อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม จากแดนมะกะโรนี? (3)/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ไชยันต์ รัชชกูล

 

อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม

จากแดนมะกะโรนี? (3)

 

To see a world in a grain of sand (William Blake)

มองโลกจากเม็ดทราย (วิลเลียม เบลก)

 

ในเชิงเทคนิคการนำเสนอ นิยายชุดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนัง ด้วยว่าลีลาการเล่าเรื่องเข้า ทำนองเสนอภาพแบบพาโนรามา ที่กล้องฉายให้เห็นผู้คนและสถานที่ ทั้งจากระยะใกล้และไกล จากทั้งมุมกว้าง และมุมประชิด ไปที่คนกลุ่มหนึ่งในละแวกหนึ่งของชานเมืองเมืองหนึ่ง โดยมีลิลา เลนู อาดา แฟร์นันโด กับคนอื่นๆ รวมๆ ทั้งหมดแล้วก็กว่าครึ่งร้อยกระโดดโลดเต้นอยู่บนหน้าหนังสือ

การกระทำของตัวละครไม่ว่าจะเป็นตัวรองหรือตัวหลักร้อยเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

ตัวละครที่ดูเหมือนเป็นตัวประกอบ แต่ต่อมากลับมีบทบาทถึงขนาดกำหนดเส้นทางของเรื่องและ ความเป็นไปของตัวละครหลักๆ เหตุการณ์เฉพาะจุดที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญในเวลานั้น กลับเป็นองค์ประกอบของเรื่องราวสำคัญต่อมา

ถ้าเปรียบชุดนิยายนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ ก็จะเห็นว่า มีเสากับโครงค้ำตัวบ้าน กระเบื้องแต่ละแผ่นต่อกันเข้าเป็นพื้น พื้นก็รองรับชั้น ชั้นก็โยงยึดเข้ากับโครงสร้าง

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เหตุการณ์และการกระทำ รายละเอียดน้อยใหญ่ต่างๆ แต่ละส่วนสมานเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นองค์รวม

นับว่าผู้ประพันธ์วางโครงเรื่องอย่างพิถีพิถันยิ่ง จนชวนให้คิดว่า แฟร์รานเตคงผูกวางเรื่องไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ

อันต่างจากนักประพันธ์บางคน (ซึ่งก็ยิ่งใหญ่) ที่เขียนไป แต่งเรื่องไป

บางคนถึงกับตื่นเต้นเองว่า เรื่องจะดำเนินไปอย่างไรก็มี

จริงอยู่ที่ฉาก เหตุการณ์ ตัวละครอยู่ที่แถวเมืองเนเปิลส์ แต่แท้แล้วอาจจะเป็นย่านที่อยู่ในส่วนอื่นใดของโลกก็ย่อมได้ ไม่ว่าจะเป็นย่านคนยากจนในกรุงเทพฯ แมนเชสเตอร์ ชิคาโก ฯลฯ ชื่อสถานที่ก็สามารถแทนด้วยชื่ออื่น หรือในประเทศอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ไนจีเรีย อินเดีย ฯลฯ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นิยายชุดนี้เข้ารอยวรรณกรรมชั้นเลิศที่ความหมายมิได้จำกัดเฉพาะเจาะจงอยู่กับสถานที่และบุคคล

แต่เป็นโลกจำลองที่ย่อรูปจากโลกกว้าง เหมือนกับที่นิโน “มักพูดเรื่องเฉพาะตัวให้กลายเป็นเรื่องสากล” (เล่ม 2 น.249)

 

ความหมายในคำพูดของนีโนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่อิตาลี เมื่อเลนูเล่าว่า

“เราคุยกันว่า เนเปิลส์กับอีสเกียและทั่วทั้งแคว้นคัมปาเนีย ตกอยู่ในมือคนเลวๆ ที่อ้างตัวว่าเป็นคนดี ‘พวกโจร’ นีโนนิยามพวกเขาด้วยเสียงที่ดังขึ้น ‘พวกล้างผลาญ’ พวกสูบเลือด กอบโกยเงินทองโดยไม่จ่ายภาษี พวกบริษัทก่อสร้าง ทนายความของบริษัทก่อสร้าง กลุ่มมาเฟีย พวกฟาสซิสต์นิยมกษัตริย์…” เกิด “การสมรู้ร่วมคิดระหว่างตำรวจกับศาล การทุจริตในทุกภาคส่วนของรัฐ” (เล่ม 2 น.430)

ตัวอย่างสามีตบตีภรรยาข้างต้นนั้น สะท้อนภาพระดับโลกได้ ตามการประมาณของ องค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ผู้หญิง 7 ใน 10 จะถูกกระทำรุนแรงในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และประมาณว่า ผู้หญิง 600 ล้านคนอยู่ในประเทศที่ความรุนแรงในครอบครัวเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย

ถ้าจะขอยืมศัพท์ที่ใช้ในวงการดนตรี คือ ‘การสร้างทำนองหลากหลายจากพื้นฐานของทำนองหลัก’ (Variations on a theme)

ชุดนิยายเรื่องเพื่อนคนเก่ง นี้ก็คือ การนำปรากฏการณ์ชีวิต ที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ เวลาและสถานที่ ไม่ว่าจะมาจากทางตอนใต้ของอิตาลีและจากที่อื่นๆ มาร้อยเรียงเชิงวรรณศิลป์ขึ้นใหม่ เป็นเนื้อร้องและทำนองที่ละม้าย หรืออาจจะถึงกับพลิกผันจากเรื่องราวเดิม

แต่ผู้อ่านก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เสมือนจะคุ้นเคย ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมควบคู่ไปกับปัญหาการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ

 

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกวรรณกรรม นิยายชุดนี้เชื่อมโยงกับโลกวรรณกรรมที่กว้างออกไปอีกหลายงาน ทั้งที่เอ่ยถึงโดยตรงและสัมพันธ์กัน ตามที่ตัวละครหนึ่ง “เข้าใจเชื่อมโยงหนังสือที่แตกต่างกันมากเข้าด้วยกัน” (เล่ม 2 น.427) ซึ่งนักวิชาการวรรณกรรมศึกษาเรียกว่า ‘สัมพันธบท’ (Intertexuality)

แม้ว่าเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับแง่นี้ สำหรับการอ่านอย่างกินใจ แต่ในเมื่อผู้ประพันธ์เขียนอย่างชี้ช่องทั้งตรงและอ้อม ก็ถือเป็นเรื่องทั้งเชื้อชวนให้เราคิดใหม่ในเรื่องที่ได้อ่านมาแล้ว และตามหาอ่านเรื่องที่แปลกใหม่กันต่อไป

เมื่อลิลายกบทละครของเบ็กเคตต์ (Samuel Beckett ผู้เป็นอมตะจากบทละคร Waiting for Godot) ขึ้นมานั้น ยิ่งช่วยส่องแสงให้เรายิ่งมองสภาพชีวิตของตัวละครและโลกที่กว้างออกไปอย่างปวดร้าวหนักขึ้น

การสนทนากันระหว่างลิลากับนีโนอิงไปถึงบทละคร “All That Fall” ของ แซมมวล เบ็กเคตต์ ทั้งคู่ประทับใจตัวละครชื่อแดน รูนีย์ คนตาบอด “แต่ไม่ เสียใจที่ตาบอด เพราะเขาคิดว่า การมองไม่เห็นทำให้ชีวิตดีขึ้น มิหนำซ้ำ เขายังถึงกับนึกสงสัยว่า หากหูหนวกและเป็นใบ้ด้วย ชีวิตจะยิ่งดีขึ้นหรือเปล่า ชีวิตอันบริสุทธิ์ ชีวิตที่ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากชีวิต” (เล่ม 2 น.221)

ความคิดที่ว่า เรารู้สึกถึงชีวิตได้มากขึ้นเมื่อตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ในทัศนะของแดน รูนีย์ หมายความว่า ขอให้เราทำการ “กำจัดตัวกรองทั้งหลายซึ่งกีดขวางไม่ให้เรา เสพสุขจากการอยู่กับปัจจุบันในสภาพที่แท้จริงได้อย่างเต็มที่” ( เล่ม 2 น.230)

เราคงเห็นพ้องกันไม่ยากว่า โลกนี้มิใช่ทุ่งลาแวนเดอร์ แต่การคิดไปว่า โลกนี้มันแสนไม่น่าพิสมัยเท่าใดนัก จนกระทั่งไม่ต้องไปเห็น หรือถึงกับไปรับรู้ทางอายตนะใดๆ เสียเลยจะดีกว่านั้น เป็นผู้มีชีวทัศน์แบบไหนหรือ?

ผู้ที่คิดได้เช่นนี้ ถ้าไม่ใช่อยู่ในอาการซึมเศร้าจนสุดขั้ว ก็คงจะเป็นนักคิดที่เลิศเลอจนมีนักวิชาการมาใส่ใจศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง (มี The Journal of Beckett Studies พิมพ์ต่อเนื่องมากว่า 40 ปีแล้ว และมีการประชุมนานาชาติของ The Beckett Society อยู่เป็นประจำ)

คำกล่าวแบบเบ็กเคตต์ที่ว่า “When you are on Earth, there is no cure for it.” นั้นคงยากที่จะหาใครที่มองโลกมืดดำเท่าเขาแล้ว

บรรทัดฐานสังคม

: กรงขังหรือพลังของความดี?

Am not I

A fly like thee?

Or are not thou

A man like me?

William Blake

ฤๅข้าไม่ใช่

แมลงเช่นเจ้า?

ฤๅเจ้าไม่ใช่

คนเช่นข้า

วิลเลียม เบลก

 

เหตุไฉนคนจำนวนมากถึงไม่ทำตาม หรือไม่สามารถทำตามกรอบกำหนดของสังคม ศีลธรรม ประเพณี?

ทำไมมันถึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนบางกลุ่ม บางสถานะ?

พระสงฆ์ที่ท่องศีลห้าอย่างคล่องปาก จะกังขาบ้างหรือไม่ว่า มันเป็นเรื่องทำกันง่ายๆ สำหรับทุกๆ คนหรือ?

ไม่ใช่เฉพาะผู้อ่านที่จะเกิดคำถามว่า ทำไมลิลาและคนอื่นๆ ถึงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่ไม่สมควร

เขาเหล่านั้นเองก็รู้เสียยิ่งกว่ารู้ว่า มันเสี่ยง มันจะนำผลร้ายมาค่อนข้างแน่ แต่เขาทำไปเช่นนั้นด้วยเหตุผลอะไร

ด้วยแรงของตัณหาราคะ ด้วยความรัก ด้วยการถูกกดทับ ด้วยความทะเยอทะยาน หรืออย่างน้อยก็เพียงเพราะดิ้นรนให้ชีวิตลอยคอเหนือน้ำเท่านั้น

เนื่องจากเรารู้จักตัวละครและเงื่อนไขชีวิตของเขาเหล่านั้น เราจึงไม่ทำตัวเป็นผู้พิพากษาทางศีลธรรม แต่กลับคิดว่า ถ้าเราเป็นเขา เราก็คงทำทำนองเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น ยังชวนให้กลับมาตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานทางสังคม นักสังคมวิทยาสกุลหนึ่งนิยมยกครรลองของความคิดและความประพฤติ (ที่เขาเรียกว่า ‘Norms’ ภาษาไทยเรียก บรรทัดฐาน?) ว่าเป็นคำตอบต่อปัญหาสังคม

คำถามก็คือ มันเป็นคำตอบของใคร? ถ้าจะถามอย่างไม่เกรงใจว่าจะระคายโสตของ “สุภาพชน” คนชั้นบน ก็คือ มันเป็นคำตอบสำหรับทุกชนชั้นหรือ?

เมื่อมองจากข้อจำกัดต่างๆ นานาของผู้คน ก็คงอยากจะถามว่า ‘Normative Order’ นั้นทำหน้าที่เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจริงหรือ?

หรือโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นการใช้อำนาจข่มเหง เบียดเบียนของคนกลุ่มหนึ่งต่อผู้คนอีกภาคส่วนหนึ่ง การเทศน์ให้เว้นจากการเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่อนุญาตมาเป็นของตนนั้น เป็นศีลธรรมสากล หรือแท้แล้วเป็นมาตรการที่เป็นคุณต่อฝ่ายผู้มีสมบัติ?

แต่สำหรับฝ่ายผู้ไร้สมบัติที่ต้องขับเคี่ยวกับคู่ต่อสู้ที่ตนเองเป็นรอง ต้องเสี่ยงเลือกทางเดินที่ไม่มีทางจะรู้ได้ว่าข้างหน้าจะต้องพบเจอกับสิ่งใดนั้น เป็นข้อเรียกร้องของคนคาบช้อนเงินช้อนทองต่อคนอดมื้อกินมื้อ หรือมิใช่?

แล้วการให้ความหมายต่อคำสอนนี้ ได้รวมไปถึงการใช้กลไกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินส่วนรวมไปเป็นของส่วนบุคคล ว่าเข้าข่ายละเมิดต่อศีลข้อ อทินนาทานา เวรมณี ด้วยหรือไม่?

นอกเหนือจากกรอบศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีแล้ว แม้กระทั่งกรอบกำหนดมาตรฐานความพฤติกรรมทางสังคมพื้นๆ ตามจรรยาปฏิบัติต่อกันในครอบครัว (พ่อ-แม่-ลูก) ในหมู่คนใกล้ชิด (ญาติ เพื่อนบ้าน) นั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องปกติวิสัย

คงไม่ต้องคาดหวังถึงขนาดกตัญญูรู้คุณบุพการี การแบ่งปันและการเคารพผู้อื่น “รักเพื่อนบ้าน ประหนึ่งรักตัวเอง”

เพียงแต่โอภาปราศรัยกันอย่างสุภาพ อ่อนน้อม ซึ่งเสมือนเป็นอากัปกริยาที่ถือกันว่าสมควรจะเป็น “Norms” สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะคล้องกับวิถีปฏิบัติในเงื่อนไขชีวิตที่แต่ละคนต้องดิ้นรนในการประคองชีวิตด้วยการปกป้องคู่กันไปกับการแสวงประโยชน์

ท่ามกลางการโรมรันพันตู และประพฤติปฏิบัติกันไปตามอุปนิสัย ความคุ้นเคย