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตามความต้องการและความจำเป็นตามบริบทของสาขาวิชาและพื้นที่ และพัฒนากรอบมาตรฐานและตัวชี้วัดสมรรถนะอาจารย์ประจำในสถาบันผลิตครู และครูพี่เลียงในโรงเรียนหรือสถานฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้านวิชาชีพครู

ส่วนที่สอง คือการพัฒนาครู มีแผนการดำเนินการที่สำคัญ คือพัฒนากรอบมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพครูทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษาที่เน้นให้ครูมีความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ เชี่ยวชาญวิชาชีพ การวัดและประเมินคุณภาพครูตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งระบบ การสร้างระบบกลไกให้ครูและผู้บริหารมีการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องและการปรับปรุงระบบกลไกการพัฒนาและเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา

มติครั้งนี้ถือว่า ก.ค.ศ.เริ่มมีการดำเนินการที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปการศึกษาในหลายด้าน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณและอัตรากำลังเพิ่ม

ถือเป็นความเห็นทั้งสองด้าน แต่ในภาวะวิกฤตเชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันแก้ปัญหา และขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้ดีที่สุด