หวานอม ขมกลืน ขื่นกิน / บทความพิเศษ ไชยันต์ รัชชกูล

บทความพิเศษ

ไชยันต์ รัชชกูล

 

หวานอม ขมกลืน ขื่นกิน

 

Human beings suffer,

They torture one another,

They get hurt and get hard.

No poem or play or song

Can fully right a wrong

Inflicted and endured.

Seamus Heany

ชีวิตแสนยากเข็ญ

ต่างทำร้ายกัน

เมื่อรวดร้าวจึงกร้าวกร้าน

ไร้บทนิพนธ์แม้เพลงใดๆ

จะเยียวยาได้

ต้องเจ็บต้องจำทน

ชีมัส เฮนี

อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม

จากแดนมะกะโรนี? (1)

The Story Of A New Name Book Cover

ผู้เขียนวิจารณ์ (หรือ ‘ผู้เขียน’ เฉยๆ จากนี้ไป) นั่งซึม เดินซึม อยู่นานนับชั่วโมง จากการอ่านนิยาย เพื่อนคนเก่ง (My Brilliant Friend) และเรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่ (The Story of a New Name) ผู้ประพันธ์ด้วยนามปากกา เอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) มีมนต์สะกดให้เราเข้าไปนั่งในหัวใจของตัวละครราวกับเราเป็นเขาเป็นเธอในเรื่อง ซ้ำยังคุ้นเคยกับที่อยู่อาศัย ราวกับได้ไปอยู่ละแวกนั้นมาเองเป็นแรมปี

นิยายทั้ง 2 เรื่อง แท้แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ผู้เขียนหวั่นไหวกับการมองโลก มองมนุษย์ ชวนให้หวนย้อนคิดถึงความเข้าใจต่อข้อคิดที่ยึดถือว่าเป็นสรณะในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการตัดสินทั้งมิตรและปัจจามิตร ความรู้สึกที่สลับไปมากับความสงสัยนานาที่เกิดขึ้นเหล่านี้นั้นก่อเป็นคำถามว่า ความคิดความรู้สึกของเรามาจากมาตรการที่สมควรแล้วหรือ? ข้อสรุปของเราต่อใครๆ รวมทั้งต่อตัวเราเองนั้นมาจากความจริงและความเข้าใจที่เพียงพอแล้วหรือ?

นิยายเรื่องนี้ซึ่งกล่าวให้ครบก็ต้องถือเป็นชุดนิยาย เนื่องจากมีอีก 2 เล่ม คือ Those Who Leave and Those Who Stay และ The Story of a Lost Child รวมเป็น 4 เล่ม

ถึงแม้ว่า แต่ละเล่มจะมีชื่อเฉพาะ กระนั้นก็ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน และเรียงตามลำดับอย่างต่อเนื่องจากเล่มแรก (เพื่อนคนเก่ง) เป็นช่วงวัยเด็กและกำลังเข้าสู่วัยรุ่น (Adolescence) จบลงที่งานแต่งงาน เล่มสอง (เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่) เป็นช่วงหนุ่ม-สาว (Youth) ที่เรื่องราวตามมาจากการแต่งงาน

ส่วนเล่มสาม เป็นช่วงวัยกลางคน (Middle Time) ก็ต่อจากที่เพื่อนรักทั้งสองเดินกันคนละเส้นทางชีวิต ซึ่งเป็นตอนจบของเล่มสอง

ส่วนเล่มสี่นั้น เป็นช่วงวัยผู้ใหญ่เต็มที่และวัยชรา (Maturity and Old Age) ก็กลับไปเชื่อมกับเล่มแรกที่เปิดเรื่องด้วยการหายสาบสูญไปของตัวละครเอก การแบ่งซอยเป็น 4 เล่มอาจด้วยเหตุผลทางการตลาด เนื่องด้วยว่า ถ้ารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกันจะหนากว่า War and Peace

เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง จึงขอเรียกนิยายชุดนี้ว่า เพื่อนคนเก่ง และกำกับด้วยเลขเรียงตามลำดับเล่ม

ความทุกข์ระทมของชีวิต

You’re on Earth. There’s no cure for that.

Samuel Beckett

พอเราอยู่บนโลกนี้ มันก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว

แซมมวล เบ็กเคตต์

ความเป็นไปของเรื่องนั้นชวนให้ถอนหายใจลึกๆ เป็นช่วงๆ บางตอนเข้าข่ายถึงขั้นเครียด

แต่ทำไมเราถึงอ่านอย่างวางไม่ลง?

อันเป็นคำถามที่นักจิตวิทยาถามว่า ทำไมคนถึงนิยมอ่านข่าวเรื่องร้ายแรงตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดูข่าวเรื่องสงคราม เรื่องอาชญากรรมตามจอโทรทัศน์ แม้กระทั่งช่วงเวลากินข้าว?

หรือถ้าจะให้เข้ากรณีที่เคยได้พยายามตอบกันมาช้านานแล้ว คือ ทำไมละครโศกนาฏกรรมจึงเป็นเรื่องที่นิยมกันมานานแสนนาน

ถึงกระนั้น ก็มีความรู้สึกอยากจะวางลงชั่วคราว หรือบางอารมณ์ก็ถึงกับเลิกอ่าน ไม่ใช่เพราะเรื่องไม่สนุกเร้าใจ

แต่เพราะร้าวใจ

ร้าวใจที่มนุษย์ต้องติดบ่วงความทุกข์ และไม่สามารถจัดการกับความแร้นแค้นกับความเจ็บปวดอันฝังลึก

เรื่องเพื่อนคนเก่ง เริ่มที่ชีวิตวัยเด็ก ตัวละครหลักๆ เริ่มเข้าโรงเรียนประถม แล้วจบลงที่งานแต่งงานของลิลา เมื่ออายุ 16 ฉากหลังของชีวิตที่เชื่อมโยงกันอย่างยุ่งเหยิงและวุ่นวายคือ ย่านยากจนชานเมืองเนเปิลส์

คำว่า “ยากจน” มิใช่เป็นคำคุณศัพท์ที่ให้ความรู้สึกว่า แม้จะกัดก้อนเกลือกินก็กลมเกลียวกัน แบบ “วัฒนธรรมชุมชน” หรือเป็นเพียงฉากบอกถึงสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม เศรษฐกิจ

แต่มันเป็นภูมิหลังแกนกลางของเรื่องที่บ่งถึงทั้งสภาพที่อยู่อาศัยและสภาพชีวิต

ห้องแฟลตที่อยู่ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ความทรุดโทรมของตัวตึกอัปลักษณ์กับความลำเค็ญของชีวิตสะท้อนภาพซึ่งกันและกัน (เล่ม 1 น.458) ถนน ทางระบายน้ำไม่มีการบำรุงรักษามานานแล้ว บริเวณที่ว่างซึ่งเบี่ยงออกจากถนนไปนิดเดียวก็เป็นที่ทิ้งขยะ มีปฏิกูลมูตรคูถ หนูวิ่งกันขวักไขว่ ฯลฯ

ส่วนชีวิตก็อยู่กันอย่างปากกัดตีนถีบ กระเสือกกระสนดิ้นรนกันไป เหมือนปลาหมอแถกเหงือกในโคลนตม

จนน่าจะใช้คำคุณศัพท์ร่วมกันระหว่างสถานที่อยู่กับชีวิตที่อาศัยอยู่นั้นได้ ว่า ‘โทรมเศร้า’

เมื่อดูสภาพที่อยู่อาศัย ก็สามารถบอกได้ว่า ผู้คนที่อยู่ในสภาพเช่นนั้นมีสภาพชีวิตอย่างไร และในทางกลับกัน เมื่อมองชีวิตของผู้คน ก็สามารถบอกได้ว่า เขาอยู่ในสภาพที่อยู่อาศัยแบบไหน (เล่ม 1 น.76)

หรือจะกล่าวก็ได้ว่า เสื้อผ้าหน้าตาของผู้คนกับสภาพแวดล้อมเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน

ที่ยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือ สถานภาพทางสังคมและสภาพที่อยู่อาศัยทางกายภาพยังเป็นแม่พิมพ์หล่อหลอมรูปพรรณสัณฐานของร่างกายไปพร้อมกันด้วย ยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งโทรมเศร้าคู่กันไป

บรรดาแม่ๆ “…รูปร่างผอมแห้ง ตาลึก แก้มตอบ สะโพกผาย ข้อเท้าบวม หน้าอกใหญ่… พวกเธอถูกกัดกร่อนโดยร่างกายของสามี พ่อ พี่ชาย น้องชาย… หรือไม่ก็เพราะงานหนัก ความชรา และโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อไรหรือที่รูปร่างเริ่มเปลี่ยนไปแบบนั้น เมื่อทำงานบ้าน? เมื่อตั้งท้อง เมื่อถูกตบตี…” (เล่ม 2 น.105)

บรรดาตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นสามัญชนคนธรรมดาๆ หรือนักเรียนสังคมวิทยาชอบเรียกว่า เป็นคนที่อยู่ฐานล่างของพีระมิด

เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันกับลิลาและเลนูที่ไปโรงเรียนเดียวกันในย่านนั้น พอออกจากโรงเรียนถึงวัยทำงานก็มาเป็นช่างซ่อมรถ คนงานก่อสร้าง คนเข็นรถขายผลไม้

แต่ละคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ก็พบเจอความบาดเจ็บกันถ้วนหน้า มีแผลหรืออย่างน้อยก็รอยฟกช้ำ

เด็กๆ เมื่อทะเลาะเบาะแว้ง ก็ตบตีกัน วัยรุ่นก็ปะทะห้ำหั่นกัน เมื่อไม่มีใครยอมใคร หรือในนามของการรักษาศักดิ์ศรีผู้หญิง

ส่วนผู้ใหญ่ก็ชกต่อยทำร้ายกันเรื่องหนี้สิน หรือเมื่อเมาเหล้า แม่ผัว น้องสะใภ้ให้ร้าย ระแวง เข้าไปก้าวก่ายเรื่องเงินทองกับครอบครัวใหม่ของลูกชาย มีกรณีหนึ่งถึงกับโดนลอบฆ่าโดยไม่มีใครรู้สาเหตุ ได้แต่คาดเดากันไป ซึ่งจะ “เฉลย” ในเล่มต่อมา ผู้ต้องสงสัยถูกจับและตายในคุก ต่อมาตัวภรรยาก็ฆ่าตัวตาย มีอีกกรณีหนึ่งถูกซ้อมจนตาย เพราะไม่ชำระหนี้

ดูเหมือนว่า แต่ละบ้านมีปัญหาถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนบ้านที่ดูจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง หรือถึงขนาดไม่ขัดสนนั้นเป็นกรณียกเว้น

วันที่ลิลาเป็นเจ้าสาวก็ทะเลาะกับเจ้าบ่าว และถูก “ว่าที่สามี” ตบหน้าภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังงานเลี้ยง คืนแรกของวันวิวาห์ก็ถูกตบด้วยทั้งหน้ามือและหลังมือบนเตียงนอน ทั้งๆ ที่ เจ้าบ่าวก็เป็นคนสุภาพอ่อนโยน (“the gentle Stefano Carracci”) และยังไม่พ้นจากหลุมรัก

หลังจากช่วง “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” สี่วัน หน้าตาของลิลาก็เข้าสภาพ “ดวงตาข้างขวาบวมเขียว ริมฝีปากล่างแตก แขนมีรอยฟกช้ำ” (เล่ม 2 น.45) สภาวะความเป็นคู่ครองจากการแต่งงานอวสานลงตั้งแต่วันวิวาห์

พ่อและพี่ชายของลิลา เป็นช่างซ่อมรองเท้า

ส่วนพ่อของเลนู เป็น ‘Porter’ ซึ่งกรณีนี้คือ พนักงานคอยอำนวยความสะดวกอยู่ที่ประตูทางเข้าออกที่ทำการเทศบาลเมืองเนเปิลส์

ส่วนแม่ของทั้งลิลาและเลนู รวมถึงแม่ของครอบครัวอื่นๆ ก็สามารถเดาได้ไม่ยากว่า ไม่มีอาชีพอะไรที่มีผลตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งก็คือเลี้ยงลูก ทำอาหาร ปัดกวาด เช็ดถูบ้าน ไปวันๆ

อีกทั้งร่างกายก็ช้ำดำเขียวเป็นครั้งคราว จากความโกรธของสามีที่ลงมือลงไม้เอา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยในหลายๆ ครอบครัว

อาจมีความเข้าใจ (ผิด) กันไปว่า การทุบตีภรรยามาจากสาเหตุความคับแค้นทางเศรษฐกิจ แต่แท้แล้ว เกิดขึ้นในต่างๆ ระดับชั้น ไม่ว่าจะในกลุ่ม ‘โลโซ’ หรือ ‘ไฮโซ’

ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้คนสนใจงานศิลปะรับรู้กันอยู่ คือ ปิคาสโซ (Picasso) นั้นทำร้ายภรรยาทั้งทางกายและใจ จนกระทั่งเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตายถึง 2 คน จากบรรดาภรรยาและคู่รักหลายคน แม้ว่าช่วงชีวิตที่เกิดเหตุก็ใช่ว่าเป็นช่วงที่ปิคาสโซยากจน แต่เมื่อเขามีเงินทองล้นกำปั่น อีกทั้งชื่อเสียงก็ขจรขจายแล้ว

ตัวละครเป็นเลือดเป็นเนื้อของแต่ละคนเอง ไม่ใช่เป็น ‘โฆษก’ ของอุดมการณ์ชนชั้น

ถึงปัสกวาเล อาจารย์กาเลียนีจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ปัสกวาเลก็ไม่ใช่ฮีโร่ของชนชั้นกรรมาชีพ ตามรอย “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” อาจารย์ก็ไม่ใช่เป็นภาพตัวแทนของปัญญาชนที่ชอบประกาศฝันของสังคมไร้ชนชั้น

ทั้งสองเป็นสามัญมนุษย์ก่อนอื่นใด อาจารย์กาเลียนีมีครอบครัวที่ลูกก็ทั้งเชยๆ และไร้เดียงสา เธอมีอคติความลำเอียงเฉกเช่นอาจารย์ทั่วไปที่สนใจนักเรียนเรียนเก่ง มากกว่าจะดูแลเอาใจใส่ “เด็กหลังห้อง”

ปาสกวาเลก็เช่นกัน เขามีภาพลักษณ์เป็นเด็กหนุ่มเพื่อนร่วมโรงเรียนและเคยหลงรักลิลา มากกว่าจะมีบทบาทในฐานะอยู่ฝ่ายจัดตั้งของพรรคในหมู่ผู้ใช้แรงงาน

สำหรับคนนอกที่อาจเข้าใจไปว่า อิตาลีเป็นสังคมโรมันคาทอลิกที่เคร่งครัด แต่กลับเป็นว่าไม่มีใครเลยที่เป็นปากเป็นเสียงให้อัครสาวกของพระคริสต์ ความศรัทธาและประเพณีแบบคาทอลิกไม่สู้มีความหมายสำหรับผู้คนในย่านนี้ แม้ว่าพวกโปรเตสแตนต์จะไม่เคยย่ำกรายมาในคาบสมุทรอิตาลีตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

กระนั้นก็คงไม่ใช่เหตุผลหลักที่สำนักวาติกันซึ่งกล่าวกันว่ามีอิทธิพลไปทั่วโลกนั้นจะแผ่ไปไม่ถึงย่านนี้ของเนเปิลส์ซึ่งไกลออกไปเพียงประมาณจากกรุงเทพฯ ถึงหัวหิน