ตระหนกในความเลอะเทอะ/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ตระหนกในความเลอะเทอะ

 

การระบาดของโรคที่เกิดจาก “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” หรือที่องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อให้ว่า “โควิด-19” ในประเทศไทยเราเริ่มในปลายปี 2562 เริ่มรุนแรงต้นปี 2563 เป็นระลอกแรก

มารุนแรงอีก ที่บางคนเรียกว่าระลอกใหม่ บางคนเรียกระลอก 2 ปลายปี 2563 และเพียงผ่านไตรมาสแรกของปี 2564 การระบาดระลอก 3 ก็เกิดขึ้น

ที่น่าจะเป็นข้อสังเกตคือในประเทศไทยเรา พัฒนาการของแต่ละระลอกรุนแรงขึ้น และสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนมากขึ้น

ขณะที่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่หลังจากมีการระบาดครั้งแรก ซึ่งในหลายประเทศรุนแรงอย่างมาก แต่หลังจากนั้น แม้การระบาดจะยังมีอยู่ แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเดิม ที่สำคัญคือประชาชนไม่ตื่นตระหนกเท่าตอนครั้งแรก

ซึ่งผิดกับประเทศไทยเรา

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “คนไทยกับโควิด-19 ระลอก 3”

ในคำถาม “ประชาชนคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ทำให้คนตื่นตระหนก วิตกกังวลมากกว่าครั้งที่ผ่านมาหรือไม่” ร้อยละ 68.40 ตอบว่ามากกว่า, ร้อยละ 19.60 เท่าเดิม, ร้อยละ 12.00 น้อยกว่า

นี่เป็นความแตกต่างระหว่างชะตากรรมของคนไทยกับต่างชาติในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

ในประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดี การระบาดครั้งแรกเป็นบทเรียนที่ผู้นำประเทศเรียนรู้เพื่อหาวิธีรับมือ

การระบาดครั้งแรกสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาหนักสุด สร้างความหวาดผวาให้กับคนทั้งโลกว่ามหาอำนาจรับมือกับโรคระบาดไม่ได้ ผู้คนล้มตายกันมากมาย แต่หลังจากครั้งนั้นสถานการณ์โควิดในอเมริกาดีขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มใช้ชีวิตปกติกันได้บ้างแล้ว

ความวิตกกังวล ตื่นกลัวแทบไม่มีเหลือ

ประเทศจีนชึ่งเกิดการระบาดก่อนประเทศอื่น ถึงวันนี้ใช้ชีวิตปกติกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะการบริหารจัดการไม่ทำให้เกิดระบาดรุนแรงระลอกใหม่ ประชาชนเลิกตื่นตระหนก หยุดหวาดผวากันไปแล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ระบาดหนักก่อนหน้านั้น

ความตื่นตระหนกจางคลายไปแล้ว

 

แต่ประเทศไทยเรากลับไม่เป็นอย่างนั้น ทั้งที่มีประสบการณ์มา 2 ระลอก ซึ่งควรจะเป็นบทเรียนให้มีความรู้ การเตรียมความพร้อมรับมือ วิธีการที่จะทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก

ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย

การระบาดครั้งแรก ประชาชนมีความรู้พื้นฐานในการป้องกันแล้ว อย่างใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ไปมั่วสุมในที่แออัด ระมัดระวัง สังเกตอาการ

ประชาชนเรียนรู้ที่จะอยู่แบบ “NEW NORMAL” กันทั่วไป

สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือจัดเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าประเทศแก้ปัญหาการระบาดของโรคนี้ได้

ไม่ว่าจะเป็นเตรียมสถานพยาบาลที่พร้อมกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ของบุคลากร ยารักษา อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องไม้ทางการแพทย์ที่จำเป็น เตรียมวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ที่สำคัญคือจัดระบบ กระบวนการเพื่อพร้อมจะให้ความรู้กับประชาชนหากเกิดข้อสงสัย ทำความเข้าใจเรื่องขั้นตอนการรับมือต่างๆ บอกให้ประชาชนรับรู้ อย่างเช่น คนกลุ่มไหนจะได้วัคซีนยี่ห้อไหน ในวันไหนเดือนไหน ให้ความรู้ในเรื่องวัคซีนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในทางเดียวกัน

การเข้าถึงความรู้ได้ง่าย เร็วและถูกต้องจะทำให้ผู้คนไม่ตื่นตระหนก

แต่เรื่องราวกับเป็นไปแบบตรงกันข้าม ไม่มีการเตรียมความรู้ในเรื่องเหล่านี้ และสร้างช่องทางให้เข้าถึงได้ง่าย

 

ในการระบาดแต่ละครั้ง สิ่งที่ประชาชนรับทราบคือ ระบบสาธารณสุขจะรับไม่ไหว เตียงพอ ยาหมด บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับมือหนัก ไม่มีแผนระดมกำลังแบบยืดหยุ่น กำลังคนในแต่ละพื้นที่เหมือนที่ประเทศอื่นเขาทำกัน

ระบบบริหารจัดการวัคซีนยิ่งเละใหญ่ ไม่เพียงล่าช้าเหมือนไม่มีการจัดการอะไรเลย ยังปล่อยให้เกิดข่าวที่สร้างความไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลเลือกซื้อ จนโกลาหลไปด้วยข่าวร้าย

การระบาดครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ได้เป็นบทเรียนอะไรให้รู้สึกว่าต้องเตรียมการเลย

ที่เลวร้ายที่สุดคือ การโทษประชาชนว่าไม่มีวินัยในการรับมือ

ขณะที่เสียงพูดถึงความห่วยแตกในการบริหารจัดการของรัฐบาลดังขรม ขยายไปยังทุกวงการ ทุกสาขาอาชีพ

รัฐบาลยังเชื่อว่า “ทำดีที่สุดแล้ว” และโทษประชาชนไม่เลือกว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด ทั้งที่ทุกครั้งหลักฐานชัดเจนว่าเกิดจากความโหลยโท่ยและเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวของคนกลไกอำนาจรัฐ

อาจจะเป็นกรรมของประเทศ

เมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ชวนกัน “ย้ายประเทศกันเถอะ” เพราะมองไม่เห็นอนาคตที่ดี

ก็ยังอวดเก่งในความบ้องตื้น และใช้อำนาจอย่างเลอะเทอะ โดยไม่สำนึกเลยว่าได้สร้างความเลวร้ายให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของผู้คนร่วมชาติที่ต้องรับกรรมแค่ไหน จากความไร้ประสิทธิภาพนั้น

โรคระบาดที่เกิดขึ้นมาเป็นปีๆ ควรจะให้บทเรียนที่ดี กลับไร้ค่า