สันพร้าหอม สมุนไพรสรรพคุณครอบจักรวาล แก้ไข้พิษ แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ บรรเทาหัด อีสุกอีใส

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

สันพร้าหอม

สมุนไพรน่าเรียนรู้

 

ในยุคโควิด-19 ทำให้มีข้อมูลรายงานออกมาพอสมควร

สันพร้าหอม คือสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีรายงานว่าในสันพร้าหอมมีสารที่เรียกว่า quercetin, quercitrin และ psoralen ซึ่งพบว่าสารสกัดเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการเป็นสารต้านไวรัส โดยสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสใน macrophage ของหนูที่ผ่านทางการเหนี่ยวนำของ pro-inflammatory cytokines และ Type I IFN จึงมีฤทธิ์เป็น immunomodulator ของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดในหนูทดลอง

และจากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่าสารสำคัญ quercetin ที่พบสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง main protease ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของข่าวต่างๆ ว่า สันพร้าหอมน่าจะนำมาช่วยป้องกันโควิด-19 ได้

ดังนั้น วันนี้จึงขอนำเสนอข้อมูล เพื่อให้ทุกท่านได้เรียนรู้และเข้าใจสมุนไพรชนิดนี้ กระจ่างชัดขึ้น

 

เริ่มจากในเอกสารวิชาการในรายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ พบว่าสันพร้าหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorium chinense L. มีการกระจายพันธุ์ทางเอเชียตะวันออก ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เจริญได้ทั้งเขตอบอุ่นและเขตร้อน ในประเทศญี่ปุ่นพบอยู่บนภูเขาทั่วไปทั้งประเทศ

ในเนปาลพบบนพื้นที่เปิดและบริเวณป่าที่ถูกทำลาย ที่สูง 2,000-2,600 เมตรจากน้ำทะเล ในประเทศจีนพบตามแนวชายป่าที่มีความลาดชันหรือทุ่งหญ้าที่ระดับ 200-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

สำหรับรายงานของหอพรรณไม้ประเทศจีน (Flora of China) พบว่าสมุนไพรชนิดนี้จัดเป็นพืชพิษชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของใบ แต่มีการใช้เป็นยารักษาฝีฝักบัว (carbuncles) หิด (scabies) งูพิษขบ กัด และใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวด

ใบอ่อนนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร แต่ต้องระวังความเป็นพิษ

ในเนปาลมีองค์ความรู้ที่นำเอาทั้งต้นนำมาบดเป็นผงเพื่อใช้ผสมทำขนมเค้กที่หมักกับเหล้า (marcha)

ในการสำรวจภาคสนามของเครือข่ายนักวิชาการที่ร่วมทำงานกับมูลนิธิสุขภาพไทย พบว่าในภาคเหนือและภาคอีสานจะมีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับสันพร้าหอม ซึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

แต่สมุนไพรชนิดนี้ยังไม่มีรายงานในรายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์

แต่ในขณะนี้ที่สำนักหอพรรณไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ ได้รายงานว่า สันพร้าหอมอีกชนิดนั้นเป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorium fortunei Turcz. ในภาษาอีสานเรียกสมุนไพรนี้ว่า “คำพอง”

และเมื่อลองสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบว่ามีการเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่าสันพร้าหอมเช่นกัน

 

สันพร้าหอมชนิด Eupatorium fortunei Turcz. เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง ที่มีอายุได้หลายปี พบขึ้นบริเวณตามหุบเขาหรือลำธาร แต่พบได้ยากมากในธรรมชาติ ส่วนใหญ่นำมาปลูกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในประเทศไทยพบปลูกมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน

ดอกของต้นคำพอง เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกลาเวนเดอร์ ดอกมีตั้งแต่สีขาวไปจนถึงสีม่วงอมแดง

ในประเทศจีนมีการนำเอาพืชชนิดนี้มาสกัดน้ำมันผลิตเป็นหัวน้ำหอม

คำพองมีการใช้เป็นยาสมุนไพรมากทั้งในประเทศจีนและญี่ปุ่น

ในตำรายาจีนใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร ลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหรืออยู่ในที่มีอากาศร้อนชื้นมากเกินไป ในปัจจุบันใช้รักษาอาการหวัดลงกระเพาะและกระเพาะอักเสบเฉียบพลัน โดยนำไปเข้าตำรับกับมิ้นต์เกาหลี (Agastache rugosa)

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน นิยมนำมากินเป็นผักสดแกล้มกับลาบได้อร่อยดี (คนกรุงเทพฯ อาจไม่เคยลิ้มรส) ในส่วนของใบจะอุดมไปด้วยวิตามินซี และหมอพื้นบ้านยังมีการใช้คำพองหรือสันพร้าหอมชนิดนี้ใช้เป็นยาปรับธาตุ ช่วยระบายและแก้อาการท้องร่วงในเวลาเดียวกัน วิธีกินจะกินแบบอาหารสุขภาพ คือส่วนใหญ่จะนิยมนำมากินกับน้ำพริก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของคำพอง คือเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 70-120 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ๆ ไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบหรือจักเป็นฟันเลื่อย ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น คล้ายซี่ร่ม ในช่อหนึ่งๆ จะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก

ดอกมีขนาดเล็ก

 

ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า คำพองหรือสันพร้าหอมชนิด Eupatorium fortunei Turcz. มีกล่าวไว้ในตำรายาไทยระบุว่า

ใบมีรสสุขุม แก้ไข้พิษ แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ ผสมในยาแสงหมึก บรรเทาหัด อีสุกอีใส ผสมในยาเขียว และเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ ใบสดขยี้ คั้นน้ำ หรือต้มน้ำชุบผ้าก๊อซปิดสมานแผล ทำให้เลือดหยุด

และในบัญชียาจากสมุนไพร (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร) ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ใน “ตำรับยาเขียวหอม” จะมีตัวยาที่ใช้ใบคำพองหรือสันพร้าหอมร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ระบุสรรพคุณว่า บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)

ส่วนการใช้เป็นยาของหมอพื้นบ้าน ใช้แก้ไข้ แก้หวัด บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด แก้มะเฮ็งคุดหรืออาการไมเกรน และในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคอีสาน มีการใช้คำพองทั้งต้นเป็นเครื่องหอม

ซึ่งตรงกับการใช้ประโยชน์ในประเทศจีน คือใช้ต้นคำพองเป็นเครื่องบำรุงผิว ซึ่งมีความน่าสนใจมาก

แต่ที่ขอเน้นว่า คำพองหรือสันพร้าหอมชนิดนี้ไม่มีพิษเหมือนกับสันพร้าหอมชนิด Eupatorium chinense L. จึงแสดงให้เห็นว่าสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ถึงจะเรียกชื่อซ้ำกันแต่เป็นคนละชนิดกัน และมีสารสำคัญในพืชคนละอย่างจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน

จากการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการพบว่างานวิจัยเชิงลึกที่แสดงให้เห็นว่า ต้นคำพองคือพืชสมุนไพรที่มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 มากกว่าต้นสันพร้าหอม ชนิด Eupatorium chinense L. ซึ่งเป็นพืชพิษ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

และสันพร้าหอมที่เกี่ยวกับโควิด-19 ยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยอีกมาก ยังนำมาใช้รักษาโรคโรควิด-19 ไม่ได้ในขณะนี้

วันนี้ชวนให้เรียนรู้สันพร้าหอมทั้ง 2 ชนิด และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป