นักวิชาการ ชี้ คำวินิจฉัยคดีธรรมนัส เป็นบทเรียนราคาแพงประเทศไทย

นักวิชาการ ชี้ คำวินิจฉัยคดีธรรมนัส เป็นบทเรียนราคาแพงประเทศไทย

วันที่ 6 พ.ค. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เขียนข้อความแสดงความเห็น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ซึ่งเคยได้รับโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศไม่ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแวดวงการเมือง จนถึงวงแวดวิชาการด้านนิติศาสตร์

เป็นอีกครั้งที่เราเห็นการใช้อำนาจรัฐในนามของการตีความกฎหมาย ที่อาจบั่นทอนศีลธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างประมาณไม่ได้ เป็นการวินิจฉัยที่ อ้างหลัก “อำนาจอธิปไตย” ที่เลื่อนลอย ไม่สอดคล้องกับบริบท แต่ละเลยต่อหลัก “จริยธรรมของการเป็นผู้บริหารประเทศ” ที่เราพยายามอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการทำให้สิ่งนี้กลายเป็นสถาบันทางสังคมขึ้น

นัยของการวินิจฉัย อาจทำให้นักการเมืองและผู้บริหารประเทศ ละเลยและละทิ้งบรรทัดฐานจริยธรรมทางการเมืองมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

สังคมไทยพยายามสร้างบรรทัดฐานอย่างยาวนานที่ให้ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคุณธรรมและจริยธรรม มีการบัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับ

แต่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งได้สั่นคลอนความเป็นสถาบันของสิ่งที่เรียกว่า “ผู้บริหารประเทศต้องมีจริยธรรม และปราศจากมลทินมัวหมอง” ลงไป อย่างสิ้นเชิง

เป็นบทเรียนที่สาหัสและราคาแพงมากครับ สำหรับประเทศไทย